วันพฤหัสบดีที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

แนวคิดในการเลือกบริษัทขายตรง

ในปัจจุบันบริษัทขายตรงเปิดตัวกันมากขึ้นจนนับไม่ถ้วน ทั้งที่เปิดตัวแล้ว ไม่เปิดตัว จดทะเบียนแล้ว ไม่จดทะเบียน ขายตรงต่างชาติ ฯลฯ แล้วเราจะรู้เหรอว่าควรเลือกบริษัทไหนดี บริษัทไหนมั่นคง จึงได้เขียนแนวคิดบางอย่างให้ทุกท่านได้พิจารณา ท่านจะเชื่อหรือไม่ก็อยู่ในดุลยพินิจของท่าน ซึ่งมันค่อนข้างจะแตกต่างกันในแต่ละท่าน เลยเขียนโดยรวมมาให้เป็นแนวคิดเท่านั้น (เพียงบางส่วน)

1. ให้พิจารณาสินค้าเป็นอันดับแรก
ทำไมผมจึงยกให้เป็นอันดับแรก เพราะคนเราต้องใช้อยู่ในชีวิตประจำวัน ส่วนมากแล้วจะเป็นผู้บริโภคเสียมากกว่าที่จะเป็นนักธุรกิจเครือข่าย (ขายตรง) ฉะนั้นบริษัทขายตรงจะอยู่ได้นานแค่ไหนขึ้นอยู่กับคุณภาพสินค้าเป็นหลัก คุณภาพสินค้าต้องดีได้มาตรฐาน และสม่ำเสมอ รวมไปถึงรสชาติ วิธีการรับประทาน (กรณีเป็นอาหาร หรือยา) ฉลากผลิตภัณฑ์ครบถ้วน ชัดเจน ถูกต้องหรือไม่ ราคาสินค้าที่ไม่แพงจนเกินความเป็นจริง ฯลฯ นอกจากนี้ต้องติดตามสินค้าด้วยว่ายังคงคุณภาพสินค้าหรือไม่ อย่างเกิดกรณีขายดีแล้วเร่งผลิต ลดคุณภาพ ฯลฯ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากเพราะผู้บริโภคเป็นคนตัดสินใจในการใช้สินค้า นอกจากจะคุณภาพดีแล้วบริษัทขายตรงนั้นต้องเพิ่มกลุ่มสินค้าให้มากขึ้นเรื่อยๆ โดยคงคุณภาพเป็นหลัก ช่วงแรกอาจจะมีน้อย แต่ถ้าผ่านไปสัก 2-3 ปี ยังเท่าเดิม ก็น่าคิดอยู่ เพราะผู้บริโภคใช่ว่าจะใช้ของเดิมอยู่ทุกเดือน แต่ต้องมีเพียงพอที่จะจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวันได้ให้หมุนเวียนใช้กันไปถึงจะไม่ครบทุกอย่างก็ตาม และที่สำคัญอีกอย่างคือศูนย์จำหน่ายสินค้าของบริษัทขายตรงนั้นๆ จะเปิดด้วยบริษัทเอง หรือนักธุรกิจก็ตามแต่ ควรจะมีให้ครอบคลุมเพื่อความสะดวกในการซื้อ หรือมีวิธีการที่ง่ายสำหรับการสั่งซื้อไม่ว่าจะเป็นทางอินเตอร์เน็ต โทรศัพท์ เป็นต้น ข้อนี้ก็เป็นเครื่องการันตีได้ว่าบริษัทนั้นจะอยู่ไปได้ถึงชั่วลูกชั่วหลานของเราหรือไม่ สำหรับนักธุรกิจที่ทำเป็นอาชีพหลักและมอบมรดกให้ลูกหลานทำต่อไป (เพราะผู้บริโภคคือ อย. ตัวจริง)

2. แผนการตลาด เป็นสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่ง เพราะธุรกิจอยู่ได้ และขยายตัวออกไปสู่ผู้บริโภคขึ้นอยู่กับนักธุรกิจเครือข่าย (ขายตรง) เป็นหลัก ซึ่งเป็นผู้ทำการตลาดให้กับบริษัทขายตรงนั้น กำลังใจสำคัญคือรายได้ที่มาจากการขยายธุรกิจออกไปของนักธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นแผนการตลาดแบบไหนก็ตาม ให้พิจารณาจากความโปร่งใสของบริษัทในการแจ้งและจ่ายรายได้แก่นักธุรกิจ มีหลักฐานที่แน่นอน และตรวจสอบได้ ไม่ว่าจะเป็นทางอินเตอร์เน็ต และทางเอกสารซึ่งควรจะมีให้นักธุรกิจด้วย เพราะนักธุรกิจใช่ว่าจะใช้อินเตอร์เน็ตเป็นกันทุกคน และแผนการตลาดไม่ปรับเปลี่ยนบ่อย จนทำให้นักธุรกิจขาดความเชื่อถือ หมดศรัทธาต่อบริษัท และไม่เอาเปรียบนักธุรกิจเกินไป อย่างเช่น บังคับรักษายอดมากเกินกำลังของนักธุรกิจในตำแหน่งนั้นๆ ซึ่งจะขายหรือจะซื้อใช้เองก็มากเกินไปจนทำให้นักธุรกิจทำการตลาดลำบาก ถ้าเป็นแผนการตลาดที่บังคับรักษายอด ซึ่งเป็นที่มาของนักธุรกิจขายตัดราคากันเพื่อระบายสินค้าออกไป ทำให้มีผลเสียกับบริษัทด้วย (สำหรับนักธุรกิจที่ไม่รักษากฎจรรยาบรรณ/กฎระเบียบของบริษัท) หรืออีกกรณีในเชิงบังคับรายได้จากตำแหน่ง (สำหรับแผนการตลาดที่ไม่ต้องรักษายอด) ถ้าตำแหน่งตกลงไป รายได้จะตกด้วย เงินปันผลต่างๆ ก็จะตกไปด้วย ซึ่งนักธุรกิจต้องทำยอดให้ได้ตามแผนการตลาดนั้น ในตำแหน่งที่เป็นอยู่ ทำให้นักธุรกิจต้องทำงานหนักขึ้น ซึ่งขึ้นอยู่กับองค์กรที่เราสร้างไว้ว่าจะมากน้อยแค่ไหน จะอยู่หรือจะทำกับเราจริงขนาดไหน (ขึ้นอยู่กับเราเป็นหลักในการใส่ใจสายงานในองค์กรของเรา) ถ้าแบบขาดๆ หายๆ ก็เป็นภาระของเราเอง ในการจะทำยอดให้ได้ตามตำแหน่งนั้นๆ ซึ่งก็เป็นที่มาของการกักตุนสินค้า หรือการกระจายสินค้าในรูปแบบต่างๆ ซึ่งบริษัทยากที่จะตรวจสอบหรือไม่ได้สนใจถึงวิธีการเหล่านั้น ก็ให้คิดจุดนี้ด้วย ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับกฎจรรยาบรรณของนักธุรกิจ และกฎระเบียบของบริษัทด้วยเช่นกัน

3. วิสัยทัศน์ และองค์กร ซึ่งต้องเปิดเผยให้นักธุรกิจรับทราบอย่างชัดเจน โปร่งใส เพื่อให้นักธุรกิจมั่นใจในการทำการตลาดให้บริษัทนั้นๆ สิ่งที่ต้องเปิดเผยให้นักธุรกิจทราบ เช่น ผู้บริหาร ผู้ก่อตั้ง นโยบายของบริษัท สำนักงาน แหล่งผลิตสินค้า ประวัติความเป็นมา ฯลฯ ซึ่งนักธุรกิจควรจะศึกษาก่อนตัดสินใจทำเป็นธุรกิจจริง วิธีการที่ง่ายที่สุด ก็คือ เบอร์โทรศัพท์ติดต่อสำนักงาน หรือสำนักงานสาขา ซึ่งนักธุรกิจบางท่านก็ไม่ได้ใส่ใจ ควรจะโทรตรวจสอบให้แน่นอนก่อน แต่ก็ยังไม่เพียงพอสำหรับนักธุรกิจที่จะทำเป็นอาชีพหลัก ถ้าให้ชัดเจนไปเลย ก็ตามสื่อต่างๆ ที่บริษัทกระจายออกไป เช่น คู่มือต่างๆ สำหรับนักธุรกิจ ซีดี ดีวีดี อินเตอร์เน็ต หนังสือพิมพ์ ทีวี เป็นต้น ว่ามีหรือไม่ สม่ำเสมอไหม (เปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ แล้วไม่ประชาสัมพันธ์ต่อ ไม่ต่อเนื่องกัน ในกรณีที่เป็นบริษัทใหม่ ก็ให้ติดตามด้วย) ป้องกันกรณีที่บริษัทเปิดตัวแล้วปิดตัว ย้ายสำนักงาน เปลี่ยนชื่อบริษัท หรือหายไปเลย ก็ให้คิดตรงนี้ไว้ด้วยว่าจะทำอย่างไร ทั้งนี้ก็เพื่อความสะดวกในการทำการตลาดของเราให้ง่ายขึ้น ถ้าไม่มีเลย ก็ให้คิดเลยว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร จะอยู่ถึงลูกถึงหลานไหม สำหรับท่านที่จะยกมรดกให้ลูกหลานทำต่อไป

ทั้ง 3 ข้อที่กล่าวมา ก็จะเป็นหลักในการสร้างแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์สินค้า หรือแบรนด์บริษัท ให้คนรู้จักกันทั่วไป ไม่ว่าจะสร้างแบรนด์โดยนักธุรกิจ โฆษณาต่างๆ เป็นต้น ก็แล้วแต่นโยบายของบริษัทขายตรงนั้นๆ ซึ่งสำคัญมาก และต้องทำต่อเนื่องด้วย

4. การต่ออายุสมาชิก หรือการต่ออายุนักธุรกิจ บางท่านอาจคิดว่าไม่จำเป็น แต่ให้คิดว่าในอนาคตอีก 20 ปี หรือ 30 ปี ข้างหน้าจะเป็นอย่างไรถ้าไม่มีการต่ออายุ การต่ออายุเพื่อให้นักธุรกิจได้ตัดสินใจว่าจะทำต่อหรือไม่ หรืออาจจะสมัครใหม่ก็ได้ในกรณีที่ลืมต่ออายุและ/หรือไม่ได้ทำจริงจัง ก็สามารถมาเริ่มต้นใหม่ได้ เหตุผลที่ต้องให้มีการต่ออายุเพื่อให้บริษัทได้ตัดคนที่ไม่ทำหรือไม่ได้ใช้สินค้าออก และเพื่อความแน่ใจว่าเขายังทำกับบริษัทอยู่ นอกจากการต่ออายุแล้ว บริษัทขายตรงนั้นควรจะมีบัตรสมาชิก/นักธุรกิจให้ด้วย เพื่อใช้ในการทำตลาด ให้คนที่เราจะไปสปอนเซอร์ได้เห็นและเชื่อว่าเราทำอยู่จริง และการต่ออายุที่สำคัญอีกอย่างคือ บริษัทได้นำเงินไปทำวารสาร เอกสารต่างๆ แจ้งความเคลื่อนไหวให้นักธุรกิจทราบ หรือใช้ในการซื้อสินค้า ทั้งนี้บริษัทควรจะมีการแจ้งให้นักธุรกิจทราบว่าจะหมดอายุแล้ว ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งที่บริษัทสะดวก เช่น ทางอินเตอร์เน็ต ใบแจ้งรายได้ในเดือนนั้นๆ เป็นต้น และควรจะยืดเวลาในการต่ออายุไปสักระยะอาจจะสัก 3 เดือน แล้วแต่ความเหมาะสม

5. การอบรมให้ความรู้แก่นักธุรกิจ เป็นสิ่งจำเป็นมากอย่างหนึ่ง เพราะบริษัทขายตรงไม่ได้โฆษณาสินค้า และสรรพคุณต่างๆ รวมทั้งแผนการตลาดให้ทุกคนทราบ เพราะเป็นการทำตลาดโดยนักธุรกิจ ฉะนั้นบริษัทขายตรงควรมีหลักสูตรในการฝึกอบรมนักธุรกิจพอเหมาะแก่จำนวนนักธุรกิจที่มีอยู่ทั่วประเทศ

6. รางวัลสำหรับนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ เป็นรางวัลที่ให้กำลังใจแก่นักธุรกิจในการทำการตลาดต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว โบนัสประจำตำแหน่ง ประกาศเกียรติคุณ เป็นต้น ซึ่งนักธุรกิจจะได้นำความสำเร็จของตนไปถ่ายทอด บอกกล่าว ให้ผู้อื่นรับทราบ และได้ปฏิบัติตาม หรือใช้ในการสปอนเซอร์ผู้อื่นๆ ถึงความสำเร็จที่ตนได้รับ

7. ระเบียบ กฎข้อบังคับของบริษัท กฎจรรยาบรรณของนักธุรกิจที่บริษัทกำหนด สิ่งนี้เราได้นำพิจารณาว่าเหมาะสมกับตัวเราหรือไม่ เช่น เราใช้อินเตอร์เน็ตเป็นประจำ แต่กฎข้อบังคับห้ามทำการตลาดทางอินเตอร์เน็ต เป็นต้น ข้อนี้เราต้องพิจารณาด้วย

ฯลฯ

นี่เป็นความคิดเห็นแค่บางส่วน รายละเอียดอาจจะน้อยไปหรือมากไปในการเลือกบริษัทขายตรง แล้วแต่ละบุคคลที่จะนำไปคิดพิจารณาเอง (เลือกเอาเงินหรือความมั่นคง ?) แต่จะหาบริษัทที่สมบูรณ์แบบทุกอย่างคงจะยากตามที่เราปรารถนา

แนวคิดอื่นๆ ซึ่งอาจจะเป็นข้อดี แต่ให้ลองคิดดูดีๆ

1. ลงทุนครั้งเดียวจบ ไม่ต้องลงทุนเพิ่มอีก ซึ่งนักธุรกิจส่วนใหญ่จะชอบ เพราะคิดว่าลงทุนครั้งเดียว แล้วไม่ต้องลงทุนอีก จริงๆ แล้วการทำการตลาดนั้น ส่วนมากแล้วจะต้องนำสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ไปเสนอแก่ผู้อื่นในเบื้องต้น เพื่อเป็นการตัดสินใจในการที่จะเลือกซื้อใช้ หรือสมัครเป็นสมาชิก/นักธุรกิจ แต่ถ้าไม่มีสินค้าไปนำเสนอก็ยากที่เขาจะเชื่อถือในตัวสินค้า ที่สำคัญเราเองนั้นได้ซื้อกิน ซื้อใช้เองหรือเปล่า สามารถที่จะบอกความรู้สึกให้เขาได้รู้ไหมว่าเป็นอย่างไร ซึ่งอย่างที่กล่าวมาผู้บริโภคมากกว่านักธุรกิจ ฉะนั้นคงเป็นสิ่งที่ยากสำหรับการทำการตลาดโดยไม่ได้ซื้อกินซื้อใช้เอง หรือนำสินค้า/ผลิตภัณฑ์ไปแนะนำ ความจริงแล้วการซื้อกินซื้อใช้ก็ไม่ถือว่าเป็นการลงทุนหรอก เพราะเป็นของที่เราต้องใช้ในชีวิตประจำวัน หรือกรณีเจ็บป่วย เป็นต้น

2. สายงานโตข้างเดียว หรือมีแผนการตลาดที่ไม่ต้องรักษายอดแล้วมีรายได้ ซึ่งนักธุรกิจส่วนใหญ่จะชอบ เพราะคิดว่าจะหวังเอาแต่ผลประโยชน์อย่างเดียวคือรายได้ที่เข้ามา ความเป็นจริงแล้วถ้าคิดอย่างนี้กันส่วนใหญ่ในสายงาน หวังให้คนอื่นทำ ก็ยากที่จะมีรายได้กลับมา ถ้าได้ก็ได้น้อย เพราะแผนการตลาดส่วนมากแล้วจะยุติธรรมใครทำใครได้ ถ้าคิดจะไปหวังกอบโกยอย่างเดียว คงเป็นไปไม่ได้หรอก ส่วนมากจะสมัครทิ้งไว้แล้วไม่ทำกัน ซึ่งในที่สุดก็จะไม่มีรายได้กลับมาเลย อาจจะได้ในช่วงต้นๆ เท่านั้นเอง หรืออาจไม่ได้เลย

3. ใช้ชื่อคนอื่นทำธุรกิจแทน อาจทำหลายบริษัท หรือทำในบริษัทเดียวกันเพื่อเพิ่มรหัสในการรับรายได้ ซึ่งในกรณีทำหลายบริษัทนั้นคงจะยากที่จะสำเร็จ หรือการเพิ่มรหัสในบริษัทเดียวกันซึ่งอาจจะมาเพิ่มในภายหลังเพื่อรับผลประโยชน์ ซึ่งข้อนี้ก็มีนักธุรกิจทำกันอยู่มากพอสมควร จงคิดไว้ว่าในอนาคตถ้าเขารู้ ซึ่งอาจจะเป็นคนที่รู้จัก หรือไม่รู้จักก็ตามแต่ เขาจะยอมหรือ ถ้าเกิดมีรายได้หลักแสนขึ้นมา ก็ลองคิดดูแล้วกัน ยกเว้นจะทำให้เลยโดยที่ให้รายได้เขาด้วย ซึ่งส่วนมากจะเป็นผู้มีพระคุณต่อผู้สมัครก็แล้วแต่นักธุรกิจผู้นั้นจะยินยอม

4. การทำธุรกิจโดยใช้อินเตอร์เน็ต หรือใช้สี่อโฆษณาเป็นหลัก สำหรับนักธุรกิจบางท่านจะชอบ เพราะคิดว่าได้ผล แต่ความเป็นจริงแล้วได้ผลน้อยมาก ถ้าจะใช้สื่อเหล่านี้ต้องกระจายสื่อให้มากที่สุด เช่น ทางอินเตอร์เน็ต ก็ต้องมีเว็บไซด์ของตนเอง และต้องลงทุนไปซื้อพื้นที่โฆษณาตามเว็บไซด์ต่างๆ ที่คนนิยมเข้ามาใช้บริการกัน เป็นต้น ก็ต้องลงทุนมากพอสมควรจึงจะได้ผล นอกจากจะใช้สื่อเหล่านี้แล้ว นักธุรกิจต้องมีความรู้ในเรื่องผลิตภัณฑ์/สินค้าและแผนการตลาดเป็นอย่างดี ในการอธิบายกับบุคคลอื่นๆ ที่ไม่รู้จักให้เชื่อถือในสินค้าและแผนการตลาด (ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับกฎระเบียบของบริษัทขายตรงนั้นด้วย) แต่โดยส่วนใหญ่แล้วจะโชว์รายได้เป็นหลักในการดึงผู้สนใจเข้าร่วมธุรกิจ

5. มีคนทำธุรกิจให้ เพียงแค่นำเงินมาลงทุนทำธุรกิจเท่านั้น นี่ก็เป็นสิ่งที่ดีสำหรับผู้ที่จะมาสมัครด้วยกับเรา แต่ลองคิดดูให้ดีว่า คนที่จะมาช่วยเราเป็นอะไรกับเรา และเขาจะช่วยเราตลอดไปเหรอ ส่วนมากแล้วนักธุรกิจจะใช้ในการหาผู้ร่วมธุรกิจแค่นั้นเอง (ซึ่งผิดกฎจรรยาบรรณ) อาจจะช่วยในช่วงแรกและอาจจะมีรายได้ในช่วงแรกเท่านั้น เพราะการทำธุรกิจนั้น ผู้ที่สปอนเซอร์เราไม่ใช่ว่าจะมีเราที่ต้องรับผิดชอบเพียงคนเดียว ยกเว้นเราจะทำธุรกิจด้วยก็จะเป็นสิ่งที่ดี เพราะธุรกิจเครือข่าย (ขายตรง) จะสำเร็จหรือไม่อยู่ที่ตัวเราเองเป็นหลัก

6. เลือกผู้นำที่มีบารมี หรือมีศักยภาพในการนำท่านไปสู่ความสำเร็จจำเป็นไหม นี่ก็เป็นสิ่งที่ดี เพราะจะได้ช่วยเราในการสร้างสายงาน แต่ในเรื่องรายได้นั้นมันขึ้นอยู่กับตัวเราเอง เพราะธุรกิจเครือข่าย (ขายตรง) จะสำเร็จหรือไม่อยู่ที่ตัวเราเป็นหลัก ผู้นำนั้นอาจจะช่วยในช่วงแรกเท่านั้น แต่ถ้าเราไม่ทำก็ไม่มีประโยชน์ที่เขาจะช่วยเราต่อไป เพราะแผนการตลาดส่วนใหญ่จะให้กับคนที่ทำเท่านั้น ถึงจะมีผู้นำที่ดี ถ้าเราไม่ทำก็ไม่มีประโยชน์ จริงๆ แล้วเราจะเริ่มทำกับใครก็ได้ที่อยู่ในบริษัทขายตรงนั้น ถ้าเราตั้งใจจริง ทำจริง เราก็สามารถสำเร็จได้ด้วยตัวเอง

ฯลฯ

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นแค่แนวคิดบางส่วนเท่านั้นเพื่อไว้พิจารณาในการเลือกบริษัทขายตรง หรือทำอาชีพเครือข่ายเป็นอาชีพหลัก ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของท่านที่จะนำไปคิดพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น