วันอังคารที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2553

แต่งห้องนอนตามหลักฮวงจุ้ย

คาเรนบอกว่าโดยเฉลี่ยแล้ว 1 ใน 3 ส่วนของชีวิตคนนั้นอยู่ในห้องนอน ดังนั้นเธอจึงเห็นว่าเป็นสิ่งที่คุ้มค่าถ้าคุณจะลงทุน (ทั้งแรงและเงิน) ไปกับการตกแต่งห้องนอน

ซึ่งเธอบอกว่าเป็นห้องที่มีผล กระทบกับคุณมากกว่าห้องอื่น ๆ ทั้งยังว่า ถ้าชีวิตรักของคุณน่าเบื่อ ไม่มีชีวิตชีวา และสุขภาพของคุณก็ต้องการการเยียวยา หรืออยากมองหาความเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ ในชีวิตละก็ ทิปง่าย ๆ ที่เธอจะบอกนี้สามารถช่วยคุณได้

- เปลี่ยนเฟอร์นิเจอร์ในห้องที่คุณสามารถเปลี่ยนได้ ไม่ว่าจะเป็นสีวอลเปเปอร์ ของตกแต่งกระจุกกระจิก จำไว้ว่าห้องนี้เป็นห้องเดียวที่รวมไว้ซึ่งอารมณ์ความรัก การพักผ่อน และการบำรุงรักษาตัวเอง พยายามเลือกสิ่งที่มีความสมดุลกันของส่วนประกอบทั้งรูปร่าง และสีสัน

- อย่าซื้อเครื่องปรับอากาศที่ไม่ดี ถ้าคุณไม่อยากมีทั้งความรัก และสุขภาพแย่ ๆ แบบเดิม

- ใช้เตียงไม้ถ้าคุณเลือกได้ เพราะเตียงนอนที่ทำจากโลหะนั้นเป็นสื่อนำไฟฟ้าซึ่งมีผลกับสุขภาพของคุณ และพยายามนำเครื่องไฟฟ้าทั้งหลายออกห่างจากเตียงของคุณด้วย

- เช็กสภาพแสงภายในห้อง ซึ่งไม่ควรจะแรงเกินไป (หยาง) หรือสลัวเกินไป (หยิน) และอย่าลืมเครื่องเสียงรบกวนด้วยค่ะ เพราะมันอาจทำให้คุณรู้สึกหงุดหงิดได้

- หลีกเลี่ยงการนำต้นไม้ใหญ่ไว้ในห้องนอน

- หลีกเลี่ยงกระจกบานใหญ่ จะทำให้คุณหลับไม่สบาย

- อย่านำโลหะต่าง ๆ ไว้ในห้อง ยกตัวอย่างเช่น มีด, ดาบ, กรรไกร, ปืน ฯลฯ

- ครีเอทหัวเตียงและผนังด้านหัวเตียงให้สวยงาม และถ้าเตียงของคุณตั้งตรงกับประตูทางเข้าห้องนอน แขวนคริสตัลไว้ระหว่างเตียงและพื้นที่ส่วนนั้น

นอกจากคุณจะได้ความรู้สึกใหม่ ๆ แล้ว ว่ากันว่าชีวิตและสุขภาพคุณจะดีขึ้นด้วยค่ะ ลองเอาไปทำกันดูนะค่ะ

ถวายสังฆทาน จริงๆแล้วมีหลักอย่างไร

คำถาม:อยากเรียนถามพระเดชพระคุณหลวงพ่อว่า การถวายสังฆทาน จริงๆแล้วมีหลักอย่างไรครับ และการถวายกับพระภิกษุรูปเดียว ถือเป็นสังฆทานหรือไม่ครับ และการถวายสังฆทาน กับถวายแบบเจาะจง แบบไหนได้บุญมากกว่ากันครับ

ตอบ:เจริญพร การทำบุญที่เรียกว่า สังฆทาน ถ้าว่าไปแล้ว...เอาง่ายๆภาษาชาวบ้าน นี่ก็ทำความเข้าใจคำว่า สังฆะ เสียก่อน

สังฆะ ถ้าว่าไปแล้ว คือ ความเป็นทีม...ชัดดีไหม การทำบุญที่เรียกว่า สังฆทาน คือ การทำบุญกับพระที่เป็นคณะหรือว่าที่เป็นทีม พระที่เป็นคณะหรือว่าเป็นทีม ที่เรียกว่าสังฆะ โดยพระวินัยแล้วล่ะก็อย่างน้อยประกอบด้วยพระตั้งแต่ 4รูปขึ้นไป

เมื่อการทำทานที่จะให้เรียกว่า สังฆทานจริงๆก็คือ การทำทานกับพระซึ่งเป็นหมู่เป็นคณะตั้งแต่ 4รูปขึ้นไป เราเรียกว่า สังฆทาน

ทีนี้ก็ต้องถามว่า ถ้าเราทำทานกับพระรูปใดรูปหนึ่ง จะเป็นสังฆทานขึ้นมาได้ไหม ก็ตอบว่า มีทั้งได้และไม่ได้...ทำไม ถ้าจำเพาะเจาะจงว่าจะไปทำกับรูปใดรูปหนึ่ง ถ้าอย่างนั้นก็ไม่จัดว่าเป็นสังฆทาน

แต่ตรงกันข้าม ตั้งใจไว้ว่าจะไปทำทานกับพระทีมใดทีมหนึ่ง หรือคณะใดคณะหนึ่งตั้งแต่ 4รูปขึ้นไป แต่ว่าตอนนั้นท่านอยู่องค์เดียวรูปเดียว อีก 3รูป 5รูป 10รูปก็แล้วแต่ล่ะ ท่านไม่อยู่ด้วย เราก็ต้องบอกกับท่านว่า เราจะถวายท่านนี้แล้วท่านช่วยจัดการด้วยเถอะ เอาไปแบ่งเอาไปปันกันให้ได้ เป็นสังฆทานให้กับเราก็แล้วกัน อย่างนี้ก็ได้ชื่อว่าเป็นสังฆทานอยู่ดี เพราะใจที่เราตั้งไว้นั้น ตั้งใจว่าเราจะทำทานกับพระที่เป็นทีม อย่างนี้ชัดเจนไหม

ตกลงคำว่า สังฆะ ก็คือคำว่า ทีม หรือคำว่า คณะ ในปัจจุบันนั่นแหละ มองภาพนี้ให้ชัด

ทีนี้ถามว่า การทำทานที่เป็นสังฆทานนี้ ทำไมจึงได้บุญมากนักมากหนา ทำไมพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงสรรเสริญนักทีเดียว เราก็ต้องมองอย่างนี้ว่า เอาทางโลกก่อน ในทางโลกไม่ว่าเราจะทำงานอะไร ถ้าทำเพียงเดี่ยวๆมันก็ได้น้อย ถ้าทำเป็นทีมมันก็ได้เยอะ ทำความดีเป็นทีมก็ได้เยอะ ทำความชั่วเป็นทีมมันก็ได้เยอะเหมือนกัน แต่ทำความชั่วเป็นทีมไม่รู้จะทำไปทำไม ไม่อยากลงนรก เพราะฉะนั้นทำความชั่วเป็นทีม เลิกไม่เอา มีแต่ว่าจะทำความดีหรือจะทำบุญกันเป็นทีม ก็คือเป็นสังฆทานนั่นเอง

ทีนี้ก็ถามว่า ทำไมพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้ทรงสรรเสริญ การทำทานที่เป็นสังฆทาน หรือทำทานที่มุ่งให้กับพระที่ท่านเป็นทีม การทำอย่างนี้ก็ดีทั้งฝ่ายพระ ดีทั้งฝ่ายคนนั่นแหล่ะ

ดีทั้งฝ่ายพระเป็นอย่างไร พระ...ท่านมีจิตเมตตากับคนอยู่แล้ว อยากจะให้คนได้บุญเยอะๆ เมื่อเห็นเราตั้งใจจะทำทานเป็นสังฆทาน ถ้ามีพระอยู่เพียงน้อยรูป แค่รูปสองรูป ท่านก็ต้องขวนขวาย...ขวนขวายอะไร ขวนขวายการสร้างทีม ถ้าพระยังน้อยอยู่ท่านก็หาให้พระที่อื่นมาร่วม...มาอยู่ร่วม นี่ก็เป็นทีมขึ้นมา หรือว่าถ้าไม่รู้ว่าจะไปหาพระที่ไหน ก็ลูกบ้านนั้น ตำบลนั้น ใครที่มีจิตศรัทธาจับมาบวช หรือทั้งยังไม่มีจิตศรัทธา ก็เทศน์อบรมกล่อมเกลากันไป จนกระทั่งเขามีจิตศรัทธา มาบวชกับท่านจนได้นั่นแหล่ะ

ในที่สุด การถวายสังฆทานก็บังคับไปในตัว ให้พระ...ท่านสร้างทีมให้ได้ ยังไม่พอ พอพระ...ท่านได้สร้างทีมโตๆเข้า เรามันก็ฟู เราก็เลยทำบุญไปใจก็ฟูไป ไม่ฟูแต่เรา พวกก็ฟูด้วย เดี๋ยวทีมเราก็โต ทีมเราโตเอง พอทีมเรายิ่งโตทำทานได้เต็มที่เข้า ทำจนพระกลุ่มนั้น คณะนั้น ทีมนั้น ท่านรับไม่ไหว เดี๋ยวท่านก็ต้องขยายทีมต่อไปอีก

เมื่อท่านขยายทีมต่อ หรือว่าไปตามพระกลุ่มอื่น คณะอื่นมาร่วมทีมกับท่านอีก ก็เลยทำให้ความเป็นปึกแผ่นของคณะสงฆ์เกิด เมื่อความเป็นปึกแผ่นของคณะสงฆ์เกิดขึ้น คราวนี้อะไรเกิดขึ้น ก็คือเมื่อท่านได้รับการทำนุบำรุงจากสังฆทานของเรา คณะสงฆ์ก็เกิดความเข้มแข็งขึ้น เป็นทีมโตขึ้น

ไม่โตแต่ทีมหรอก...ลูกเอ๊ย เดี๋ยวการให้ธรรมทานก็เกิดโตขึ้นมาอีก มากขึ้นมาอีก เพราะว่าพระภิกษุแต่ละรูป ท่านก็ฝึกตัวเองของท่านมา ท่านก็มีความรู้ มีความดี หลายแง่หลายมุม มากรูป มากทีมเข้า ก็มากธรรมทานขึ้นมา

เมื่อธรรมทานมากยิ่งขึ้น ลูกเอ๊ย...ตัวของเราซึ่งนำทีมไปทำสังฆทาน ก็จะได้ภูมิปัญญา ซึมซับเอาภูมิปัญญาธรรมมาจากท่าน เราก็เลยได้แก้ไขตัวเองมากขึ้น แล้ว คราวนี้เราก็เลยได้ธรรมทานเป็นความรู้กำจัดกิเลส ได้บุญอันเกิดจากการทำทานนี้ติดตัวข้ามภพข้ามชาติ ทำให้เป็นหลักประกันว่า เกิดกี่ภพกี่ชาติ เราก็ไม่รู้จักจน อดอยากยากจนนั้นไม่รู้จัก มีแต่อิ่มอร่อย ข้ามชาติกันทีเดียว แล้วก็ได้ธรรมะจากพระมาอีกมากมาย เอามาฝึกตัว ปัญญาก็เพิ่มพูน เสบียงอันเกิดจากการทำทานของเรา ก็เพิ่มพูนติดตัวข้ามภพข้ามชาติ แล้วก็แน่นอน ศีลที่เราซึมซับมาจากพระ ได้กำลังใจจากพระที่ท่านจะแก้ไขอบรมให้เรา มันก็มั่นคงยิ่งขึ้น จากศีลห้า กลายเป็นศีลแปด จากศีลแปด วันดีคืนดีเดี๋ยวก็กลายเป็นศีลสิบ ศีลสองร้อยยี่สิบเจ็ด ออกบวชตามท่านไปด้วย

เพราะอะไร...เพราะเห็นแล้วว่า พระที่อยู่เป็นหมู่คณะนี้ มีความน่าเข้าใกล้ มีความน่าเลื่อมใส มีความน่าเข้าไปเป็นสมาชิกกันด้วย เดี๋ยวได้บวชกันอีกล่ะน่า

นี่...ฤทธิ์ของสังฆทานดีอย่างนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงสรรเสริญสังฆทาน เพราะฉะนั้นพรรษานี้ ตั้งใจไปถวายสังฆทานกันให้เต็มที่ พระกำลังมีเยอะทุกวัด

ทำไมพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า “ธรรมทานชนะการให้ทั้งปวง”

คำถาม:จากที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อ ได้เอ่ยถึงเกี่ยวกับคำว่า ธรรมทาน อยากเรียนถามพระเดชพระคุณหลวงพ่อว่า ทำไมพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า “ธรรมทานชนะการให้ทั้งปวง” ครับ

ตอบ:ถามดีคุณโยม...ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนให้มุ่งเน้นกันที่ธรรมทานให้มาก โดยตรัสว่า สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ คือ การให้ธรรมทาน วิเศษกว่าให้ทานอย่างอื่น ทำไมพระองค์ตรัสอย่างนั้น ก็นึกถึงความจริงก็แล้วกัน โบราณท่านเคยพูดเอาไว้แบบโลกๆ ท่านบอกว่า ถ้าเราให้ข้าวเขาไปสักถังหนึ่ง กระสอบหนึ่ง อย่างมากเขากินได้ไม่กี่วันหรอก แล้วมันก็หมด แต่ว่าถ้าสอนวิธีปลูกข้าวให้เขา เขาก็จะมีข้าวกินตลอดทั้งชาติ ไม่ใช่วันเดียว เดือนเดียว ปีเดียว แต่ตลอดชาติกันทีเดียว

พูดง่ายๆ สอนให้ใครมีความรู้แล้วล่ะก็ ความรู้นั้นมันกินไม่หมด มันใช้ได้ตลอดปี นี่ขนาดแค่ความรู้ทางโลกนะ คือ เรื่องการปลูกข้าว ยังทำให้มีข้าวกินได้ทั้งปี แต่ว่าปัญหาของมนุษย์เรานั้น มันไม่ได้อยู่แค่ความหิว ปัญหารวมๆของโลกมนุษย์มันมีอยู่ 3เรื่องใหญ่ๆ คือ

1.ความรู้ไม่ทันโลก ปรากฏการณ์ต่างๆในโลกนี้ ตั้งแต่ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า แผ่นดินถล่ม อะไรก็ว่ากันไป นั่นก็เป็นความรู้ เป็นประสบการณ์เกี่ยวกับโลก

2.ความรู้ไม่ทันคนอื่นเขา ก็เลยโดนโกง โดนรังแก...กันสารพัด

3.ความรู้ไม่ทันกิเลส

ความรู้ไม่ทันโลกนั้น เราหาเทคโนโลยีศึกษาที่ไหนก็ได้ในยุคปัจจุบันนี้ เพราะว่าด้านวิชาการตำรับตำราเดี๋ยวนี้มีเยอะ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไม่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้มาก หรือว่าในเรื่องของความไม่ทันคน ความไม่ทันคนก็มีตำรับตำราป้องกันการโกงกันเยอะแยะอีกเหมือนกัน แต่ว่าความไม่ทันคน ไม่ทันโลกยังไม่ใช่เรื่องสำคัญ เรื่องสำคัญกว่านั้นมีอยู่ แล้วจัดว่าสำคัญที่สุดในชีวิตมนุษย์ก็คือ เราเกิดมาพร้อมกับความโง่ และวันที่เกิดมาก็มีสิ่งหนึ่งห่อหุ้มใจ บีบคั้นใจเรา คือ กิเลสในตัวของเรา มันฝังมาอยู่ในใจเรา ตั้งแต่เราอยู่ในท้องแม่

เพราะฉะนั้นพอเกิดขึ้นมา กิเลสมันบีบคั้นเรา ทำให้เราเสียหายเยอะแยะเลย ทำให้เราคิดโลภ คิดโกรธ คิดหลง เมื่อคิดไม่ค่อยดีอย่างนั้นแล้ว มันก็เลยทำให้พูดไม่ดี ทำไม่ดีตามมา ซึ่งความรู้ที่จะมากำจัดกิเลสนี้ คนทั้งโลก ศาสดาทั้งหลายที่มีอยู่ในประวัติศาสตร์โลกมนุษย์นี้ ไม่รู้หรอก มีแต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเท่านั้น ที่ทรงรู้ความลับเรื่องนี้ว่า มนุษย์เกิดมาพร้อมกับกิเลสที่อยู่ในใจ

สิ่งที่พระองค์ทรงนำมาสอนนั้น เรื่องใหญ่ๆเลยก็คือ เรื่องของการปราบกิเลสที่อยู่ในใจ ความรู้ที่จะเอามาปราบกิเลสซึ่งฝังอยู่ในใจมนุษย์นี้ ท่านเรียกว่า ธรรมทาน ถ้าปราบกิเลสตรงนี้ได้ล่ะก็ เรื่องทันโลก เรื่องทันคน เป็นเรื่องเล็กเลย เพราะว่าเมื่อกิเลสหมดไป มองโลกทั้งโลกเห็นได้ชัดเจน เหมือนอะไร...เหมือนอย่างกับเห็นผลส้มในฝ่ามือ คือ มันเห็นชัดเจน เห็นรอบเลย ถ้ายังเห็นไม่ชัดจะผ่าออกมาดูก็ยังได้

ผู้ที่ศึกษาธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาดีจริง ฝึกตัวเองมาดีจริง โดยอาศัยธรรมทานที่ได้จากผู้รู้แล้วล่ะก็ ประเดี๋ยวเดียวรู้ทันโลก เห็นโลกเหมือนของเด็กเล่น เหมือนยังกับผลส้มในผ่ามือ

ปราบกิเลสไปแล้ว ปราบกิเลสในตัวของเราไปได้มากเท่าไหร่ ก็เห็นอีกเหมือนกัน เห็นอะไร…เห็นว่าคนที่แสบๆทั้งหลายนั้น แท้ที่จริง มันก็อยากดี แต่ว่ากิเลสที่หุ้มใจ บีบคั้นใจมัน ทำให้มันแสบ มันแสบจนกระทั่งเมื่อก่อนเราตามมันไม่ทัน

แต่ว่าวันนี้ เราทันกิเลสของเราแล้ว มันก็เลยส่งผลให้เรานั้น ทันกิเลสของคนอื่นด้วย ก็เลยรู้ทันคนอื่นตามไปด้วย เป็นผลพลอยได้ ผลหลัก คือ ได้ธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาแล้วจากธรรมทาน ทำให้เรารู้ทันกิเลสแล้วสามารถปราบกิเลสที่มันอยู่ในใจ กิเลสซึ่งเป็นโรคร้ายอยู่ในใจเรา หรือเหมือนกับไวรัสที่มีอยู่ในคอมพิวเตอร์นั่นแหละ ได้ธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาแล้ว เราปราบกิเลสเสียเรียบ เมื่อกิเลสเรียบไปแล้ว เราทันกิเลสเสียแล้ว เราก็สามารถที่จะทันคนอื่นด้วย เพราะว่าคนอื่นก็ถูกกิเลสบีบคั้นเช่นเดียวกับเรา

เราทันกิเลสของเรา คราวนี้ไม่ยากที่จะทันกิเลสของคนอื่น ทำให้ทันคนอื่นด้วย แล้วเรื่องต่างๆ ปรากฏการณ์ต่างๆทั้งโลก หนีไม่พ้นปัญญาของเรา

เหตุนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงยกย่องหนักหนาทีเดียวว่า “การให้ธรรมะเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง”

เพราะฉะนั้น ที่คุณโยมตั้งใจมาถามปัญหาธรรมะอย่างนี้ นี่อาตมากำลังให้ธรรมทาน ซึ่งชนะการให้ทั้งปวง เมื่อรู้แล้ว...เอาปฏิบัติให้ดีนะ

การทำทานในพระพุทธศาสนา

คำถาม:กราบนมัสการพระเดชพระคุณหลวงพ่อครับ กระผมมีความสงสัยเกี่ยวกับเรื่องการทำทานในพระพุทธศาสนาว่า มีวัตถุประสงค์อย่างไร และทำได้กี่ประเภทครับ

ตอบ:ก่อนอื่นทำความเข้าใจกันเสียก่อนว่า คำว่า ทาน นั้นจริงๆแล้ว เป็นภาษาแขก ภาษาอินเดีย ภาษาไทย คือ ให้ ชัดๆลงไปนะ ทาน ก็คือ ให้

ทีนี้วัตถุประสงค์ของการให้ แบ่งออกได้ 4ประเภทด้วยกัน ตั้งแต่

ประเภทที่1.ให้เพื่ออนุเคราะห์ คือ ผู้ใหญ่ให้กับเด็ก อย่างนี้...ให้เพื่อการอนุเคราะห์

ส่วนประเภทที่2.ให้อีกเหมือนกัน แต่...ให้เพื่อการสงเคราะห์ คือ ใครเดือดร้อนมา คนยากจน หรือไม่ยากไม่จนหรอก แต่ว่าไฟไหม้-น้ำท่วมขึ้นมาแล้ว...มันเดือนร้อน มันก็ต้องให้ ให้แบบนี้ก็เป็นเรื่องให้ที่เขาเรียกว่า สงเคราะห์ คือ ใครตกทุกข์ได้ยาก ก็ช่วยกันล่ะนะ จะใจไม้ไส้ระกำกันได้อย่างไร มีข้าวให้ข้าว มีของให้ของ ช่วยกันคนละไม้ละมือ

ประเภทที่3.ก็ให้อีกเหมือนกัน แต่ว่าเป็นการให้ที่คำนึงถึงพระคุณ ที่เขาเคยหว่านมากับเรา เคยเลี้ยงดูเรามา เคยให้ความรู้เรามา เราเจ็บไข้ได้ป่วย เขาเคยหยิบยื่นมือมาช่วยเหลือเรา...คิดถึงพระคุณของเขา เราก็เลยหาทาง มีอะไรที่คิดว่าถูกใจเขา หรือเป็นประโยชน์ต่อเขา...เอาไปให้ ให้ชื่นใจกัน นี่ก็เป็นการให้ประเภทที่3

ถ้าประเภทที่4.ก็จะเป็นการให้เพื่อจะเอาบุญ ให้เพราะรู้ว่าการให้เป็นความดี เมื่อทำความดีด้วยการให้อย่างนี้ ผลออกมาเป็นบุญ ในพระพุทธศาสนาที่พวกเราต้องศึกษากันมาก อยู่ที่การให้ด้วยวัตถุประสงค์ที่4 นี่เอง

ทีนี้ การให้เพื่อให้เกิดเป็นบุญ เป็นกุศลกันขึ้นมา เป็นความดีขึ้นมา มันก็มีหลักมีเกณฑ์ของมัน คือ ไม่ใช่ให้แบบเหวี่ยงแห ให้เพราะว่ามีปัญญารู้ว่า การให้นี่มันมีผลทางด้านจิตใจ คือ อย่างน้อยมันก็ทำให้คลายความตระหนี่ คลายความหวงแหน นี่รู้ขั้นต้นรู้อย่างนี้

ถ้ารู้ลึกไปอีกว่า เมื่อมันคลายความตระหนี่ คลายความหวงแหนลงไปแล้ว บุญยังเกิดขึ้นในใจด้วย แล้วบุญนี้...เมื่อบุญเกิดขึ้นในใจแล้ว ยังทำให้ใจใส ใจสว่าง ใจสะอาด ขึ้นมา ตามมาอีกด้วย แต่สิ่งเหล่านี้ มันเป็นเรื่องของการให้ประเภทที่4

ทีนี้การให้ประเภทที่4.จึงจัดเป็นการให้ของคนที่คนที่มีปัญญา คนที่ฉลาด มองรู้ทะลุปรุโปร่งในเรื่องของบุญ เมื่อมันเป็นอย่างนี้ ก็ต้องคำนึงถึงองค์ประกอบด้วย

คนฉลาดนั้น...ไม่ใช่ให้แบบเหวี่ยงแห มันก็ต้องคำนึงนะ เมื่อรู้ว่าการให้ทานก็มีผลเหมือนอย่างกับอะไร...รู้ว่าปลูกพืชปลูกผักแล้วมันมีผล มันก็ต้องคำนึงกันแล้ว จะปลูกพืช ปลูกผัก ปลูกข้าว นี่คำนึงอะไรกันบ้างล่ะ

พันธุ์ข้าวที่จะเอาไปปลูกก็ต้องคำนึง

พื้นที่นา...ถ้ามันแล้งไป น้ำท่วมจัดไป...ไม่ได้เรื่องหรอก มันต้องพอดีๆ อย่างที่เขาเรียกว่า เนื้อนาดี

แล้วอันที่สาม ตัวของเราเอง...มันก็ต้องมีปัญญาด้วยนะ ถ้าโง่ๆไม่มีปัญญา พอหว่านข้าวกล้าลงไปเดี๋ยวก็ตายหมด

เช่นกัน รู้ว่าการทำบุญนี้...การให้ประเภทที่4...นี้ มันเป็นบุญเป็นกุศลเกิดขึ้นแล้ว คำนึงอะไร

ประการที่1.ประโยชน์อะไรบ้างที่จะเกิดขึ้นกับเรา แล้วทำอย่างไรจะให้ประโยชน์นั้นมันสมบูรณ์ให้ได้ ซึ่งเมื่อคำนึงแล้ว เราก็พบว่าประโยชน์จะสมบูรณ์นั้น เราต้องมองทะลุปรุโปร่งอย่างที่ว่านี้ว่ามันส่งผลอย่างไร

ประการที่2.พันธุ์ข้าวที่ว่าเมื่อกี้ที่อุปมา คือ อะไร คือ สิ่งของที่จะเอามาทำบุญทำทานที่จะให้กันนั้น มันต้องคัดแล้วคัดอีก เอาไอ้ที่ดีๆ มันมีผลต่อไปภายหน้า พันธุ์ข้าวดีๆต้องปลูกในเนื้อนาดี ฉันใด ของดีๆจึงจะเอามาทำบุญ ฉันนั้น ของเศษๆ เดนๆ อะไรทำนองนี้ ป่วยการเอาไปทำบุญ ไม่เข้าท่าหรอก

ประการที่3.เนื้อนาดีเป็นอย่างไร...ผู้ที่มีความบริสุทธิ์ผุดผ่องอยู่ในตัวนั้นแหละ คือ เนื้อนาบุญของเรา ใครล่ะ...ก็พระภิกษุผู้ทรงศีล ยิ่งถ้าเป็นพระภิกษุที่ตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรม...นี้ดีที่สุด ไม่อย่างนั้น ถ้าหาพระภิกษุไม่ได้ ก็ผู้ทรงศีลทรงธรรม ถ้าเขามีศีลมีธรรม ถ้าอย่างนั้นพอจะเป็นเนื้อนาบุญให้เราได้

ประการที่4.ตัวของเราเองนั้นก็ต้องมีความบริสุทธิ์ผุดผ่องกันทีเดียว เช่น ไม่ใช่เมาเหล้าแล้วไปทำทาน ตัวของเราต้องมีความบริสุทธิ์ผุดผ่องอยู่ในตัว มีศีลมีธรรมประจำใจ

การที่มีองค์ประกอบอย่างนี้ครบ พูดง่ายๆ ไทยธรรมก็มี เนื้อนาบุญ คือ พระภิกษุก็มี ตัวเราเองศรัทธาเต็มเปี่ยม มีสติ มีปัญญา มีความบริสุทธิ์อยู่ในตัว มองทะลุปรุโปร่งว่า การให้ทานครั้งนี้แล้วจะมีผลอย่างไรต่อไปในภายภาคหน้า ภายภาคหน้าชาตินี้หรืออนาคตข้างหน้า รวมทั้งชาติหน้า คือ ชีวิตหลังความตายของเราด้วย มองทะลุปรุโปร่งอย่างนี้แล้วก็ทำทาน อย่างนี้ล่ะได้บุญเยอะ

ถามว่า ทานมีกี่ประเภท คำตอบ คือ มี 3ประเภทด้วยกัน...โดยย่อนะ ได้แก่

1.ให้สิ่งของเป็นทาน เรียกกันว่า อามิสทาน เช่น ให้ข้าวปลาอาหาร ผ้าผ่อนท่อนสไบ เป็นต้น

2.ให้ความรู้เป็นทาน หรือ ธรรมทาน ให้ความรู้ ทางโลกท่านเรียกว่า วิทยาทาน ให้ความรู้ ทางธรรม ท่านเรียกว่า ธรรมทาน

3.ให้...อภัยทาน คือ ไม่จองเวรจองกรรมอะไรกับใคร ใครเข้าใกล้เราถือว่าปลอดภัย

นี้ก็เป็นการทำทานในพระพุทธศาสนาของเรา ซึ่งได้บุญได้กุศลกันเยอะๆ ทั้งชาตินี้และติดตัวข้ามชาติกันทีเดียว

นั่งสมาธิวิธีไหนดีที่สุด

คำถาม:หลวงพ่อเจ้าคะ...ลูกเคยไปชวนเพื่อนๆหลายคน มานั่งสมาธิ เพื่อนๆเขาก็บอกว่า ทำไมวิธีการนั่งสมาธิจึงมีหลากหลายวิธีเหลือเกิน แต่ละวิธีก็สอนไม่เหมือนกัน แล้วแต่ละคนที่มาชวนก็บอกว่า วิธีของตัวเองดีที่สุด ในกรณีดังกล่าวนี้ ลูกขอกราบเรียนถามหลวงพ่อว่า เราจะมีคำตอบอย่างไร ให้เขาได้พอใจที่สุดเจ้าค่ะ

คำตอบ:คุณโยม...ในเรื่องของการฝึกสมาธิ จับหลักการให้ได้ก่อนว่า เขาฝึกกันทำไม ถ้าจับหลักการได้แล้ว การจะอธิบายอย่างอื่นง่ายหมด หลักการของการฝึกสมาธิมีสั้นๆว่า การฝึกสมาธิแท้ที่จริงแล้วเป็นเรื่องของการรู้จักควบคุมจิตใจตัวเองให้เป็น หลักการมีเท่านี้


ควบคุมใจตัวเองให้เป็น ทำอย่างไร...คือ พยายามที่จะเอาใจเก็บมาไว้ในตัว เพราะธรรมชาติของใจโดยทั่วไปแล้ว หากไม่ใช่เป็นใจที่ถูกฝึกมาดีแล้ว มันชอบเที่ยว มันชอบคิด มีอยู่ 2เรื่องของมัน

1.ชอบเที่ยว เป็นอย่างไร...ตัวเองนั่งอยู่เมืองไทย แต่ใจเที่ยวข้ามไปถึงเมืองจีน...มันไปได้ ตัวเองนั่งอยู่กรุงเทพฯ ใจมันไปเที่ยวถึงหาดใหญ่ ถึงปัตตานี...มันไปได้...นี่มันชอบเที่ยว
2.ชอบคิด คิดสารพัดเรื่อง ยิ่งอยู่คนเดียวมีเรื่องคิดเยอะเลย แล้วไปสังเกตดู เรื่องที่คิด ยิ่งคิดมาก ยิ่งวุ่นมาก แล้วเรื่องที่คิดเป็นเรื่องนอกตัวทั้งนั้น

ยิ่งปล่อยให้ใจเที่ยวไปด้วย คิดไปด้วย ยิ่งว้าวุ่นหนักเข้าไป

เพราะฉะนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงให้ทำสมาธิ เพื่อแก้ความที่ใจว้าวุ่นของเราด้วยการเอาใจกลับมาไว้ในตัว เมื่อมันเลิกเที่ยว เลิกคิด เลิกว้าวุ่น พอกลับมาตั้งอยู่ในตัวเข้า ใจก็เลยทรงพลังขึ้นมา หลักการมีเท่านี้

แต่ว่าที่มีวิธีเยอะแยะตั้ง 40วิธี ไม่เล็กไม่น้อยตั้ง 40วิธี, 40วิธีนั้นว่าไปแล้วก็มีวิธีหลักอยู่ไม่กี่วิธี นอกนั้นเป็นวิธีเสริม

ที่มีวิธีหลัก วิธีเสริมก็เพราะว่า จริตอัธยาศัยของคนเรามันไม่เหมือนกัน บางคนก็เจ้าโทสะ บางคนก็พุทธิจริต หรือว่าเจ้าปัญญา บางคนก็ง่วงเหงาหาวนอนเก่ง อะไรทำนองนี้ ก็เลยต้องแก้ไขกันไปพอเหมาะพอควร

วิธีที่มีอยู่เป็นหลักๆ หลวงพ่อว่ามีแค่ 3-5วิธีเท่านั้นในเมืองไทยนี้ นอกนั้นอีก 30กว่าวิธี เป็นเรื่องของวิธีเสริมเพื่อปรับให้พอเหมาะกับจริตของคนเท่านั้น

วิธีหลักๆ คุณโยมไปฝึกสำนักไหนก็ได้ ที่มีครูบาอาจารย์ท่านดูแลอย่างจริงจัง ท่านตั้งสำนักกันมานาน แล้ววิธีที่ท่านนำมาสอน ก็เป็นวิธีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งนั้น ไม่ใช่ท่านคิดเอาเอง

เมื่อเป็นวิธีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่ท่านคิดเอาเอง แล้วท่านก็มีประสบการณ์ในการสอนมานาน ก็เข้าไปหาท่าน ไปตั้งใจฝึกกับท่าน ฝึกกันเสียให้เต็มที่ก่อน

หากว่าเราก็ทำเต็มที่แล้ว แล้วก็มันก็ยังไม่ค่อยก้าวหน้าเท่าที่ควร ถ้าอย่างนั้น จะลองเปลี่ยนไปสำนักอื่นบ้างก็ได้ แต่ที่ต้องเปลี่ยน ไม่ได้หมายความว่า พระอาจารย์ท่านไม่ดี เพียงแต่ว่า จริตอัธยาศัยของเรามันคงไม่ต้องกับตรงนั้น

แต่ก่อนจะตัดสินว่า มันต้องกับตรงนั้น ไม่ต้องกับตรงนั้น ควรจะเปลี่ยน ไม่ควรจะเปลี่ยน ต้องทุ่มตัวเข้าไปฝึกเสียก่อน

ถ้าเราเป็นคนเหยาะแหยะ...เปลี่ยนไปหมดทุกสำนักแล้วก็ยังเอาดีไม่ได้ นั่นไม่ใช่อาจารย์ไม่ดีเสียแล้ว...เรามันไม่ดีต่างหาก

โดยย่อๆ

1.จับหลักการให้ได้ว่า หลักการของการทำสมาธิ มีอย่างเดียว จะน้อมใจที่ชอบเที่ยวชอบคิด ให้มันกลับมาติดเอาไว้อยู่ที่ศูนย์กลางกาย ไม่ให้มันเตลิดเปิดเปิงไปที่ไหน ให้มันหยุด มันนิ่งอยู่ที่นั่น หลักการมีอยู่ตรงนี้
2.วิธีการ ถ้าไม่ได้ผิดไปจากคัมภีร์ในพระพุทธศาสนาแล้ว ฝึกไปเถอะ แล้วค่อยๆปรับเอา เดี๋ยวก็ได้
3.ถ้าให้ปลอดภัยสักหน่อย จะฝึกวิธีไหน...ก็ไปหาพระอาจารย์ที่ท่านถนัดชำนาญวิธีนั้นๆ...ไปเถอะ...เดี๋ยวท่านก็มีคำแนะนำที่พอเหมาะพอสมให้กับเราเอง

แล้วก็ด้วยความชำนาญของท่าน ท่านจะพบเองว่า เราเหมาะหรือไม่เหมาะกับวิธีที่ท่านถนัด ถ้าไม่เหมาะ เดี๋ยวท่านก็ส่งต่อไปสำนักอื่นต่อไปอีก ที่ท่านเห็นแล้วว่าน่าจะเหมาะกว่า แล้วเราก็ไปตามที่ท่านแนะ

เมื่อเราทำอย่างนี้ ก็ไม่มีขัดอะไร ยิ่งไปกว่านั้น สิ่งที่ต้องเตือนตัวเสมอ คือ ไม่ว่าเราจะไปทดลอง ไปฝึกที่ไหน ขอให้ตั้งใจฝึกจริงๆ อย่าไปทำเป็นเล่นๆ นึกถึงคำพูดของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ตรัสเมื่อวันจะตรัสรู้เอาไว้ให้ดี

เมื่อวันที่พระองค์จะตรัสรู้ วันนั้น พระองค์อธิษฐานจิต คือหลังจากที่พระองค์ได้ฝึกมาอย่างเต็มที่แล้ว 6ปีเต็มๆ ผ่านสำนักต่างๆมามากแล้ว พระองค์มั่นพระทัยว่า ได้ทดลอง ได้ประสบการณ์มาพอแล้ว วันนี้ เหลือแต่เพียงอย่างเดียว คือ การเอาจริงเท่านั้น พระองค์ทรงตั้งใจจริง เมื่อทรุดองค์ลงนั่งลงไปที่รัตนบัลลังก์แล้ว ทรงอธิษฐานว่า...

แม้เลือดเนื้อในร่างกายจะแห้งเหือดหายไป เหลือแต่หนัง เอ็น กระดูก ก็ตามที หากยังไม่บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณล่ะก็ ไม่ลุกขึ้นหรอก จะประทับนั่งอยู่อย่างนี้ ตายก็ให้มันตายไป

นี่พูดภาษาชาวบ้าน ตายให้มันตายไป ทดลองมาทุกวิธีแล้ว

เราก็เหมือนกัน ก่อนจะเปลี่ยนแต่ละวิธี เรามีสิทธิ์จะเปลี่ยน แต่ว่าก่อนจะเปลี่ยน ฝึกกันมาสุดความสามารถ และเมื่อได้หลักการอะไรต่ออะไรเรียบร้อยแล้ว ต่อแต่นี้ไป ฝึกให้จริงๆจังๆ

คำว่า จริงๆจังๆ หมายถึงขนาดไหน...เอาเถอะ...ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ขนาดเอาเนื้อเลือดแห้งเหือด หายไปก็ตามที...เราคงไม่ต้องถึงขนาดนั้น

จริงจังของเราในที่นี้ อยากจะฝากก็คือ อย่างน้อย เช้าตื่นขึ้นมา ขอสักชั่วโมงหนึ่ง ก่อนนอนขออีกสักชั่วโมงหนึ่ง ในระหว่างวัน ก็มันต้องทำมาหากินกัน ต้องทำงานทำการกัน ถ้าอย่างนั้นก็ประคองใจเอาไว้ที่ศูนย์กลางกายเอาไว้ให้ดี รู้ตัวว่า มันหนีไปเที่ยวแล้ว...เอากลับมาใหม่...รู้ตัว...ไปอีกแล้ว...เอากลับมาใหม่

ก็สู้กันอย่างนี้เวลาทำงาน ทำงานไปด้วย ตามมาตามไป ก็ตามสมควร แต่เช้ากับกลางคืนก่อนนอนอย่าให้พลาด ทำอย่างนี้อย่าให้เว้นแต่ละวัน เดี๋ยวก็เห็นหน้าเห็นหลังเองแหละ...คุณโยม

การเอาเอาชนะคู่แข่งเป็นการเบียดเบียนหรือไม่

คำถาม:ขอกราบเรียนถามหลวงพ่อว่า การค้าขายสมัยนี้ มีการลดแลกแจกแถม เพื่อที่จะเอาชนะคู่แข่ง แบบนี้เป็นการเบียดเบียนซึ่งกันและกันหรือไม่ครับ

คำตอบ:คุณโยม...มันมี 2อย่างนะ คู่แข่ง กับ คู่แค้น ถ้าค้าขายกัน มันก็มีการแข่งกันบ้าง นี่ก็เป็นธรรมดา มันจะลด จะแลก จะแจก จะแถมอะไร ก็เป็นธรรมดา ไม่ว่ากัน แต่ว่าอย่าแกล้งกันต่างหาก ตราบใดที่...

1.เราไม่ได้แกล้งใคร
2.แล้วเราก็ไม่ได้ไปใส่ร้ายป้ายสีใคร


ไม่แกล้งยังไม่พอ ไม่ใส่ร้ายป้ายสีด้วย เมื่อเราไม่ได้ใส่ร้ายป้ายสีใคร ว่ากันโดยคุณภาพ ว่ากันโดยบริการ ว่ากันโดยทันสมัย ทันแฟชั่น ทันยุค ติกันไม่ได้ แต่ว่าในฐานะที่อยู่กันเป็นเพื่อนร่วมโลก การแข่งการค้า มันเป็นเรื่องของรายได้ มันเรื่องของการยังชีพของเรา นี่เอาชนะกันโดยไม่เสียศีล อย่างนี้ไม่เสียศีล เราไม่ได้กัก เราไม่ได้ตุน เราไม่ได้แกล้ง เราไม่เสียศีล

แต่ว่าเมื่อเราผ่านพ้นของเรามาได้แล้ว เราลอยลำในส่วนของเราแล้ว ส่วนคู่แข่ง มันจะเสีย มันจะหาย มันจะตาย ตรงนี้มันอีกประเด็นหนึ่ง

เพราะว่าเราพ้นไปแล้วเรื่องเสียศีล เราไม่ได้เสีย แต่ว่าเขาจะแย่ เขาจะตาย เขาจะไม่ไหว เขาจะตกต่ำ...แล้วเขาเป็นคนดีหรือไม่...ถ้าเขาเป็นคนดี ทำไม...ไม่หิ้ว...ไม่ช่วย...ไม่อุ้ม กันขึ้นมา หันหน้าเข้าหากัน ปรึกษากันว่า เป็นอย่างไร จะให้ช่วยอะไรได้บ้าง

ตั้งแต่...ยกตัวอย่าง เช่น...ทำเลไม่ดี...จะให้ช่วยอย่างไร...ว่ามา เราจับมือกันเป็นเพื่อนกันดีกว่า พูดง่ายๆ เปลี่ยนจากคู่แข่ง (ไม่ใช่เป็นคู่แค้นนะ นั่นมันหนัก) ให้มาเป็น คู่ค้า...ดีกว่านั้นอีก คือ ทำให้มันเป็น เครือข่าย กันไม่ดีหรือ

เดี๋ยวนี้ การค้า...มันไม่ใช่เฉพาะสู้กันในประเทศเท่านั้น มันต้องสู้ข้ามประเทศแล้ว ถ้าเรายังฟันกันเองอยู่ ในประเทศยังยกไว้ แต่ถ้ายังฟันกันอยู่ในจังหวัดเดียวกัน ยังฟันกันอยู่ในตลาดเดียวกัน เดี๋ยวเถอะ ต่างประเทศเขาเข้ามา เขาเหยียบตาย

ตอนนี้ก็เห็นๆกันอยู่แล้วว่า ต่างประเทศเขามาไล่เหยียบอยู่เท่าไหร่แล้ว ทำไมเขาจึงไล่เหยียบเราถึงปานนั้น มันน่าแค้นหยอกอยู่เมื่อไหร่เล่า เขามาไม่กี่คน แต่เขาเหยียบคนไทยทั้งประเทศชักแหงกๆกันอยู่นั่น

ที่เขาเหยียบเอาได้ก็เพราะว่า เราไม่จับมือกัน ถ้าเราจับมือกันเสีย เป็นเครือข่ายกันเสีย พัฒนาคุณภาพร่วมกันเสีย เดี๋ยวเขาก็ต้องหอบเสื่อหอบหมอนกลับบ้านเขาไปเอง ไม่ต้องไปเดินขบวนไล่เขาหรอก เดี๋ยวเขาก็กลับบ้านเขา

หรือถ้าไม่กลับ...อย่างนั้นคุณกับฉันมาคุยกัน มาคุยกันดีกว่า...อยากมาค้าที่บ้านฉัน ประเทศฉัน มาแล้วเดี๋ยวฉันเอาของฉันไปค้าไปขายที่ประเทศคุณบ้างนะ เป็นเพื่อนกันไหม

แต่ก่อนที่จะชวนพวกชนิดที่เขาข้ามถิ่นมาเหยียบเราถึงบ้านมาเป็นคู่ค้าด้วยนั้น มันก็ต้องแสดงฝีมือให้เขาเห็นก่อนว่า เราเข้มแข็งพอ

ก็อยากจะฝากคุณโยม...เอาเถอะ...วันนี้ ตลาดขายปลีกในเมืองไทยแตกกระสานซ่านเซ็นเหลือเกิน หาทางรวมกันให้ได้เถอะคุณโยม อย่างที่ถามเมื่อครู่นี้ ศีลข้อที่4 ที่หลายคนเขาว่า ถือยาก ก็เพราะว่าไม่คิดจะถือกัน มันถึงรวมกันไม่ได้ ลองรักษาศีลข้อที่4 กันดีๆ มีอะไรว่ากันซื่อๆตรงๆ แล้วมาช่วยกัน แก้ไขกัน พัฒนากัน เดี๋ยวเราก็จับมือกัน

เดี๋ยวพลังแห่งความสามัคคี พลังแห่งสัจจะที่มี...มันรวมกันเข้าไปเมื่อไหร่ แล้วมันปึกแผ่นแน่นหนาขนาดไหน...คิดดู

เลิกโกหก พูดกันจริงๆ สู้กันด้วยคุณภาพ สู้กันด้วยความดี สู้กันด้วยบริการ มีอะไรบกพร่อง ช่วยกันแก้ไข เดี๋ยวเราก็กลายเป็นยักษ์ในประเทศของเราได้ แล้วเดี๋ยวเราก็จะข้ามประเทศได้

พ่อค้านักธุรกิจรักษาศีลข้อ4 อย่างไรดี

คำถาม:อยากกราบเรียนถามหลวงพ่อครับว่า ศีลข้อ4นี้ ทุกคนจะบอกว่า รักษากันยาก ครับ โดยเฉพาะพ่อค้าอย่างพวกกระผมนะครับ อยากกราบเรียนถามหลวงพ่อว่า มีทางใดบ้างที่จะสามารถรักษาศีลข้อนี้ให้บริสุทธิ์ได้ครับ

คำตอบ:เจริญพร...คุณโยมถามถูกคนเลยนะ ก่อนที่หลวงพ่อจะมาบวช หลวงพ่อเป็น Salesman เก่านะ ต้องว่าอย่างนี้ก่อน อยู่ในยุทธจักรทางการค้ามาพอสมควร แล้วก็พบด้วยตัวเองว่าเอาจริงๆแล้ว พวกพ่อค้าที่ค้าของเป็นหลักเป็นฐาน ค้าการค้าใหญ่ๆ ยิ่งระดับโลก ระดับชาติอะไรอย่างนี้ พวกนี้จะยิ่งไม่โกหก

ถ้าโกหกแสดงว่า...การค้าจิ๊บจ๊อย ซึ่งมันก็พอสมกับคนจิ๊บจ๊อย คนกระจอก เอาดีไม่ได้ หรือไม่หวังที่จะเอาดีกับการค้าจริงๆ อันนี้ยังต้องตอบอย่างนี้ก่อนนะ

เอาล่ะ...เราก็เห็นๆกันว่าสินค้าในท้องตลาด ในที่สุดแล้วมันสู้กันด้วยอะไรบ้าง

1.ถ้าสู้กันจริงๆก็ สู้กันด้วยคุณภาพ
2.กับ สู้กันด้วยการบริการ อันนี้หนักหน่อย
3.แล้วสุดท้ายจึงค่อยมา สู้กันด้วยราคา นี่ชัดเจนเลย


ส่วนว่า จะมีบางครั้งบางช่วงบางคราว เป็นเรื่องของแฟชั่น หรือแบบอะไรต่ออะไรที่จะเอามาสู้กัน ก็จัดว่าเป็นส่วนหนึ่งของคุณภาพก็แล้วกัน หรือลด แลก แจก แถม ก็เป็นบางครั้งบางคราว โดยในที่สุดแล้วก็ต้องบอกว่า ความจริงใจนั่นแหละ มีคุณค่าที่สุด

มนุษย์เรานี่แปลก ไม่ว่าลูกรัก เมียรัก ผัวรัก เพื่อนรัก อะไรก็ตามที จะรักกันได้ ตราบที่พบว่า ยังมีความจริงใจกัน ถ้าหมดความจริงใจกันแล้วล่ะก็ ต่อให้เป็นเทวดาก็หมดรัก ดีไม่ดีจะเป็นศัตรูกันเอาด้วย

ความจริงใจนั่นแหละ จะทำให้คนเรานี่คบกันยืด รักกันนาน เพราะฉะนั้น คนที่บอกว่า ศีลข้อที่4 รักษายาก...มันฟ้อง...ฟ้องตั้งแต่

1.ขออภัยเถอะ...สันดาน คือ อุปนิสัยที่ติดตัวมาข้ามชาติ เพาะมาไม่ดี จึงมีความเห็นผิดอย่างนั้น
2.หรือข้ามชาติ ก็ฝึกตัวมาดี แต่ว่า...ชาตินี้ตั้งแต่เกิดมาอยู่ในสิ่งแวดล้อมไม่ค่อยจะดี อยู่ท่ามกลางคนโกหกเสียแล้ว มันก็เลยพลาดไป
3.หรือทั้งๆที่สิ่งแวดล้อมแต่เดิมก็ดีอยู่ แต่ตัวเองได้รับประสบการณ์ที่ไม่ค่อยจะดี อาจจะเป็นคนซื่อแต่ไปเจอกับคนโกงคนเกเรเข้า เลยบีบคั้นให้เราไปเป็นอย่านั้น หรือว่า...การบริหารของเราผิดพลาด ก็เลยทำให้เกิดภาวะยอบแยบทางเศรษฐกิจ แล้วก็เลยเอาตัวรอด จากเอาตัวรอดชั่วคราว กลายไปเป็นถาวรไปเสียอีกแล้ว เอาตัวรอดไปได้แค่ชั่วคราว แต่นิสัยกลายเป็นชั่วถาวร...ไม่คุ้ม

ในแง่ของหลวงพ่อยิ่งทำการค้าขาย ยิ่งต้องเอาความจริง เอาความดี เอาคุณภาพเข้าสู้ พูดง่ายๆ...

เรื่องที่หนึ่ง สัจจะเป็นตัวตั้ง แล้วจะรักกันนาน
เรื่องที่สอง เป็นสิ่งที่ต้องคิดมากเลย เคยเตือนหลายๆคนเขาว่าอย่างนี้...คนโกหกคนอื่น 1ครั้ง มีความจำเป็นจะต้องโกหกตัวเองอย่างน้อย...อย่างน้อยนะ 3ครั้ง ส่วนอย่างมากนับไม่ไหว เป็นยังไง...ก็ก่อนจะโกหกใคร

1.ต้องเตรียมเรื่อง ไม่เตรียมจะเอาอะไรมาโกหก การเตรียมเรื่องนั่นแหละ โกหกตัวเองแล้ว
2.ลงมือพูด พอพูดเสร็จ นั่นแหละ โกหกตัวเอง 2ครั้งแล้ว
3.หลังจากนั้น เจอเขาอีกเมื่อไหร่ก็ต้องโกหกต่อ แม้ยังไม่ทันเจอ ได้ข่าวว่า เขาจะมาที่นั่นที่นั่น แล้วคงต้องไปเจอกันแน่ ก็ต้องถามตัวเองว่า วันนั้นโกหกว่าอย่างไร ต้องมาทบทวนอีกแล้ว

เป็นอันว่าโกหกคนอื่น 1ครั้ง ต้องตามโกหกตัวเองเบาะๆ 3ครั้ง แต่อย่างมาก Infinity นับไม่ไหว เพราะฉะนั้น ถ้าใครไม่อยากจะต้องโกหกตัวเอง แล้วก็กลายเป็นคนสับสนล่ะก็ ตั้งใจรักษาศีลข้อที่4 ให้ดี

ยิ่งกว่านั้น เคยสังเกตไหม บางคนอายุ 80ก็แล้ว 90ก็แล้ว ไม่หลงไม่ลืม อายุร้อยเข้าไปแล้ว เคยเจอ...ไม่หลง แต่บางคน 60-70หลงเสียแล้ว ทำไม อายุ 90ไม่หลง 100ไม่หลง...ฟ้องเลย...คนๆนี้ตลอดชีวิตโกหกไม่เป็น เขาจึงไม่มีเรื่องสับสนอยู่ในใจ

แต่พวกที่ 60กว่าไม่ถึง 70หลงแล้ว พวกนี้โกหกทั้งชาติ เพราะฉะนั้น ใช้ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่อยากจะเป็นคนหลงคนลืมตอนแก่ๆ ขนาด 90ยังไม่หลงเลยล่ะก็ อย่าไปโกหกนะ นี่คือโทษของการโกหกเห็นกันชัดๆเลยในชาตินี้

ยังไม่พอ...คนโกหกมากเท่าไหร่ ความเชื่อมั่นในตัวเองก็หดหายไปเท่านั้น ยังไม่พอ...ใครโกหกเก่งๆ ในที่สุด เขาก็ต้องจับจนได้นั่นแหละ มันจะไปโกหกกัน Forever ได้อย่างไร ผลสุดท้าย แม้เด็กหัวเท่ากำปั้นมันก็ยังไม่เคารพ ลูกตัวเอง หลานตัวเอง มันก็ไม่เคารพ แล้วคุณค่าของเรามันจะเหลือตรงไหน

เพราะฉะนั้น จึงมีคำพูดอยู่คำหนึ่ง ผู้หลักผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ คืออย่างไร...คือแก่ไปตามวัย มันก็ต้องเป็นผู้ใหญ่...ผู้หลัก คืออย่างไร...คือไม่โกหก...มันถึงจะเป็นหลักได้ เพราะฉะนั้น ถ้าอยากจะเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ให้ลูกหลานได้กราบได้ไหว้ อย่าไปโกหกมันเชียวนะ นี่คือโทษ-คุณ ที่เห็นกันชัดๆ โทษของการโกหก คุณของการรักษาศีลข้อที่4 มันเป็นอย่างนี้ แต่ไม่เท่านี้...ใครรักษาศีลดี มันเป็นสัจจะประจำตัว ให้พรใครก็ศักดิ์สิทธิ์

พุทธองค์ตรัสเอาไว้ คนที่โกหกทั้งรู้ ไม่มีความชั่วอะไรในโลกที่เขาทำไม่ได้ ตรัสหนักขนาดนั้น เพราะฉะนั้น รักษาความดีเอาไว้เถอะ แล้วจะศักดิ์สิทธิ์ข้ามชาติเลย

เราควรจะช่วยเหลือคนจน หรือทำบุญกับพระสงฆ์ดี

คำถาม:หลวงพ่อเจ้าคะ อยากทราบว่า สังคมของเรา ขณะนี้เรามีคนจนอยู่มาก เราควรจะช่วยเหลือคนจน หรือทำบุญกับพระสงฆ์ดีเจ้าคะ

คำตอบ:พูดง่ายๆ คำถามของคุณโยมนี้ กำลังจะถามว่า “การสร้างโรงเรียน สร้างโรงพยาบาล น่าจะดีกว่าการสร้างวัด ใช่หรือไม่”

คำถามประเภทนี้คล้ายๆ จะถามว่า “เสื้อกับกางเกง อันไหนสำคัญกว่ากัน” ความจริงมันสำคัญด้วยกันทั้งคู่นะ ใส่เสื้อไม่ได้นุ่งกางเกงนี่ยุ่งเหมือนกัน นุ่งกางเกงไม่ใส่เสื้อ ก็ยุ่งอีกเหมือนกัน

โดยรวมก็คือ ในเรื่องของการทำบุญกับวัด การสร้างวัดต่างๆ หรือในเรื่องของการสังคมสงเคราะห์ ก็คือการทำทานกับคน ทำบุญกับคน นั่นเอง สองอย่างนี้ต้องทำคู่กันไป


ถ้าถามว่า โรงเรียน คือ สถานที่สำหรับทำอะไร

คำตอบ โรงเรียน คือ สถานที่ที่จะสอนให้คนเราฉลาด...ฉลาดเรื่องอะไร...ฉลาดในเรื่องเทคโนโลยีด้าน Material พูดอย่างง่ายๆ คือ ฉลาดในเรื่องของเทคโนโลยีทางด้านวัตถุ หรือฉลาดในเรื่องของการทำมาหากิน

ส่วนวัด คือ สถานที่ที่จะสอนให้คนเราฉลาดเหมือนกัน แต่ฉลาดในเรื่องด้านจิตใจ หรือฉลาดในด้านเทคโนโลยีทางใจ

ถ้าถามว่า โรงพยาบาล มีไว้ทำอะไร

ตอบสั้นๆ โรงพยาบาลมีไว้สำหรับรักษาทางกายเป็นหลัก

วัดก็มีหน้าที่คล้ายๆโรงพยาบาล คือ รักษาโรคทางใจ

จากที่กล่าวมา เรามาพิจารณากัน

1.โรงเรียน

โรงเรียนทางโลก ให้ความรู้ทางโลก หรือให้เทคโนโลยีทางโลกนั้น...ให้ไปเถอะ...ดี แต่ต้องระวัง เพราะว่าตั้งแต่โบราณแล้ว เขาได้พิสูจน์กันมากมายแล้วว่า ความรู้ทางด้านวิชาการ หากว่าเกิดกับคนพาล มีแต่นำความพินาศ นำความฉิบหายมาให้ เพราะว่า คนพาลจะเอาความรู้นั้น ไปใช้ในทางที่ผิด อันนี้เป็นสิ่งที่ต้องระวัง

ยกตัวอย่าง ไปเรียนวิชาวิศวะฯมา ถ้าเอามาก่อสร้างบ้านเรือน มาสร้างเครื่องยนต์ เครื่องจักร เครื่องใช้ มันก็ดี แต่ถ้าความรู้ชนิดนี้ มันไปตกอยู่กับมือโจร ตกอยู่ในมือของคนที่ขาดศีลขาดธรรม คนเหล่านั้นจึงนำเอาความรู้ทางด้านวิศวะฯไปทำระเบิดมาทำลายกัน

ตรงนี้เองจึงมาถึงหัวเลี้ยวหัวต่อว่า ถ้าอย่างนั้นสร้างโรงเรียนเมื่อไหร่ ควรจะอยู่ใกล้วัด หรือว่า โรงเรียนกับวัดอยู่ในที่เดียวกัน ซีกนี้ไว้สอนคน สอนนักเรียนให้มีความรู้ทางโลก นั่นซีกโรงเรียน อีกซีกของบริเวณนั้น สร้างวัด เอาไว้อบรมศีลธรรมให้ลูกหลานของเรา ถ้าอย่างนี้ ความรู้คู่กับศีลธรรม

แต่โบราณมาแล้ว สมัยปู่ย่าตาทวดของเรา โรงเรียนกับวัดอยู่คู่กัน เพราะฉะนั้น ลูกโตขึ้นมา เด็กโตขึ้นมา ก็ได้ทั้งความรู้แล้วก็ได้ทั้งความดี คือ มีศีลธรรมมากำกับ หรือว่าทั้งเก่งทั้งดี


ปัจจุบันนี้พอโรงเรียนออกไปจากวัด ลืมเอาโบสถ์ติดไปด้วย ทำให้ไม่มีอาคารสำหรับอบรมศีลธรรมให้โดยเฉพาะ แล้วเราก็มานั่งบ่นกันว่า เด็กยกพวกตีกัน เพราะฉะนั้น โรงเรียนกับวัดต้องสร้างไปด้วยกัน

2.โรงพยาบาล

โรคที่เกิดกับมนุษย์มี 2ประเภท


1.โรคประจำสังขาร คือ หนีไม่พ้น ได้แก่โรคแก่ โรคเจ็บ โรคตาย โรคประเภทนี้ โรงพยาบาลถือว่า ไม่หนักหนาสาหัส รักษาได้อยู่แล้ว เป็นของธรรมดา

2.โรคแส่หามาเอง คือ กินเหล้ามาก็ได้หลายโรค เที่ยวกลางคืน เที่ยวคืนเดียวก็ได้อีกตั้งหลายโรค โกหกเขาก็ได้อีกหลายโรค ไปปล้น ไปคดไปโกงเขา ก็ได้อีกหลายโรค โรคเครียด โรคอะไรอีกสารพัด ตามมา เพราะแส่หามาทั้งนั้น

โรคแส่หามาเองนี้ มาจากไหน...มาจากผิดศีล นั่นแหละ จึงต้องมี “เมาไม่ขับ” ความจริง “ไม่เมาเสียก็จบ แล้วก็ขับรถกันไป”

แล้วจะแก้อย่างไรสำหรับโรคที่แส่หามาเอง ก็ไปที่วัด สร้างวัดไว้ให้ดี นิมนต์หลวงพ่อ หลวงพี่ที่ชำนาญมาประจำไว้ที่วัดนั่นแหละ ให้ท่านอบรมศีลให้ อบรมธรรมะให้ ศีลและธรรมที่ท่านให้จะกลายเป็นวัคซีนป้องกันโรคแส่หามาเอง

เพราะฉะนั้น ทั้งสร้างโรงพยาบาล ทั้งสร้างวัด ก็ต้องสร้างไปด้วยกัน

ดังนั้น คุณโยม...มีเงินมีทอง ก็มาช่วยกัน สังคมสงเคราะห์ จะไปสร้างโรงเรียนก็แบ่งไป สร้างโรงพยาบาลก็แบ่งไป อีกส่วนหนึ่งเอามาสร้างวัด เอามาบำรุงวัด เอามาบำรุงสงฆ์ นั่นแหละจะเป็นความสุข ความเจริญของประเทศชาติบ้านเมืองไทยของเรา รวมทั้งของโลกด้วย

ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว จริง?

คำถาม:ขอกราบเรียนถามหลวงพ่ออีกข้อหนึ่งนะเจ้าคะ คำว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว มีความหมายว่าอย่างไรเจ้าคะ ขอความกรุณาหลวงพ่อช่วยขยายความให้ชัดเจนด้วยนะเจ้าคะ และคนในปัจจุบันนี้มักจะเข้าใจว่า ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป อะไรทำให้เขามีความเข้าใจผิดๆ เช่นนั้นเจ้าคะ

คำตอบ: เจริญพร...ก็คงเป็น 2ประเด็นด้วยกัน

ประเด็นแรก “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” หมายถึงอะไร

ถ้าจะพูดให้เต็ม “ทำกรรมดีย่อมได้ผลดี” คือ เป็นความสุข เป็นความเจริญ “ทำกรรมชั่วย่อมได้ผลชั่ว” คือ ได้ผลในเชิงลบ เป็นความเดือดร้อน เป็นความตกทุกข์ได้ยาก ทั้งทางกาย ทางใจ

เจาะลึกเข้าไปอีกนิดหนึ่ง ดังที่กล่าวไปแล้วว่า คนเราทำกรรมได้ 3ทาง เพราะฉะนั้น ทำกรรมดี ไม่ว่า กรรมดีทางกาย ทางวาจา ทางใจ เมื่อทำกรรมดีแล้ว ผลแห่งกรรมดีนั้นต้องออกมาแน่นอน แต่ว่าจะออกมาในรูปแบบไหน คงต้องว่ากันเป็นเรื่องๆไป

ยกตัวอย่าง ทำกรรมดีด้วยการขยันหมั่นเพียรในการเรียนหนังสือของเด็ก ผลแห่งกรรมดีมาแน่นอน คือ มีความเข้าใจในเรื่องที่เรียน มีความฉลาดเฉลียวเพิ่มขึ้น และทำให้เด็กคนนั้นมีความมั่นใจในตัวเองเพิ่มขึ้น นี้เป็นผลของกรรมดี

แต่ว่าในทำนองกลับกัน ทำกรรมชั่วย่อมได้ผลชั่ว เป็นอย่างไร ถ้าขี้เกียจเรียนหนังสือ ขี้เกียจทำการบ้าน ขี้เกียจที่จะเข้าครัวไปช่วยแม่ทำกับข้าว เพราะฉะนั้นเรียนก็ไม่ดี ทำกับข้าวก็ไม่เป็น นอกจากทำกับข้าวไม่เป็นแล้ว ช่วยแม่ไม่ได้ ก็เลยต้องกินข้าวสายๆหน่อย แล้วทำให้ไปโรงเรียนไม่ค่อยจะทัน นี่จัดว่าเป็นกรรมชั่วที่เด็กคนนั้นจะพึงได้รับ

ทำดี ต้องได้ดี ทำชั่ว ต้องได้ชั่ว นี่คงเป็นคำตอบที่ชัดเจนในประเด็นแรก

ประเด็นที่สอง สาเหตุที่ทำให้คนสับสน เข้าใจผิดว่า “ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป”

ความสับสนในทำนองนี้ เกิดขึ้นหลายกรณี

กรณีแรก คนคนนั้นไม่เข้าใจว่า “ที่เรียกว่ากรรมดีเป็นอย่างไร”

อาตมาได้เจอมาหลายครั้งแล้ว เขาบอกว่า “เขาทำดีแล้วไม่ได้ดี” จึงถามไปว่า “ทำอะไรบ้าง” ก็ได้คำตอบว่า “โธ่...รับใช้รินเหล้าให้เจ้านายกินไม่เคยขาดเลยเชียว นายยังไม่รักเลย เมาทีไร เตะทุกทีเลย” (เขาคิดว่าทำกรรมดี แต่ความจริงสิ่งที่เขาทำนั้น คือ กรรมชั่ว)

คือ คนในกรณีแรกนี้ แยกไม่ออกว่า “ทำดีทำชั่วเป็นอย่างไร”

กรณีที่สอง คนคนนั้น แม้จะแยกออกว่า อย่างนี้คือทำดี อย่างนั้นคือทำชั่ว แต่ว่าเป็นประเภทใจร้อน คือ ทำดีแล้ว ก็อยากจะให้ผลดีออกมาทันที

ในการทำความดี องค์ประกอบประการแรก คือ คนเราทำความดี ต้องให้ ถูกดี ด้วย คือ ถูกประเด็นเรื่องนั้นจริงๆ เหมือนอย่างที่เคยอยู่ในวงนักธรรมะก็ชอบพูดกัน ของทุกอย่างมันจะมีจุดดีของมัน

ขอยกตัวอย่าง เช่น การซักเสื้อซักผ้าก็มีจุดดีของการซักเสื้อซักผ้า กล่าวคือ เสื้อที่เราใส่นั้น จุดที่เปื้อนมากที่สุดคือแถวคอ แถวปก กับแถวปลายแขนเสื้อ จะเปื้อนมากหน่อย ถ้าเราขยี้ให้ทั่วตัวเสื้อ แต่ไม่ได้ขยี้ที่คอ ที่ปก อย่างนี้ ไม่ถูกดี

แต่ ถ้าเราขยี้ที่คอ ขยี้ที่ปก ให้เรียบร้อยก่อน แล้วที่อื่นก็พอประมาณ อย่างนี้ ถูกดี

แม้จะ ถูกดี แล้ว ยังจะต้องมี องค์ประกอบประการที่สอง คือ ถึงดี ด้วย เช่นในการซักเสื้อดังกล่าว ควรจะขยี้สัก 30ครั้ง ถ้าเราขยี้แค่ 10ครั้ง อย่างนี้ยังไม่ ถึงดี เพราะฉะนั้นมันไม่เกลี้ยงหรอก

พูดง่ายๆ งานทุกชิ้น เมื่อทำแล้ว อย่าทำแบบผักชีโรยหน้า ทำแล้วก็ต้องทำกันเต็มกำลัง แล้ว ผลดีจะออก

แต่อย่างไรก็ตาม ทั้งที่ ถูกดี ถึงดี แล้ว แต่ก็ต้องมี องค์ประกอบประการที่สาม คือ พอดี ด้วย อย่าให้มันเกินไป เช่น จากตัวอย่างเดิม เราควรจะขยี้ 30ที แต่เราขยี้เผื่อเหนียวไปสัก 100ที...เสื้อขาด ไม่ได้ใส่

ดังนั้น ทำอะไรต้องรู้จักพอประมาณ เกินกำลังก็ไม่ได้ เดี๋ยวเสียหาย น้อยไปก็ไม่ถึงจุดดี ทำแล้วต้องให้ ถูกดี ถึงดี พอดี จึงจะได้ดี แต่ทั้งที่ ถูกดี ถึงดี พอดี

องค์ประกอบสำคัญประการที่สี่ คือ เวลา อย่างที่ว่าไว้ “ให้เวลามันด้วย”

แต่ที่เกิดความสับสนก็คือ ในขณะที่รอเวลาให้ผลแห่งกรรมดีออก มันอาจจะต้องใช้เวลาเป็นเดือนเป็นปี ในระหว่างนั้นเอง กรรมชั่วในอดีตมันตามมาทัน มันมาออกผลก่อน

เราจึงรู้สึกว่า กำลังทำดีอยู่ ทำไมต้องมาเดือดร้อนด้วยเรื่องนั้นเรื่องนี้ ทั้งๆที่เรื่องนี้เราทำมานานแล้ว มันควรจะจบๆไปแล้ว (แต่มันไม่จบ มันเพิ่งมาออกผล) จึงกลายเป็นว่า ขณะที่กำลังทำความดีอยู่ มีผลเสียหายเกิดขึ้นเสียแล้ว มันเกิดจากความชั่วในอดีต

จึงทึกทักเอาว่า “ทำดีกลับได้ชั่ว” แต่ความจริงแล้ว ทำดีต้องได้ดี แต่ว่าผลดีของกรรมดีนั้น ยังไม่ทันออก มาถูกตัดรอนด้วยกรรมชั่วในอดีตเสียก่อน
แต่ถึงกระนั้นก็ตาม เมื่อได้จังหวะของกรรมดี กรรมดีนั้นออกผล มันก็จะได้ความชื่นใจในภายหลังอีกเหมือนกัน

คนที่ใจร้อน ไม่รอสอบสวนทวนต้นปลาย จึงเข้าใจผิดกันไป มีหลายคนบอกว่า “อย่างนี้ ก็ให้เมื่อทำกรรมดี ก็ให้ได้ผลปุ๊บ ทำกรรมชั่วก็ให้ได้ผลปั๊บไปเลย มันน่าจะยุติธรรมดีนะ ไม่ต้องรอเวลา” หลวงพ่อก็ว่าดีนะ แต่มีบางอย่างที่อยากจะเตือน

ยกตัวอย่างก็แล้วกัน ถ้าทำทานแล้ว ให้รวยทันที...อย่างนี้ดี แต่ว่า ถ้าโกหกแล้ว ให้ฟันหักทันที หลวงพ่อสงสัยว่า “ผู้ที่นั่งชมอยู่นี่ จะมีฟันเหลือคนละกี่ซี่ก็ไม่รู้” หลวงพ่อว่า “การให้เวลากันบ้าง มันก็ยุติธรรมดี ก็ฝากไว้เป็นข้อคิดด้วยนะ”

เครื่องวัดว่า อะไรคือความดี อะไรคือความชั่ว

คำถาม:หลวงพ่อเจ้าคะ ในฐานะที่เป็นแม่ ก็พยายามสอนลูกให้ทำความดี แต่เด็กสมัยนี้ต้องการเหตุผลค่ะ ก็จะย้อนถามกลับมาว่า แล้วแม่มีอะไรเป็นเครื่องวัดว่า อะไรคือความดี อะไรคือความชั่ว ซึ่งลูกก็ตอบไม่ค่อยถนัดนัก ก็ขอกราบเรียนถามหลวงพ่อนะคะ คำว่า กรรม มีความหมายว่าอย่างไร และคนเราทำกรรมได้กี่ทางคะ และจะมีอะไรเป็นเครื่องตัดสินคะ

คำตอบ:เจริญพร...คำถามแรก คำว่า “กรรม” คืออะไร

ความจริงคำว่า “กรรม” เป็นคำในภาษาพระพุทธศาสนา แต่ถ้าแบบชาวบ้าน กรรม คือ การกระทำของเรานี่เอง แต่ละคนก็มีการกระทำในชีวิตประจำวันด้วยกันทั้งนั้น ทุกอิริยาบถที่เราทำ ไม่ว่าทำด้วยการพูด ทำด้วยการคิด ทำด้วยมือของเราก็ตามที

แต่ว่า ความหมายของกรรมที่ลึกไปกว่าการกระทำทั่วๆไป คือ อะไรก็ตาม ถ้าทำด้วยความตั้งใจ ถือว่าเป็นกรรม ถ้าไม่ตั้งใจ ไม่ถือว่าเป็นกรรม

ถ้าถามว่า คนเรา ทำกรรมได้กี่ทาง...ชัดเจนเลย ไม่ว่าเด็ก ไม่ว่าผู้ใหญ่ ไม่ว่าหญิง ไม่ว่าชาย คนเราทำกรรมได้ 3ทางด้วยกัน คือ

ประการที่1.กรรมทางกาย จะเอามือไปทำ จะเอาเท้าไปทำ หรือเอาทั้งตัวนี้ไปทำ เช่น เอาหัวไปโขกพื้นสักโป๊กหนึ่ง ก็จัดว่าเป็นกรรม เพราะตั้งใจจะโขก จะโขกเพราะโกรธก็เป็นกรรม จะโขกเป็นลักษณะคำนับอย่างที่บางชนชาติเขาทำกัน นั่นก็เป็นกรรม เพราะทำด้วยความตั้งใจ 10นิ้วของเรายกมือพนมไหว้กราบผู้ที่มีคุณธรรม นี้ก็เป็นกรรม จัดเป็นกรรมดี แต่ว่า 10นิ้วอีกเหมือนกัน รวบกำเข้าเป็นกำปั้น แล้วไปต่อยเขาโครมครามเข้า มันก็เป็นกรรม แต่ว่าเป็นกรรมชั่ว

ประการที่2.กรรมทางวาจา ถ้าตั้งใจชมใครตามความเป็นจริงว่า เขาดีอย่างนั้น ดีอย่างนี้ ก็จัดว่าเป็นกรรมดีของเรา แต่ในทำนองกลับกัน ถ้าตั้งใจด่าใคร ก็เป็นกรรม แต่ว่าเป็นกรรมเสียของเรา เป็นกรรมชั่วของเรา จัดเป็นกรรมทางวาจา แต่ว่าคนหลับ นอนละเมอ ไม่เป็นกรรม เพราะว่าไม่ได้ตั้งใจ ไม่ถือสาหาความกัน หรือคนไข้เพ้อ จะเพ้อชมใคร จะเพ้อว่าใคร ติใครก็ตามที ไม่จัดว่าเป็นกรรม เพราะไม่มีความตั้งใจ ไม่มีเจตนา

ประการที่3.กรรมทางใจ เป็นกรรมทางความคิดนั่นเอง คิดรักใครก็เป็นกรรม คิดเกลียดใคร ชังใครก็เป็นกรรม คิดอิจฉาตาร้อนใครก็เป็นกรรม แค่คิดก็เป็นแล้ว

ตรงนี้เอง เมื่อจะตัดสินว่า กรรมที่เราทำนี้ เป็นกรรมดีหรือกรรมชั่ว ถ้าจะเอามาตรฐานของใครมาวัดนั้นคงยากเหมือนกัน ก็ต้องเอามาตรฐานของผู้รู้ เอามาตรฐานตัวเราเองมันก็คงไม่ใช่


เมื่อครั้ง พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ มีผู้สงสัยเช่นเดียวกับที่คุณโยมสงสัย, เด็กก็สงสัยว่า ที่เรียกว่ากรรมดีเป็นอย่างไร กรรมชั่วเป็นอย่างไร พระองค์ตรัสตอบไว้อย่างชัดเจน แต่ตรัสตอบแบบให้เด็กเข้าใจ ดังนี้

กรณีที่1.ทำอะไรแล้ว เดือดร้อนเขา เดือดร้อนเรา นั่นเป็นกรรมชั่วแน่นอน

กรณีที่2.ทำอะไรก็ตาม ถ้าเดือดร้อนเรา แต่สบายใจเขา ก็ยังจัดเป็นกรรมชั่วอยู่ดี เช่น เขาแย่งของของเรา แกล้งเรา เขาสนุกแต่เราเดือดร้อน ถ้าอย่างนั้นกรรมชั่ว

ในทำนองเดียวกัน เราเย็นใจ สบายใจ แต่เขาเดือดร้อนใจ เช่น เราไปแกล้งเขา ถ้าอย่างนั้นจัดเป็นกรรมชั่ว

กรณีที่3.ทำอะไรแล้ว ไม่ร้อนเขาไม่ร้อนเรา ตรงกันข้าม เย็นทั้งเขา เย็นทั้งเรา นั่นคือ กรรมดี

นี่คือที่พระองค์ทรงตอบเด็ก

เวลาพระองค์ทรงตอบผู้ใหญ่ พระองค์ทรงตอบอีกลักษณะหนึ่ง ผู้ใหญ่มีความคิดมากกว่า ไกลกว่า พระองค์ทรงตอบว่า ทำอะไรแล้ว ต้องร้อนใจในภายหลัง อย่าทำ มันเป็นกรรมชั่ว

แม้เมื่อเริ่มต้นรู้ว่ามันสนุก มันสบาย มันสะดวก แต่ตอนท้ายมันลงท้ายด้วยความเดือดร้อน นั่นแหละกรรมชั่ว อย่าไปทำ เช่น ตอนจะกินเหล้า เริ่มต้นสนุก แต่ตอนท้ายส่งเสียง “โอกอาก โอกอาก” คลานกันเสียแล้ว อาเจียนกันเสียแล้ว หรือตีกันเสียแล้ว

เพราะฉะนั้น ทำอะไรต้องร้อนใจในภายหลัง จัดเป็นกรรมชั่ว

แต่ถ้า ทำอะไรแล้ว ไม่ต้องร้อนใจในภายหลัง จัดเป็นกรรมดี เช่น เด็กตั้งใจเรียนหนังสือตั้งแต่ต้นปี ทั้งทำการบ้าน ทั้งอ่านทั้งท่อง ไม่มีเวลาไปเที่ยว แม้จะเหนื่อย แต่ว่าปลายปีเขาสอบได้ เขามีความเข้าใจดี อย่างนี้เป็นกรรมดี พระองค์ก็ทรงให้ข้อคิดอย่างนี้

ทีนี้ ถ้าเป็นผู้ใหญ่ที่การศึกษาหย่อนสักหน่อย พระองค์ทรงตีกรอบให้เลย โดยไม่ต้องคิดมาก กล่าวคือ

กรรมชั่วทางกาย

ฆ่าสัตว์
ลักทรัพย์
ประพฤติผิดในกาม
ดื่มน้ำเมา เสพยาเสพติด

กรรมชั่วทางวาจา ตั้งแต่

พูดเท็จ
พูดคำหยาบ
พูดส่อเสียด
พูดเพ้อเจ้อ ประเภท น้ำท่วมทุ่ง ผักบุ้งโหรงเหรง

กรรมชั่วทางใจ

คิดโลภ อยากได้ของเขา
คิดพยาบาท จองล้างจองผลาญเขา
คิดเห็นผิดเป็นชอบ
คิดโง่ๆ
คิดอิจฉาริษยา

ถ้าจะให้ชัดเจนยิ่งกว่านี้ สำหรับนักปราชญ์ บัณฑิต หรือนักฝึกสมาธิ พระองค์ก็ทรงตรัสไว้ชัดเจนว่า ทำอะไรแล้วใจมันขุ่นมัว นั่นคือ กรรมชั่วมาแล้ว ถ้าทำอะไรแล้วใจใส ยิ่งทำยิ่งใส นั่นคือ กรรมดีมาแล้ว กรรมชั่ว กรรมดี ตัดสินกันอย่างนี้

คุณโยมค่อยๆ อธิบายให้ลูกฟังก็แล้วกัน ไม่ทราบเหมือนกันว่า ลูกของคุณโยมอายุเท่าไหร่ ไปปรับให้พอเหมาะก็แล้วกัน

เราจะทราบได้อย่างไรว่า ญาติที่ล่วงลับไปแล้วได้บุญหรือไม่

คำถาม:กราบเรียนถามหลวงพ่อเจ้าค่ะ ถ้าเราทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับญาติพี่น้องของเราที่ล่วงลับไปแล้วนะเจ้าคะ เราจะทราบได้อย่างไรว่า ญาติที่ล่วงลับไปแล้วได้บุญหรือไม่เจ้าคะ

คำตอบ:ตรงนี้คงต้องตอบโดยหลักการก่อน คือ ต้องรู้ไว้ว่า บุญ คือ อะไร

บุญเป็นธาตุกายสิทธิ์ชนิดหนึ่ง และด้วยความเป็นธาตุกายสิทธิ์ของบุญ ทำให้บุญมีฤทธิ์ต่างๆนานากันไป พอที่จะอุทิศส่วนกุศลให้ถึงผู้ที่ตายแล้วได้รับ แล้วก็มีผลเป็นสุขด้วย

บุญมีลักษณะที่คล้ายๆน้ำอยู่ 2ประการ คือ

1.บุญนั้นเมื่อเกิดขึ้นแล้ว สามารถรวมตัวกันได้ เหมือนอย่างกับหยดน้ำ หยดน้ำค้าง หยดน้ำฝน หยดลงมาแล้ว มันก็รวมตัวกันได้จนกระทั่งน้ำเต็มโอ่ง เต็มไห เต็มหม้อ เต็มขัน
2.บุญซึ่งเป็นธาตุกายสิทธิ์นี้ สามารถจะไหล หรือสามารถที่จะไปจะมาได้ไกลๆ เหมือนอย่างกับน้ำ เช่น จากภูเขาสูงในภาคเหนือของประเทศไทย เมื่อมารวมตัวกันแล้ว มันก็ไหลลงสู่ที่ต่ำ เช่น ไหลมาเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา แล้วก็ไหลลงอ่าวไทยไป

น้ำจากที่สูงไหลไปได้ไกลๆ จนกระทั่งถึงทะเลเป็นร้อยกิโลเมตร เป็นพันกิโลเมตร บุญก็สามารถอุทิศให้ไปไกลๆได้ แม้ผู้ที่ต้องการนั้น ผู้ที่เราจะให้เขานั้น อยู่กันคนละโลก

แต่ว่า ถึงแม้เราจะรู้ จะทราบโดยหลักการว่า บุญสามารถส่งไปได้ไกลๆถึงผู้ที่ละโลกไปแล้วก็จริง แต่ว่าก็ต้องรู้อีกว่า เอาจริงๆเข้าแล้ว บุญไหลไปอย่างไร แล้วเข้าไปถึงใจของผู้ที่เราอุทิศให้ด้วยอาการอย่างไร จะรู้จะเห็นได้อย่างนั้น มีทางเดียว คือ ต้องฝึกสมาธิ จนกระทั่งความสว่างภายในของเรามากพอ

อย่ามองว่า เรื่องของการฝึกสมาธิเป็นเรื่องยากก็แล้วกัน หลักสำคัญมีอยู่ว่า ใจของคนเรา เมื่อฝึกจนกระทั่งให้หยุดให้นิ่งได้แล้ว ใจของคนเรานั้นจะสว่าง เมื่อความสว่างภายในเกิดขึ้นมาแล้ว วันหนึ่ง เมื่อวางใจได้ถูกส่วน จะสามารถเห็นบุญได้ว่า “บุญนั้นเป็นสาย”

พุทธองค์ถึงกับทรงตรัสเอาไว้ว่า บุญนั้น มีท่อบุญเกิดขึ้นทีเดียว พุทธองค์ตรัสเองนะ ใครที่ตั้งใจทำบุญ ทำทาน แล้วก็ทำบุญถูกเนื้อนาบุญ บุญไหลเป็นสายทีเดียว แล้วถ้าเราตั้งใจอธิษฐานไปให้ถึงแก่ผู้ใด ที่เขาละโลกไปแล้ว สายบุญไปจรดถึงกันเลย ก็เหมือนอย่างกับไฟฟ้า จากจุดหนึ่งก็ไปอีกจุดหนึ่งได้ ไหลไปตามสายไฟ แต่บุญไหลไปเอง ไม่ต้องมีสายอย่างกับสายไฟ เป็นสายบุญไปเอง

คุณฝึกไปเถอะ แล้ววันหนึ่งคุณก็จะเห็น เห็นแล้วก็จะหมดความสงสัยว่า บุญมีจริง แล้วก็มีฤทธิ์จริง อุทิศไปให้ใครก็ได้จริง ไปดูด้วยตาตัวเองดีกว่า ถ้าหลวงพ่อบอกให้ หลวงปู่บอกให้ ท่านผู้นั้นผู้นี้บอกให้ แล้วเรายังไม่เห็น จะให้เราเชื่อร้อยเปอร์เซ็นต์มันคงยาก เอาว่า “ตั้งใจฝึกสมาธิไป”

วันนี้ ตั้งใจฝึกสมาธิไป แล้วขณะที่ตั้งใจฝึกสมาธิ แม้ตอนนี้ใจยังไม่สว่างพอ ยังไม่นิ่งพอ ยังไม่เห็นบุญ ก็ช่างประไร เราก็ฝึกของเราไปเรื่อย อย่าเพิ่งปฏิเสธเรื่องบุญ อย่าเพิ่งไปปฏิเสธเรื่องความสว่างที่เกิดในสมาธิ เราไม่ปฏิเสธ เรารับฟังเอาไว้ แล้วเราตั้งใจฝึกของเราเรื่อยไป วันนี้ใจยังไม่สว่างพอ ยังไม่เห็น ก็ไม่เป็นไร

เราก็จะได้อะไรเป็นเครื่องตอบแทน...อย่างน้อยก็ได้ความสงบใจมาระดับหนึ่ง พูดง่ายๆ ฝึกสมาธิเรื่อยไป ใจเราไม่ขุ่นมัว ถึงอย่างไรสวรรค์ก็เปิดท่ารอเราแล้ว นรกปิดเรียบร้อยแล้ว จะไปเห็นบุญในตอนวินาทีสุดท้ายที่เราจะลาโลก ก็ยังไม่สาย ตั้งใจฝึกกันไป วันหนึ่งเราก็เห็นบุญจนได้

ถ้าบุญไม่มีจริง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าคงไม่ตรัสเรื่อง บุญ แต่ว่าเมื่อเรายังมองไม่เห็น จะไปโทษใคร ก็ต้องโทษตัวเองว่า เรายังฝึกน้อยไป ก็ให้ฝึกกันไป ชาตินี้ไม่เห็น ชาติหน้าเห็น ก็ยังไม่สาย ตั้งใจฝึกกันไปเถอะ

นรกสวรรค์มีจริงไหม

คำถาม:กราบเรียนถามพระเดชพระคุณหลวงพ่อด้วยความเคารพครับว่า คนที่ไม่เชื่อเรื่องนรกสวรรค์มีจริง เราจะมีวิธีการอธิบายอย่างเป็นเหตุเป็นผลอย่างง่ายๆ ได้อย่างไรครับ

คำตอบ:เรื่องนรกเรื่องสวรรค์เป็นเรื่องที่มีจริง...ก็จริงอยู่ แต่การที่จะอธิบายให้ใครฟัง ให้เขาเชื่อนั้น มันก็ไม่ง่ายนัก เพราะว่า คนที่จะเข้าใจ จะรับฟังได้ง่าย จะต้องเป็นคนที่มีพื้นใจผ่องใสมาพอสมควร

คนที่จะมีใจผ่องใสพอสมควรนั้น ได้แก่

1.เด็ก ตั้งแต่วัยเด็กเล็ก...ตั้งแต่ชั้นอนุบาลเรื่อยขึ้นมา จนกระทั่งชั้น ป.6 เด็กเหล่านี้ยังไม่ได้แปะเปื้อนอะไร ยกเว้นไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมไม่ดี ไปเจอยาเสพติดเสียก่อน อันนั้นก็ย่ำแย่หน่อย ถ้าไม่อย่างนั้นแล้ว เด็กๆใจจะใสตั้งแต่แรก เพราะฉะนั้นถ้าจะสอนจะสั่งในเรื่องของนรกสวรรค์ เด็กจะรับได้ง่าย

2.ผู้ใหญ่ที่ยังไม่เคยไปแตะต้องอบายมุข คือ ไม่เคยไปจมอยู่ในวงเหล้า ไม่เคยไปท่องกลางค่ำกลางคืน เที่ยวในแหล่งที่ไม่เหมาะสม ไม่เคยไปจมอยู่ในวงไพ่ อะไรทำนองนี้ ผู้ที่ไม่ได้จมอยู่ในวงอบายมุข ถ้าพูดเรื่องนรกเรื่องสวรรค์ ค่อนข้างจะรับได้ง่าย เพราะใจมันยังไม่เปื้อน

อย่างไรก็ตาม ในโลกปัจจุบันนี้ เนื่องจากอบายมุขมันก็แพร่กันเสียเหลือเกินแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของเรา ที่ไม่ว่าใครใจมืด ใจบอด ใจเปื้อนขนาดไหน เราก็มีหน้าที่จะต้องทำความเข้าใจถูกให้เขาให้ได้ ในเรื่องนรกเรื่องสวรรค์ เพราะว่าถึงอย่างไรเขาก็อยู่ร่วมโลกกับเรา บางทีก็เป็นญาติของเรา เป็นเพื่อนของเรา เรารู้เห็นอะไรดีๆ ก็อยากจะให้เขาได้รู้ได้เห็นความดีนั้นๆ ตามเราด้วย จะไปทิ้งเสีย ได้อย่างไร

ด้วยหัวใจของกัลยาณมิตรที่เปี่ยมล้นอย่างนี้ ก็มีข้อคิดฝากพวกเรา คือ ในการที่จะไปอธิบายแก่ใครให้เข้าใจว่า นรกมี สวรรค์มี ต้องถามตัวเราก่อนว่า “เรามีความเชื่อมั่นในเรื่องนรกเรื่องสวรรค์สักขนาดไหน” ถ้าความเชื่อมั่นตรงนี้ของเรา ยังไม่เต็มร้อย มันก็ยากที่จะดึงใครให้เขาเข้าใจถูกในเรื่องนรกสวรรค์

ทีนี้ ถ้าเรามีความเข้าใจในเรื่องนรกสวรรค์เต็มร้อย มั่นใจเต็มที่ ดังนั้นโอกาสที่เราจะชักชวนใคร ให้เหตุผลกับใครมันก็มากขึ้น

เหตุผลที่จะนำมาชักจูงเขา เราจะรู้ได้ด้วยตัวเองก็คือ ถามตัวเองว่า “เมื่อก่อนนี้เราก็ไม่ค่อยจะเชื่อเหมือนกัน แล้วทำไมวันนี้เราจึงได้เชื่อ” ถามตัวเองได้อย่างนี้แล้ว เดี๋ยวคำตอบจะผุดขึ้นมาเองอีกเหมือนกัน

สำหรับหลวงพ่อนั้น เมื่อก่อนนี้ก็สงสัยว่า “นรกมีจริงไหม สวรรค์มีจริงไหม”_ก่อนที่จะบวชนะ เที่ยวตระเวนถามหลวงพ่อ หลวงปู่วัดต่างๆมาเยอะเลยว่า “หลวงพ่อครับ หลวงปู่ครับ นรกสวรรค์มีจริงไหม”

บางรูปท่านก็บอกว่า ท่านก็ไม่รู้เหมือนกัน บางรูปท่านก็บอกว่า มีจริง ยืนยันเลย

เมื่อไปถามท่านคำที่สองว่า “หลงพ่อ หลวงปู่ เคยไปเห็นมาหรือ” ท่านก็จะตอบหลวงพ่อชัดเลย บางรูปตอบว่า “ไม่เคยหรอก” ก็ถามต่อว่า “อ้าว...ไม่เคยแล้วทำไมหลวงพ่อเชื่อว่า...มี” ท่านก็ตอบว่า “เพราะพระไตรปิฎกบอก” เมื่อถามท่านว่า “ทำไมหลวงพ่อเชื่อพระไตรปิฎกขนาดนั้นล่ะ” ท่านก็ตอบหลวงพ่อมาว่า “พระไตรปิฎกที่เขียนเอาไว้นั้น ผู้ที่เขียนที่บันทึก คือ พระอรหันต์หมดกิเลสแล้ว ท่านไม่หลอกเราหรอก ท่านไม่รู้จะหลอกเราทำไม”

ก็เป็นเหตุผลที่น่าเชื่อได้ระดับหนึ่ง แต่ลึกๆหลวงพ่อเองก็ยังเชื่อไม่เต็มร้อย เพราะท่านเองท่านก็ไม่เคยไปเห็นมา

จนกระทั่ง อยู่มาวันหนึ่ง มาเจอคุณยายอาจารย์ของเรา คุณยายอาจารย์ มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ครูบาอาจารย์ของหลวงพ่อ ของพวกเรา ครั้งแรกที่หลวงพ่อไปเจอ ยังเป็นฆราวาสอยู่ ยังเป็นนักศึกษาอยู่ หลวงพ่อได้โอกาสก็ถามคุณยายว่า “คุณยาย นรกสวรรค์นี่มีจริงไหม” คุณยายตอบชัดเจนเลย “มีซิคุณ” แล้วหลวงพ่อยังไม่ทันถามต่อเลย ท่านตอบเสร็จ มองหน้าอย่างกับรู้ใจ “มีซิคุณ เมื่อยายเข้าถึงธรรมกายใหม่ๆเลย องค์พระชัดใส ยายนี่เข้าธรรมกายไป ไปเยี่ยมพ่อยาย ยายก็อาราธนาพระธรรมกายให้ศีลแก่พ่อ เนื่องจากไฟนรกมันดับชั่วคราว”

“พอพ่อยายตั้งใจรับศีลเท่านั้น บุญที่เคยทำมาในอดีตชาติ เคยรักษาศีลมา บุญนั้นก็ตามมา บุญที่เกิดจากการให้ทาน การรักษาศีล การทำภาวนา ข้ามภพข้ามชาติตั้งแต่ชาติก่อนๆโน้น มันตามมาทัน พอนึกถึงบุญเก่าออก แล้วก็ตั้งใจรับศีลจากพระธรรมกายใหม่เท่านั้น บุญเก่าบุญใหม่มาประจบกัน บุญนั้นพาพ่อยายพ้นนรกได้”

“และเนื่องจากทำบุญทำทานอย่างอื่นไว้บ้างอยู่เหมือนกัน ก็มีวิมานเก่าๆ อยู่ในสวรรค์ชั้นต้น พ่อยายก็ได้ไปอยู่บนสวรรค์กับเขาได้เหมือนกัน”

หลวงพ่อได้ยินคุณยายว่าอย่างนี้ นี่เป็นผู้มีศีล แล้วตั้งใจปฏิบัติจริง แล้วไปรู้ไปเห็นมาจริง หลวงพ่อเชื่อท่าน

จึงถามคุณยายต่อ “ยาย...ถ้าอย่างนั้น อย่างผมนี่ จะมีโอกาสไปรู้ไปเห็นนรกสวรรค์อย่างยายบ้างไหม” คุณยายตอบชัด “ได้ซิคุณ” ท่านสร้างความมั่นใจให้ หลวงพ่อจึงถามท่านว่า “ทำไมจึงได้ล่ะยาย” คุณยายก็บอกว่า “ยายน่ะ...อ่านก็ไม่ออก เขียนก็ไม่ได้ หนังสือไม่ได้เรียน แต่ว่าเอาชีวิตเป็นเดิมพันในการฝึกสมาธิกับหลวงปู่วัดปากน้ำ พระมงคลเทพมุนี ยายเอาชีวิตเป็นเดิมพันในการฝึกสมาธิ ในที่สุดยายก็เห็นนรกได้ เห็นสวรรค์ได้ คุณน่ะยังหนุ่มยังแน่น การศึกษาทางโลกก็มี เพราะฉะนั้นถ้าคุณตั้งใจฝึกจริงๆ ทำไมจะไม่ได้ เดี๋ยวคุณก็ได้”

ได้ผู้ที่สามารถเห็นนรกสวรรค์มายืนยัน แล้วยังให้กำลังใจอีก หลวงพ่อเชื่อ แต่เชื่อก็เชื่อ 99% ไม่ครบร้อย แล้วทำยังไงจะครบร้อย ก็มีทางเดียว ลงมือฝึก ทำภาวนาอย่างจริงๆจังๆ แล้วให้ตัวเราเองไปเห็นเท่านั้น มันจึงจะครบร้อย ไม่อย่างนั้นมันก็ไม่ครบอีกอยู่ดี

แล้วตั้งแต่นั้นมา หลวงพ่อก็ตั้งใจฝึกภาวนาของหลวงพ่อเรื่อยมา จบการศึกษาแล้วหลวงพ่อก็เลยมาบวช นี่ก็ 33-34พรรษาเข้ามาแล้ว ยิ่งบวชยิ่งสนุก ยิ่งบวชยิ่งมั่นใจว่า “นรกมี สวรรค์มี”

แต่ว่านั่นแหละ สำหรับใครที่เขายังไม่เชื่อ มันก็คือยังไม่เชื่อ แต่ว่าอย่างน้อยที่สุดสำหรับพวกเราที่จะไปชวนใคร เราก็ต้องฝึกให้ได้ที่นะ แม้ที่สุดยังไม่เห็นนรก ไม่เห็นสวรรค์ แต่ว่าฝึกแล้วได้ความสว่างข้างใน เราก็พอจะรู้แล้วว่า ถ้าจะไปเห็นนรก เห็นสวรรค์ได้ ก็ต้องเห็นโดยอาศัยความสว่างที่เราฝึกได้นี่แหละ แต่ตอนนี้มันยังไม่มาก ก็ฝึกเข้าไป วันหนึ่งมันมาก ก็เห็นอย่างที่คุณยายท่านเห็น เห็นอย่างที่พระอรหันต์ท่านเห็น...ฝึกต่อไป

เมื่อมีประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องนรกสวรรค์มากน้อยแค่ไหนก็เล่าให้เขาฟังได้ ถ้าเขามีปัญญาพอ เขาก็รู้ว่า เราไม่ได้โกหก เขาก็รู้ว่าเราตั้งใจฝึกจริง เดี๋ยวก็พอจะคุยกันได้ เมื่อคุยกันได้ ก็ชวนเขาฝึกตามมา วันหนึ่งเขาจะสัมผัสได้ด้วยตัวเอง วันนั้นเขาจึงจะเชื่อ แต่ถ้าพูดกัน พูดให้ปากหักแล้วจะให้เขาเชื่อร้อยเปอร์เซ็นต์ เป็นไปไม่ได้

บทความในการเลื่อนตำแหน่งลูกน้อง

คำถาม:หลวงพ่อครับ ถ้าเราจะเลื่อนตำแหน่งลูกน้อง ขึ้นมาเป็นหัวหน้างาน บุคคลผู้นั้นควรจะมีคุณสมบัติอย่างไรบ้างครับ

ตอบ:คุณโยม...ถ้าพูดโดยหลักการ การจะเลือกใครขึ้นมาเป็นหัวหน้างาน นั้นไม่ยาก...ลองฟังหลักการก่อน หลักการมีอยู่ 2ประการ คือ

ประการแรก บุคคลนั้นต้อง ไม่ลำเอียง เพราะถึงเขาจะเก่งงานขนาดไหนก็ตาม แต่ถ้าเขาลำเอียงเสียแล้ว เมื่อเขาขึ้นมาเป็นหัวหน้าคน เดี๋ยวเขาก็ทำหน่วยงานนั้นพังหมด คนเก่งแต่ลำเอียง ฝีมือดี เก่งขนาดไหนก็ทำให้หน่วยงานพังซะจนได้ เพราะฉะนั้นอย่าเอาขึ้นไปเป็นหัวหน้า

ผู้ที่จะขึ้นมาเป็นหัวหน้าคน ที่ว่าไม่ลำเอียงเป็นอย่างไร...คือ ผู้ที่ไม่มีความลำเอียง ดังต่อไปนี้

1.ลำเอียงเพราะรัก คือ ประเภทที่ชอบเล่นพวกเล่นพ้อง พูดง่ายๆ เอาคนชอบเล่นพวกเล่นพ้องมาเป็นหัวหน้าหน่วยงาน เดี๋ยวก็ทำงานพัง ดูเผินๆ คนพวกนี้มีมนุษยสัมพันธ์ แต่จริงๆไม่ใช่ ถ้าหันหน้าหน่วยงานเล่นพวกแล้ว งานก็จะพัง คือ จะมีคนประจบสอพลอ หรือคนคุณภาพไม่ถึง มาอยู่เต็มไปหมด แล้วคุณจะพัง

2.ลำเอียงเพราะชัง คือ ประเภทที่ตัวเองฝีมือดี แต่ว่า...ถ้าได้โกรธใครล่ะก็...ผูกอาฆาตเลย ใครไม่ถูกใจ...จะจงเกลียดจงชัง ขังลืมเอาไว้ในใจ ใครทำให้ไม่ถูกใจสักหน่อย...คนคนนั้น ชาตินี้ทำอะไรก็ไม่ถูกตลอด อย่างนี้ก็ให้ไปเป็นหัวหน้าคนไม่ได้

3.ลำเอียงเพราะกลัว คือ ประเภทที่กลัวเส้นก๋วยเตี๋ยว กลัวเส้นกวยจั๊บ พูดง่ายๆ คนพวกนี้ พอมีลูกน้องที่หัวแข็งสักหน่อย ไม่กล้าว่า ไม่กล้าเตือน ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ถือว่าลำเอียงเพราะกลัว เราได้คนอย่างนี้ขึ้นมา หน่วยงานก็รวน

4.ลำเอียงเพราะโง่ ตรงนี้ยากหน่อย การที่ใครคนใดคนหนึ่งจะไม่ลำเอียงเพราะโง่นี่...ตรงนี้ยากนะลูกนะ...เพราะอะไร...เพราะทุกคนในโลกไม่ได้เป็นสัพพัญญู คือ รู้ไม่หมดทุกอย่าง โอกาสที่จะลำเอียงเพราะโง่จึงมีมาก

สรุป การเลือกคนที่จะไม่ลำเอียง เพื่อมาขึ้นเป็นหัวหน้า หลักง่ายๆก็คือ
1.ดูว่า เขาไม่เล่นพรรคเล่นพวก
2.ดูว่า เขาไม่ใช่เป็นคนที่อาฆาตคน
3.ดูว่า เขากล้าเตือนคน กล้าเตือนลูกน้อง
4.ดูว่า เขาเป็นคนที่อ่อนน้อมถ่อมตน รักการค้นคว้า รักความก้าวหน้า และใครก็สามารถจะเตือนเขาได้

คนอย่างนี้ คือ เป็นคนที่มีแววว่าจะไม่ลำเอียง พร้อมที่จะเป็นหัวหน้า

ประการที่สอง บุคคลที่จะขึ้นเป็นหัวหน้างานได้ ต้องมีมนุษยสัมพันธ์ดี แต่คุณต้องระมัดระวังไว้ พวกที่มีมนุษยสัมพันธ์ดีนั้น ส่วนมากฝีมืองาน หรือความทุ่มเทในงาน มักจะหย่อน ในขณะที่ผู้ที่ทุ่มเทกับงานอย่างชนิดเอาชีวิตเป็นเดิมพัน มนุษยสัมพันธ์มักจะหย่อน พูดง่ายๆ ถ้าดีในเรื่องงานล่ะก็ มนุษยสัมพันธ์จะหย่อน ถ้ามนุษยสัมพันธ์ดีล่ะก็ งานจะหย่อน ตรงนี้เราต้องชั่งใจให้ดี ถ้าชั่งใจไม่ดี เดี๋ยวมันพลาดไป แน่นอนเราอยากได้ทั้งมนุษยสัมพันธ์ก็ดี การทุ่มเทกับงานก็ดี ถ้าได้อย่างนี้มันก็วิเศษ แต่...มันไม่ง่ายหรอกนะ...อันนี้เตือนไว้ก่อน

ดูความมีมนุษยสัมพันธ์ของเขาให้ดี คือ คุณจะเอาใครขึ้นมา คุณก็คงจะมองว่า เขามีความสามารถในงาน ถ้าไม่มีความสามารถในงาน คุณก็คงไม่คิดจะเอาเขาขึ้นไปเป็นหัวหน้า ตรงนี้อีกเหมือนกัน ระวังก็แล้วกัน ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น...มีความสามารถในงาน แต่มักจะขาดมนุษยสัมพันธ์ อีกพวกหนึ่ง มีความสามารถในมนุษยสัมพันธ์ แต่ว่างานมักจะหย่อน

ตรงนี้คุณดูนะ...ในพวกมีความสามารถในงาน แต่มนุษยสัมพันธ์หย่อน คุณต้องเข้าไปประกบ แล้วค่อยๆสอนให้เขา ตั้งแต่...

1.ให้เขารู้จักเป็นคนให้ทาน หรือว่าโอบอ้อมอารีต่อลูกน้อง
2.ให้เขาพูดเพราะๆให้เป็น ไม่อย่างนั้น เดี๋ยวกระทบกระทั่งกันตาย
3.คอยสอนเขาว่า...อย่าหวงความรู้ อบรมลูกน้องให้เป็น
4.ให้เขาเป็นคนประเภทที่เสมอต้นเสมอปลาย ได้ดีไม่เหลิง ไม่ยกตนข่มท่าน ตกต่ำทำผิดทำพลาดไม่ใช่เศร้าสร้อยหงอยเหงา คุณต้องไปประกบตรงนี้ให้ดี

พุทธองค์ทรงให้หลักเอาไว้ คนที่มีมนุษยสัมพันธ์ดีนั้น คือ
1.มีทาน คือ รู้จักปัน
2.มีปิยวาจา คือ พูดเพราะ พูดให้กำลังใจคนเป็น
3.มีอัตถจริยา คือ พร้อมจะให้ความช่วยเหลือ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ช่วยให้ความรู้เป็นทาน
4.มีความเสมอต้นเสมอปลาย ได้ดีก็ไม่ยโสโอหัง ไม่ใช่พอได้รับการ Promote ขึ้นไปเป็นหัวหน้าเลยดูถูกคนทั้งแผนก คุณดูให้ดีว่า เขาเสมอต้นเสมอปลายได้ อย่างนี้ก็ถือว่าเขามีมนุษยสัมพันธ์ ถ้ายังมีไม่พอคุณก็เติมให้เต็ม

ส่วนพวกที่มนุษยสัมพันธ์ดี แต่ว่างานหย่อน ก็ฝึกงาน เคี่ยวงานให้หนักหน่อย ก่อนจะไป Promote หรือถ้าจำเป็นต้อง Promote คุณก็ต้องประกบให้ดี ไม่อย่างนั้นงานของคุณจะแย่

ก็มีหลักง่ายๆสองประการ ดังที่ได้กล่าวมานี้ ทั้งไม่ลำเอียง ทั้งมีมนุษยสัมพันธ์ดี อย่างนี้งานของคุณจะเดิน เพราะเขาเหมาะจะเป็นหัวหน้างาน

คนเราเกิดมาทำไม

คำถาม:กราบเรียนถามหลวงพ่อครับว่า ถ้าจะบอกคนข้างนอกที่ยังไม่ได้เข้าวัดว่า คนเราเกิดมาทำไม เราจะมีวิธีการที่จะบอกให้เขาได้เข้าใจอย่างง่ายๆ ได้อย่างไรครับ

คำตอบ:คนเราเกิดมาทำไม ถ้าเราจะตอบตามคติของพระพุทธศาสนาว่า เกิดมาเพื่อกำจัดกิเลสให้หมดไป ทำพระนิพพานให้แจ้ง ผู้ที่เข้าวัด เวลาถูกญาติโยมถามธรรมะ มักจะตอบรวบยอดกันอย่างนี้เลย

ถ้าตอบอย่างนี้ สำหรับคนที่ยังไม่เคยเข้าวัด เขาก็คงบอกว่า “ต่างคนต่างไป กลับบ้านตัวเองดีกว่า”

แต่สำหรับวันนี้ ตอบกันง่ายๆก็แล้วกัน คนเราเกิดมา มีเป้าหมายของชีวิตอยู่ 3ระดับ

1.ภาษาชาวบ้าน ก็บอกว่า มีเป้าหมายบนดิน
2.สูงขึ้นไปอีกหน่อย มีเป้าหมายบนฟ้า
3.เป้าหมายสูงสุดในชีวิตมนุษย์ ไม่ว่าจะนับถือศาสนาไหนก็ตาม โดยธรรมชาติแล้ว คือ เป้าหมายเหนือฟ้า

เป้าหมาย 3ประการนี้เป็นอย่างไร กล่าวคือ ในบรรดาชาวโลกทั่วไปที่ยังไม่ได้เข้าวัด ประการแรก สิ่งที่ควรจะต้องแนะนำเขาอย่างมาก ให้เขารู้ว่า เป้าหมายของเขานั้น คือ ยืนหยัดบนขาตัวเองให้ได้ รับผิดชอบตัวเองให้ได้

พูดง่ายๆ ตั้งฐานะของตัวเองให้ได้นั่นเอง ไม่ทำตัวให้เป็นภาระของใคร จะต้องเลี้ยงตัวของเราให้ได้ มีอาชีพที่บริสุทธิ์ผุดผ่องเป็นสัมมาอาชีวะ เลี้ยงตัวเองให้ได้ ไม่เป็นภาระแก่สังคม

ถ้าเจอใครที่เขายังตั้งเนื้อตั้งตัวไม่ได้ ก็ต้องคุยกับเขาว่า เป้าหมายชีวิตของคนเรา เกิดมาอย่างน้อยต้องตั้งฐานะของตัวเองให้ได้

เมื่อใดที่บุคคลดังกล่าว เขาตั้งเนื้อตั้งตัวได้ มั่นคงขึ้นมาแล้ว ค่อยบอกเขาเป็น ประการที่2 ว่า...เกิดมาเป็นคนนั้น จะแค่ทำมาหากิน เลี้ยงชีพได้ ตั้งเนื้อตั้งตัวได้ ยังไม่พอ นั่นเป็นแค่เบื้องต้น ชั้นประถม หรือชั้นอนุบาลก็ว่าได้

ถ้าจะให้ดียิ่งขึ้น...เนื่องจากว่า คนเราตายแล้วมันไม่สูญ มันยังมีชีวิตหลังความตาย ยังมีนรกมีสวรรค์อยู่หลังความตายอีก เพราะฉะนั้น นอกจากตั้งเนื้อตั้งตัวให้ได้แล้ว ต้องเตรียมปิดนรกแล้วก็เปิดสวรรค์ให้ตัวเองด้วย

ซึ่งการที่จะบอกใครว่า “ให้ปิดนรก เปิดสวรรค์ให้ตัวเองให้ได้”_ถ้าเขายังหาเช้ากินค่ำอยู่ ยังมีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจอยู่ เราคุยกับเขาตรงนี้ยังยาก แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม สนับสนุนให้เขาตั้งเนื้อตั้งตัวให้ได้ แล้วพอเห็นว่า มีแววตั้งเนื้อตั้งตัวได้ ก็เริ่มพูด เริ่มแนะให้เขารู้ว่า ชีวิตหลังความตายยังมี แล้วเมื่อเขาเริ่มสนใจ ก็เริ่มขยายความให้เขาฟังว่า “ปิดนรกทำอย่างไร เปิดสวรรค์ทำอย่างไร”

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงสอนเอาไว้ ถ้าจะปิดนรกให้ได้นั้น คนเราจะต้องหัดทำใจให้ใสให้เป็น เพราะว่าถ้าใจไม่ใส ใจยังขุ่นล่ะก็ นรกจะเปิดรอท่าอยู่ เอาว่าใจใสเลิกขุ่นกันได้แล้ว สวรรค์จะเปิดรอท่าอยู่

จากนั้น ค่อยขยายความ เมื่อเห็นว่า จังหวะได้ที่แล้ว เขาไม่เดือดร้อนในเรื่องทำมาหากินจนเกินไปแล้ว ก็บอกเขาเลยว่า คนที่จะปิดนรกให้ตัวเองได้นั้น

1.ต้องศรัทธาในคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือพูดง่ายๆ หัดฟังเทศน์ ฟังธรรมไว้บ้าง

2.ต้องหัดรักษาศีลกันบ้าง ถ้าไม่รักษาศีล เดี๋ยวจะไปทำกรรมชั่ว กรรมไม่ดีเข้า วันธรรมดา รักษาศีล5 ให้ได้ เริ่มแรก ทีละข้อสองข้อ หนักเข้า หนักเข้า เข็นให้ครบ 5ข้อให้ได้ ในที่สุดก็จะทำได้

3.มีศีลแล้วยังไม่พอ ต้องรู้จักทำบุญทำทานเสียบ้าง ตั้งแต่โตขึ้นมา เอาแต่ทำมาหากินอย่างเดียว มีแต่เอาผลประโยชน์จากโลกมาใส่ตัวอย่างเดียว มันไม่ได้ มันต้องให้กับโลกบ้าง เมื่อเป็นอย่างนี้ ก็ชวนเขาทำทาน จะทำทีละน้อย หรือทีละมาก ก็ทำเถอะ จะทำบุญทำทานกับศาสนา หรือจะทำบุญทำทานสงเคราะห์โลก ได้ทั้งนั้น ไม่ว่ากัน ขอให้ทำ

เมื่อเขามีศรัทธาในพระศาสนามาตามลำดับ รักษาศีลได้มั่นคงขึ้นมาตามลำดับ รู้จักทำทาน รู้จักเสียสละ รู้จักให้ต่อสังคม ให้กับโลกนี้มาตามลำดับ แล้วเราก็เพิ่มพูนให้เขาไปเรื่อยๆ ชวนมาวัด มาทำสมาธิ มาทำภาวนาเรื่อยๆไป ก็เป็นการเพิ่มพูนปัญญาทางธรรมให้แก่เขา ถ้าทำอย่างนี้มาเรื่อยๆ ปัญญาทางธรรมก็จะเกิด

เมื่อพอมีแววว่า ตั้งเนื้อตั้งตัวก็พอได้พอสมควร มีความเชื่อ มีความมั่นใจในคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพอสมควรแล้ว ประการที่3 ค่อยไปชวนไปนิพพาน เป้าหมายสุดท้าย ไม่ใช่เจอหน้าใครก็ชวนไปนิพพานดะไปเลยล่ะก็ เดี๋ยวจะผิดหวัง เพราะเราหวังผิดๆไป

มองภาพตรงนี้ชัดๆ แล้วค่อยๆป้อนธรรมะไปทีละคำ เหมือนป้อนข้าวป้อนนมเด็กไปทีละคำ ทีละอึก อย่างนั้น เดี๋ยวเขาก็ไปสู่เป้าหมายสูงสุดของชีวิตได้ โดยไม่ยากจนเกินไป

หลักธรรมในการคัดบุคคลที่ไม่มีคุณภาพออก

คำถาม:กราบหลวงพ่อด้วยความเคารพครับ ในอีกด้านหนึ่งครับ ถ้าเราจำเป็นจะต้องคัดบุคคลที่ไม่มีคุณภาพออก เราจะมีหลักในการตัดสินใจอย่างไรบ้างครับ

ตอบ:คุณโยม...ความจริงเมื่อตอนเอาเขาเข้ามา เราก็ว่าเราคัดแล้วล่ะนะ...ตรงนี้ ครั้งใดที่คัดคนออก ต้องโทษว่า เป็นความผิดของเราเป็นประการแรก คือ ดูคนพลาด หรือดูคนไม่เป็น ไม่ใช่ความผิดของเขาเพียงลำพัง...เอาล่ะ...เราพบว่าเขาไม่ดี แต่ขอให้รู้ด้วยว่า นั่นเป็นความผิดของเราด้วย เพราะว่า เราว่าเราคัดแล้ว แล้วเราคัดอย่างไร เขาถึงได้หลุดหูหลุดตาเรามาได้

อีกประการหนึ่ง ต้องดูด้วย เราอาจจะคัดเขามาดี ดูแล้วดูอีกก็ดีจริง แต่ว่าเมื่อมาถึงเราแล้ว เราฝึกเขาไม่ถึงขั้น แม้อย่างนี้ก็เป็นความผิดของเรา

ทีนี้...เมื่อดูว่า จำเป็นต้องคัดเขาออกเสียแล้ว ผลปรากฏว่า ขณะนี้...เขาไม่ค่อยดีเท่าที่เราหวัง หรือไม่ใช่เขาไม่ค่อยดี แต่แย่เอามากๆเลย ตรงนี้ก็ต้องทำด้วยความระมัดระวัง อย่าทำด้วยความเคียดแค้น เพราะถ้าเราจะคัดใครออกสักคน จำไว้...หากเราทำผิดพลาดนิดเดียว มีโอกาสถึงตายเชียวล่ะคุณ คุณจำไว้ คัดคนเข้าว่ายากแล้ว คัดคนออกยิ่งแสนยากหนักเข้าไปอีก

เมื่อเป็นอย่างนี้ จะคัดคนออกแต่ละครั้ง คิดแล้วคิดอีกให้ดี ไล่ความหนักหนาสาหัสไปตามลำดับว่า ควรจะกรณีอย่างไหน เอาออกก่อน-หลัง

ขั้นต้นเลย...ในการจะเอาคนออก ที่จะประจักษ์กับคนทั้งหลายว่า เขาไม่เหมาะสมที่จะอยู่ต่อไป แล้วคนอื่นก็สามารถเห็นได้ด้วย ตัวเขาก็ยอมรับด้วยว่า เขามันไม่ค่อยจะเข้าท่า

บุคคลประเภทแรก ที่พอจะคัดออกได้ง่ายหน่อย แล้วใครก็ติเราไม่ได้ คือ ผู้ที่เขาก็ไม่ค่อยจะมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่การงาน พูดง่ายๆ เช้าชามเย็นชาม พวกทำงานอย่างนี้ เช้าช้อนเย็นช้อน พวกอย่างนี้...ออกไปได้ก็ดี พรรคพวกก็อยากให้ออกอยู่แล้ว อย่างนี้อันตรายไม่เกิดกับเรา เอาออกไปเถอะ

บุคคลประเภทที่สอง คือ ผู้ที่ไม่รับผิดชอบต่อศีลธรรม กล่าวคือ เขาอาจจะรับผิดชอบต่อหน้าที่การงาน แต่ว่าศีลธรรมที่จะพึงมีกับหมู่คณะมันไม่ค่อยจะมี เช่น แอบไปกินเหล้าบ้าง หรือยืมเงินเพื่อนแล้วไม่คืนบ้าง อะไรทำนองนี้ คนพวกนี้เอาไว้ไม่ได้ จัดเป็นพวกไม่รับผิดชอบต่อศีลธรรม อย่าเอาไว้ หาทางคัดออกไปเถอะ เพราะฝึกก็ยาก

บุคคลประเภทที่สาม คือ ผู้ที่ไม่เคารพต่อกฎระเบียบ ฝีมืออาจจะดี ความรับผิดชอบการงานใช้ได้ แต่ว่า...ทำงานอยู่กับหมู่กับคณะ แล้วมักไม่เคารพกฎระเบียบ มีกฎมีระเบียบขั้นตอนอย่างนั้น...อย่างนี้ เขาก็มักข้ามขั้นตอนอยู่บ่อยๆ ทำให้หมู่คณะกระทบกระทั่ง...ตรงนี้คัดออก แต่ต้องระวังนะ มีโอกาสเดือดร้อนได้ เพราะว่าคนส่วนมากในองค์กร อาจจะไม่ทราบในความไม่เหมาะไม่ควรในสิ่งเหล่านี้ ต้องระมัดระวังให้ดี คนประเภทนี้ควร “เชิญออก” หรือ “แนะนำให้ออก” ไม่ใช่ “ไล่ออก” ไม่อย่างนั้น เดี๋ยวเดือดร้อน

บุคคลประเภทที่สี่ ประเภทนี้อันตรายแล้วเอาออกยากมากๆด้วย คือ ผู้ที่ชักนำ ไปชักชวน เพื่อนฝูง เพื่อนร่วมงานไปในทางที่ผิด ตัวอย่าง เช่น ชักชวนกันไปยกพวกตีกันกับคนอื่น ชักชวนไปเที่ยวในที่ไม่ควรเที่ยว ไม่ว่าที่ไหนก็ตามที ถ้ามีแววชักชวนในทางนี้บ่อยๆล่ะก็ คนประเภทนี้ ถ้าหาทางเชิญเขาออกมาได้แต่ต้นมือจะดี แต่ว่าขอเตือนไว้นะ...ยากมาก แล้วถ้าปล่อยเอาไว้ คนประเภทอย่างนี้จะชักชวนกันเดินขบวน ชักชวนสไตร์ท ทีแรกก็ไปเดินขบวนให้กับที่อื่น ไปๆมาๆ เดี๋ยวเถอะเดินขบวนในที่ของคุณเองนั่นแหละ บุคคลประเภทนี้เป็นบุคคลที่ต้องพึงระมัดระวัง เพราะฉะนั้นถ้าคุณไม่ดูให้ดีตั้งแต่ต้น จะมาเสียหายตรงนี้

ตรงนี้ฟ้องว่าอะไร...ฟ้องว่าจริงๆแล้ว เขาไม่ค่อยจะรับผิดชอบทั้งตัวเอง และครอบครัวของเขาเท่าที่ควรจะเป็น คนที่รับผิดชอบต่อครอบครัวดีจริงแล้ว จะไม่ทำแน่นอน ในเรื่องของชักชวนพรรคพวกเพื่อนฝูงร่วมงานในทางที่ผิด เขาจะไม่ทำ ถ้ามีอย่างนี้เมื่อไหร่ แสดงว่า คุณแย่มากเลย ไม่ได้เช็คถึงความรับผิดชอบในครอบครัวของเขาตั้งแต่ต้น

บุคคลประเภทที่ห้า ประเภทนี้ยิ่งยากต่อการที่จะคัดออก แต่จริงๆเอาไว้ไม่ได้ เป็นอย่างไร...ก็คือ ผู้ที่ใครๆก็เตือนไม่ได้ ถามว่า มีฝีมือดีหรือไม่...ดี แต่ถือตัวว่าเจ๋งมาก เพราะอย่างนั้นใครๆก็เตือนไม่ได้ เตือนก็โกรธ พวกนี้ถึงคราวจะต้องเอาออกก็ยาก...คุณแทบจะต้องกราบให้เขาออกเลย เตือนไว้ อย่าเอาออกด้วยวิธีการง่ายๆ ไม่งั้นอันตราย

เพราะฉะนั้น ดีที่สุด คือ คุณต้องคัดคนให้สุดฝีมือ แล้วก็ทดลองงานให้นานพอสมควร แล้วหาวิธีค้นให้ได้ว่า เขาเป็นมนุษย์ที่ใครเตือนไม่ได้หรือไม่ หรือถ้ามีแววว่า ทีแรกค้นอย่างไรก็ไม่เจอ ต่อมามีแววว่าจะเตือนไม่ได้ ใครเตือนไม่ได้ เหลือแต่เราคนเดียวล่ะก็...ตรงนี้หาทางยักย้ายถ่ายเทให้ดี ให้ไปอยู่ในตำแหน่งหรือในงานที่พร้อมจะยุบล่ะก็...บางทีจะรอดตัว...ถ้าไม่อย่างนั้นจะยาก

บุคคลประเภทที่หก ที่คุณจะต้องกำจัดออก คือ ผู้ที่ชอบก้าวก่ายหน้าที่ของคนอื่น...คนพวกนี้ จะมีความสามารถในการที่จะรายงานเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องของคนอื่นทั้งๆที่ไม่เกี่ยวกับตัวเอง แล้วเราก็มีความรู้สึกว่า “เออ...คนนี้เป็นหูเป็นตาเราดี” ที่ไหนได้ คนแบบนี้ชอบแต่ยุ่งเรื่องของคนอื่น คุณเองก็ระวังเอาก็แล้วกัน ถ้าคุณไม่ระวังในสิ่งเหล่านี้ตั้งแต่ต้น แล้วคุณต้องมาคัดออกตอนท้าย องค์กรของคุณจะป่วนหมดนะ แล้วคุณก็มีสิทธิ์ตายได้อีกด้วย

หลักธรรมในการพิจารณาเพื่อรับพนักงาน

คำถาม:กราบนมัสการพระเดชพระคุณหลวงพ่อ ด้วยความเคารพครับ ลูกและเพื่อนๆต่างก็เปิดบริษัทเพื่อประกอบธุรกิจ ในการนี้ต้องรับพนักงานเข้าทำงาน เราควรจะใช้หลักธรรมข้อใดในการพิจารณาเพื่อรับพนักงานครับ

ตอบ:เจริญพร...โดยทั่วไปในการคัดคนเข้ามาทำงาน จะเป็นในระดับไหนก็ตาม ส่วนมากในยุคนี้ เขาก็มักจะมองว่า มีวุฒิอย่างไร จบอันโน้น จบอันนี้ ปริญญาตรี ปริญญาโท หรือปริญญาเอก...กันบ้าง พิจารณาจากประสบการณ์ในการทำงาน...บ้าง พิจารณาจากบุคลิกลักษณะ...บ้าง อะไรทำนองนี้ บางทีก็ไล่ไปจนกระทั่งชาติตระกูลก็มี สอบสาวเข้าไป เจ็ดชั่วโคตรเลย บางทีก็สอบไปถึงการเงินการทอง ประวัติของตระกูลในอดีต

แต่ว่าจะใช้หลักอะไรก็ใช้ไป นั่นถือว่า เป็นแค่องค์ประกอบ แต่เรื่องหลักจริงๆแล้ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนให้เราคัดคนดีเข้ามาอยู่ร่วมกับเรา ในการคัดคนดีก็มีวิธีมองว่า ใครเป็นคนดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการที่จะเอาคนมาทำงาน ถือหลักง่ายๆ คนที่จะทำงานได้ดี คือ คนอย่างไร...คำตอบ คือ คนที่มีความรับผิดชอบ พูดง่ายๆ...คนดี ดีกันด้วยความรับผิดชอบ ไม่ใช่ดีเพราะมีปริญญา ไม่ใช่ดีเพราะหุ่นดี เสียงดี ชื่อดี หรือ ตระกูลดี...ไม่ใช่ เมื่อจะเอาคนมาทำงาน เพราะฉะนั้นคนจะดี ต้องดีด้วยความรับผิดชอบ

ความรับผิดชอบ มีดังนี้

ประการที่1.รับผิดชอบตนเอง

ที่เรียกว่า...รับผิดชอบต่อตนเองเป็นอย่างไร เอาขั้นต้นก็แล้วกัน ในทางศาสนา รับผิดชอบต่อตนเอง คือ รับผิดชอบต่อความเป็นมนุษย์ของตัวเอง วัดด้วยอะไร...ก็วัดด้วยศีลห้าของเขา เขาอาจจะมีความรู้ความสามารถเยอะ แต่ถ้าศีลไม่มี ถือว่าเขาไม่รับผิดชอบต่อความเป็นมนุษย์ของเขา เอาเข้ามาใกล้ตัวอันตราย จะฆ่าเราตายเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ จะหักหลังเราเมื่อไหร่ก็ไม่รู้

ประการที่2.รับผิดชอบต่อครอบครัว พ่อแม่ พี่น้อง วงศ์วาน ว่านเครือ รับผิดชอบหมด

มีความรับผิดชอบต่อครอบครัว ดูง่ายๆ ตั้งแต่เลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่หรือไม่ ถ้ามีครอบครัวแล้ว เลี้ยงลูก เลี้ยงภรรยาหรือไม่ เลี้ยงสามีหรือไม่ ถ้าเขายังปล่อยปละละเลยในสิ่งเหล่านี้...อย่าเอามาเลย

ประการที่3.รับผิดชอบต่อศีลธรรมทางเศรษฐกิจ อาจจะฟังยากสักหน่อย

รับผิดชอบต่อศีลธรรมทางเศรษฐกิจ หมายถึง ไม่ไปแตะต้องอบายมุขนั่นเอง สุรา นารี พาชี กีฬาบัตร ไม่เกี่ยวข้อง เพราะว่าสิ่งเหล่านี้ ถมไม่รู้จักเต็ม

สุรา ยาเสพติด...รู้จักกันอยู่แล้วว่าไม่ดีอย่างไร
นารี...ก็เจ้าพวกที่เที่ยวกลางคืน
พาชี...ไม่ใช่ไปแทงม้าที่สนามม้า แต่ว่าไอ้พวกนี้คือขี่ม้ากินลม ขี่รถกินลม พูดง่ายๆ ไอ้ขี้เกียจ อย่าไปเอามา
ประการสุดท้าย กีฬาบัตร...คือการพนันทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเล่นไพ่หรือว่าพนันมวย พนันบอล การพนันทุกชนิด

ไปแตะต้องกับอบายมุขทุกชนิด ได้ชื่อว่าไม่รับผิดชอบต่อศีลธรรมทางเศรษฐกิจ เพราะอย่างนั้น ใครแตะต้องสิ่งเหล่านี้ อย่าไปเอามาเลย คนพวกนี้ในใจไม่มีคิดดี คนในวงไพ่คิดอย่างเดียว จะให้ทุกคนที่เล่นไปด้วยฉิบหาย เพราะถ้าเขาไม่ฉิบหาย เราก็ไม่รวย...แล้วทั้งวงมีกี่คน...มันก็คิดแบบเดียวกัน เพราะฉะนั้นวงพวกนี้จึงเรียกว่า “วงฉิบหาย” เพราะฉะนั้นเอาพวกนี้มาร่วมด้วยไม่ได้

ประการที่4.รับผิดชอบต่อสังคม ตรงนี้เราคุ้น แต่ถ้าถามว่า “มันเป็นอย่างไร รับผิดชอบสังคม” เราอาจจะตอบกันไม่ได้

รับผิดชอบต่อสังคม คือ ไม่มีความลำเอียง คนที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ไม่ว่าจะอยู่ตรงไหน...คนพวกนี้จะเกลียดนักเกลียดหนาคือ ความอยุติธรรม ความลำเอียง ถ้าเอาคนมาใช้งาน แล้วมีความลำเอียงอยู่ในใจ เอามาใช้ไม่ได้ จำไว้ก็แล้วกัน คุณต้องสอบจนแน่ใจได้ว่า เขาไม่มีความลำเอียง คุณเอามาเถอะ

ประการที่5.รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม

รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม พูดง่ายๆ เราอยู่ในโลกนี้ ถ้าไม่ช่วยกันถนอมโลก ไม่ว่าแผ่นดินในโลกนี้ อากาศในโลกนี้ น้ำในโลกนี้ ต้นไม้ ต้นไร่ในโลกนี้ แล้วเราจะอยู่กันอย่างไร ถ้าเขามีสำนึกในการรักษาสิ่งแวดล้อมดีละก็ อย่างนั้น สมบัติทุกชิ้นที่เรามี ที่เราต้องไปเกี่ยวข้อง คนแบบนี้เขาจะช่วยเรารักษา

ทั้งห้าประการนี้ เป็นเรื่องหลัก ซึ่งแสดงถึงความรับผิดชอบ หรือเป็นตัวบ่งบอกให้เรารู้ล่วงหน้าว่า “ฝึกเขาเข้าไปเถอะ จะช้าจะเร็ว เขาจะมีความรับผิดชอบต่องานที่เราต้องการให้เขาทำ” นี่เป็นหลัก

เมื่อได้คนที่มีคุณสมบัติทั้ง 5ประการนี้ล่ะก็ เราจะฝึกขึ้น ถ้าไม่อย่างนั้นฝึกไม่ขึ้นหรอกคุณ ทีนี้เมื่อเราได้มาแล้ว ยังไม่พอนะ คุณจะต้องฝึกให้เป็นด้วย แต่เอาเถอะ...หลวงพ่อเชื่อว่า ในความสามารถของคุณ ตั้งเนื้อตั้งตัวกันมาขนาดนี้แล้ว ฝึกตัวเองมาขนาดนี้ คุณสามารถฝึกเขาได้ ยกเว้นไม่ได้ทุ่มเทในการฝึก ถ้าอย่างนั้นแม้ได้คนดีมา ก็เอามาทำอะไรไม่ได้เหมือนกัน ตรงนี้ต้องโทษคุณนั่นแหละ อย่าไปโทษเขานะ

ทานของบุคคล 4 กลุ่ม

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสจำแนกความแตกต่างกันของบุคคล 4 กลุ่ม ที่มีพฤติกรรมในการทำทานแตกต่างกันไว้ดังนี้

1. ผู้ทำทานด้วยตนเอง แต่ไม่ชวนใครทำทานเลย จะร่ำรวยแต่ขาดบริวาร ทำสิ่งใดย่อมสำเร็จโดยยาก

2. ผู้ที่ชวนคนอื่นทำทาน แต่ตัวเองไม่ทำ จะยากจนแต่มีบริวาร พรรคพวก ญาติมิตรมากมาย

3. ผู้ที่ไม่ทำทานและไม่ชวนคนอื่น จะจนทั้งทรัพย์และบริวาร

4. ผู้ที่ทำทานด้วยตนเองและชวนผู้อื่นทำทานด้วย (เพราะอยากให้ผู้อื่นได้บุญ) จะรวยทั้งทรัพย์และบริวาร มีคนคอยสนับสนุนตลอดเวลา จะทำสิ่งใดก็สำเร็จได้โดยง่าย

คำว่าทานนี้โดยทั่วไปมักเข้าใจสับสนกับคำว่าบุญ เนื่องจากเรามักจะเรียกการถวายของแด่พระภิกษุว่า ทำบุญ แต่เมื่อให้ของแก่คนยากจนหรือคนที่ด้อยก่าตน มักจะเรียกว่าทำทาน

คนยากจน vs คนจนยาก

คนยากจน vs คนจนยาก ::: DMC Dhamma Media Channel