วันพฤหัสบดีที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ทำอย่างไร ให้นักขายเป็น “ฅน” กับเขาบ้าง

ทำอย่างไร ให้นักขายเป็น “ฅน” กับเขาบ้าง (ฉบับที่ 126)

คำถามฉบับนี้เป็นของ คุณอเนก จากบางซื่อ ซึ่งมีประเด็นน่าสนใจดังนี้

ถาม เป็นผู้จัดการฝ่ายขาย รู้สึกว่าเหนื่อยเพราะบางครั้งก็จะรู้สึกว่าทีมงานขายนั้นไม่ได้ดังใจ ไม่เข้าใจในงานทั้ง ๆ ที่เรียนจบมาก็สูง บริษัทก็ทำการอบรมให้การเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง แต่ในบางครั้งรู้สึกเหมือนไม่เข้าใจ ไม่ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน จนทำให้ต้องลงไปเก็บรายละเอียดเองตลอดเวลา..

ตอบ คำถามเช่นนี้ เริ่มมีคนถามเข้ามามากโดยเฉพาะผู้ที่ทำงานในตำแหน่งของผู้จัดการฝ่ายขาย จะมีประเด็นคล้าย ๆ กันมากกว่าแผนกอื่น ๆ จึงทำให้ตั้งข้อสังเกตว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นในเรื่องของการบริหารทีมงานขาย ดูเหมือนจะมีความถดถอยอยู่ไม่น้อย ซึ่งก็จะสวนกระแสกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน หมายถึงว่าในสภาพการณ์ที่มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง มีแรงกดดันต่าง ๆ นานาเข้ามารุมเร้า ถ้าทีมงานนั้นไม่เข้มแข็งเพียงพอ ฤาจะไปสู้รบตบมือกับผู้อื่นได้อย่างไร จึงต้องกับมาวิเคราะห์ถึงเหตุแห่งปัญหา เพื่อนำมาให้ได้ซึ่งปัญญาในการแก้ไข

องค์ประกอบหลักที่จะนำมาซึ่งปัญหา หรือความสำเร็จนั้น เริ่มต้นที่ “ฅน” เพียงอย่างเดียว เพราะ “ฅน” เป็นจุดเริ่มต้นของความคิด “ฅน” เป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการ แนวการบริหารงานจึงต้องมองคนเป็น “ฅน” ซึ่งแนวคิดนี้ก็จะมีแนวคิดที่แตกต่างจากแนวคิดการบริหารแบบเดิม ๆ ที่อาจจะมองคนเป็นทรัพยากรบ้าง มองคนเป็นทุนบ้าง แต่แท้จริง “ฅน” จะเป็นอะไร ไม่ได้เลย ถ้าผู้บริหารคิดจะพัฒนาธุรกิจให้ก้าวต่อไป เป็นก้าวยั่งยืน ก็ต้องพัฒนา “คน” ให้เป็น “ฅน” นั่นเอง คำว่า “ฅน” นั้นมีความลึกซึ้งกว่า ทรัพยากร หรือ ทุนกว่ามาก เพราะ “ฅน” มีจิตวิญญาณ มีวามนึกคิด มีอารมณ์ มีความสำนึกชั่ว-ดีและมีทุกสิ่ง ทุกอย่าง จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่ากระบวนการที่จะนำมาซึ่งก้าวยั่งยืนของธุรกิจนั้น ขึ้นอยู่กับการทำอย่างไรให้ “ฅน” ของเรานั้นมีจิตวิญญาณของความเป็น “ฅน” ที่จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น มีความคิดสร้างสรรค์ และอื่น ๆ...

กระบวนการของการสร้าง “ฅน” ต้องผ่านกระบวนการของการบ่มเพาะที่มากกว่าการเรียนรู้ ผู้บริหารหลายคนยังคงมองมิติของการพัฒนา “ฅน” อยู่เพียงแค่การส่งทีมงานเข้าอบรม เรียนรู้ สร้างกลไกให้ตนเองนั้นเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้บ้าง ซึ่งก็เป็นแนวคิดที่ถูก คือทักษะด้านต่าง ๆ นั้นมีความจำเป็นในการทำงานทั้งสิ้น แต่ทักษะต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่เป็นกระบวนการการสร้าง “ฅน” ในมิติของ IQ ซึ่งก็จะนำมาซึ่งปัญหาในระยะยาวของการบริหารงาน ไม่ว่าจะมีข้อขัดแย้งในการทำงาน สาเหตุเพราะ มีความเชื่อมั่นในตนเองของแต่ละฝ่ายมากเกินไป หรือ บางคนเองก็มีความคาดหวังในสิ่งที่ตนเองอยากได้ เช่น เงินค่าตอบแทนบ้าง ตำแหน่งบ้าง และอื่น ๆ อีกมากมาย ผู้บริหารหลายคนเคยพิจารณาเวลาที่สูญเสียในการทำงานนั้น พบว่าเป็นการสูญเสียที่มาการสื่อสารแล้วไม่เข้าใจกัน การมีข้อขัดแย้งกัน การต่อรองในการทำงาน ความพึงพอใจหรือความไม่พึงพอใจในการทำงานนั้น เชื่อหรือไม่? ว่าบางองค์กรนั้น เสียเวลาดังกล่าวไปมากกว่า ครึ่งหนึ่งของการทำงาน เพราะคอยแต่ตั้งแง่ ตั้งเงื่อนไขในการทำงาน งานนี้ของฝ่ายนั้น ฝ่ายนี้ก็จะไม่ทำ และขอให้ผู้บริหารทั้งหลายพึงระลึกเสมอว่า ถ้าองค์กรใดเป็นเช่นนี้ คงไม่ต้องพูดถึงว่าก้าวต่อไปของธุรกิจของท่านนั้นจะยั่งยืนหรือไม่?.. ดังนั้น วิธีการบ่มเพาะให้ทุกก้าวของธุรกิจต่อจากนี้ไป ทำอย่างไร ให้มีความยั่งยืน...

“จิตสงบ..ปัญญาเกิด..” จึงทำให้เป็นแนวทางการบ่มเพาะคนให้เป็น “ฅน” โดยแท้จริง สร้างกลไกการบ่มเพาะ EQ โดยนำหลักศาสนาในทุกศาสนามาเป็นกลไกในการขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรม เช่นในหลายหน่วยงานนั้นเริ่มใช้แนวการบริหารเช่นนี้อย่างน่าภาคภูมิใจ เช่นการให้พนักงานสามารถลาไปปฏิบัติธรรมได้ โดยไม่ถือว่าเป็นวันลาแต่อย่างใด ก็จะเป็นวิธีที่ทำให้ทีมงานมีจิตที่สงบอย่างแท้จริง กลับมามีพละกำลังในการสร้างธุรกิจแท้จริง ดีกว่าที่จะให้อยู่สำนักงาน และมานั่งทำงานแบบจับเจ่า เฝ้าสำนักงาน เพราะกลัวนู่น กลัวนี่ ตั้งป้อมคอยสร้างปัญหานั้น ปัญหานี่อยู่ร่ำไป องค์กรทุกองค์กรต้องเร่งแก้ไขแต่เนิ่น ๆ ก่อนที่จะมีรอยร้าวในการทำงาน มีข้อขัดแย้งมากมาย และในที่สุดองค์กรจะสูญเสียคนดีมีฝีมือ และหลงเหลือแต่ขยะขององค์กรไว้ให้ดู ซึ่งก็ยากแท้จะเยียวยา ต้องส่งเข้าแดนประหารสถานเดียว เฮ่อ..! ตูละกลุ้ม..


อ้างอิง : ที่มา นสพ.เส้นทางนักขาย ปีที่ 6 ฉบับที่ 126 ปักษ์แรก ประจำวันที่ 16-29 กุมภาพันธ์ 2551

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น