วันพฤหัสบดีที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

สร้างศรัทธาให้ ทุกคนยอมรับเมื่อเป็นหัวหน้าทีม

สร้างศรัทธาให้ ทุกคนยอมรับเมื่อเป็นหัวหน้าทีม! ฉบับที่ 146

คำถามฉบับนี้มาจากคุณเอมอร อยู่ที่สะพานสาทร นี่เอง เห็นว่าเป็นคำถามที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

ถาม พึ่งเรียนจบและเริ่มเข้ามาทำงานขายเลย ได้ประมาณ 2 ปีกว่า ผลงานดีมาก ทั้งยอดขายและความสนิทกับลูกค้า เรียกได้ว่าปิดยอดการขายได้ทะลุเป้าทุกเดือน จนหัวหน้านั้นได้เลื่อนตำแหน่งให้ดูแลฝ่ายสนับสนุนการขาย เป็นผู้จัดการฝ่ายสนับสนุนฝ่ายขาย เพื่อช่วยงานฝ่ายขายให้ทำงานได้อย่างราบรื่นและทำยอดขายได้ ขณะนี้ได้ทำตำแหน่งนี้มาประมาณ 2 ปี สังเกตเห็นว่าหัวหน้าฝ่ายขาย ซึ่งเป็นผู้อาวุโสมาก ไม่ค่อยให้ความร่วมมือเท่าไหร่ และตัวหัวหน้าก็ไม่ค่อยขยัน และเป็นที่พึ่งให้กับลูกทีมได้ดี เช่นปิดมือถือ เป็นต้น ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากไม่พอใจที่ดิฉันได้เลื่อนตำแหน่งเร็วกว่าเขา แต่นั้นก็มาจากความสามารถแท้ จะทำอย่างไรดี..

ตอบ เฮ้อ! อยากถอนหายใจดัง ๆ เพราะมีคนจำนวนไม่น้อยที่เป็นดังเช่นผู้ถาม คือเพื่อร่วมงานก็ไม่ขยัน และตั้งใจเท่าไหร่ มีแต่ความเป็นผู้อาวุโส และเมื่อไม่ได้รับเลื่อนขั้น ก็ทำการตีรวน เรียกได้ว่า ทำให้แกว่งไปหมด เมือเราคิดจะไปด้านซ้าย พี่ท่านก็จะไปด้านขวา อะไร ๆ ทำนองนี้ เรียกได้ว่า น่าเบื่อสิ้นดี แต่อย่างไรก็ตาม ขอให้ผู้ถามนั้น อดทนให้มาก ๆ และคิดเสมอ ๆ ว่า กรุงโรมนั้นไม่ได้สร้างเสร็จภายในวันเดียวกัน ลองคิดดูว่า ถ้าคนในสมัยนั้นเห็นเขากำลังสร้างกรุงโรมอยู่ ทุกคนคงไม่คิดถึงความสวย แต่คงจะคิดว่าจะทำอย่างไรให้เสร็จเรียบร้อยตามแบบแผนที่วางไว้ และเมื่อสร้างเสร็จกลายเป็นความภาคภูมิใจให้กับประชาคมโลกได้ นัยตรงนี้มีความหมายว่า ทุกคนที่อยู่รอบตัวผู้ถามนั้น อาจจะเคยเห็นผู้ถามในบทบาทของการเป็นสุดยอดนักขาย ทั้ง ๆ ที่อายุยังน้อย แต่เมื่อจะต้องก้าวขึ้นมาในตำแหน่งที่สูงกว่า และที่สำคัญคือการก้าวข้ามผู้อื่นอีกจำนวนมาก จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่จะโดนคนคอยสกัดดาวรุ่งไม่มากก็น้อย จึงขอให้ผู้ถามนั้นหนักแน่นเข้าไว้ และคอยทำตามแบบแผนที่ควรจะเป็นในตำแหน่งเช่นนี้ ในที่สุดต้องเกิดการยอมรับขึ้นมาได้อย่างแน่นอน สำหรับการยอมรับในตำแหน่งเช่นนี้นั้นต้องมีการเตรียมตัวหลายประการ เพราะผู้ที่ทำงานในฐานะการเป็นผู้นำนั้นต้องมีทักษะความรู้ที่กว้างมากขึ้น กว่าเดิม และอีกทั้งต้องมีกลไกในการสร้างบารมีเพิ่มขึ้น กระบวนการของการสร้างความยอมรับนั้นสามารถที่จะสรุปเป็นประเด็นได้อย่างง่าย ๆ ดังต่อไปนี้

1) คนจะยอมรับเมื่อเป็นคนที่เข้าได้กับสังคมนั้น ๆ มีความหมายว่า ผู้ที่จะสร้างเขาเชื่อมั่นและยอมรับนั้น ต้องสามารถที่จะทำตัวกลมกลืนไปในทิศทางเดียวกันกับกลุ่มคนในสังคมนั้น ๆ เรียกได้ว่า เข้าเมืองตาหลิ่ว ให้หลิ่วตาตาม แต่ความสำคัญคือต้องยึดหลักความถูกต้องไว้เป็นที่ตั้ง ผู้นำต้องแสดงและสร้างบทพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นถึงความถูกต้อง ไม่ขัดแย้งเพื่อการเปลี่ยนแปลง แต่ต้องให้ความเชื่อมั่นเพื่อการเปลี่ยนแปลง

2) ความยอมรับเกิดจากความรู้ ความสามารถของผู้นำ เป็นการแสดงให้เห็นถึงศรัทธานั้น เป็นผลมาจากการที่ผู้อื่นนั้นมีความรู้ในศาสตร์นั้น ๆ มากกว่าผู้อื่น ทำให้ตนเองนั้นถูกยอมรับจากศักยภาพของตนเอง บทพิสูจน์ความรู้ที่ดีที่สุด คือการเริ่มต้นกระบวนการของการสอนงานให้ผู้อื่นนั้น เข้าใจเช่นเดียวกับที่ตนเองมีความรู้อยู่ การสอนงานนั้น ทำให้มีความเชื่อมั่นในระดับปฏิบัติงาน ดังนั้นผู้ที่จะสอนงานผู้อื่นได้นั้น ต้องทำการบ้านมามากพอควร

3) ความยอมรับมาจากบุคลิกภาพของตนเอง เป็นความสามารถที่มาจากการบ่มเพาะทักษะด้านการเข้าสังคม การวางตัวให้มีความเหมาะสม ซึ่งรวมไปถึงการแต่งกาย การพูดจา การใช้สายตาหรือแม้กระทั่งการเลือกน้ำหอม สิ่งเหล่านี้ ต้องให้มีความเหมาะสมตามกาลเทศะ ในฐานะของการเป็นผู้นำ

4) ความยอมรับมาจากการเข้าถึงผู้คน เป็นความเข้าใจในบริบทรอบตัวของผู้นำ ซึ่งผู้นำนั้นต้องเข้าใจในบริบทต่าง ๆ รอบตนเอง โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานให้ตน ว่าพวกเขาจะมีความเป็นอยู่เช่นไร มีความทุกข์ ความสุขอย่างไร ล้วนแต่เป็นเรื่องของความละเอียดอ่อน เช่น การที่เขาต้องเผชิญกับความทุกข์ ความสุขแล้วตัวผู้นำรู้สึกอย่างไร ให้ความสนใจในระดับใด เรื่องนี้ถ้าผู้นำทำได้ดี ก็จะเป็นบันใด ก้าวแรก ๆ ในการสร้างบารมี ให้มีการยอมรับเกิดขึ้น
หลักง่าย ๆ เหล่านี้ เป็นเรื่องที่ทุกคนที่จะขึ้นเป็นผู้นำนั้น ไม่ควรมองข้าม ขอให้เชื่อว่าถ้าคุณจะเป็นผู้ที่เก่งเลิศเลออย่างไร ในการทำงาน ก็เท่านั้น จะมีประโยชน์อะไร ถ้าไม่มีคนอยากคบหาสมาคมด้วย ทำงานก็โดนสกัดทั้งงานเล็กและงานใหญ่ เรียกได้ว่าเก่งงาน แต่ไม่เก่งคน ดังนั้นต้องเปิดใจกว้างหันมาเปิดมุมมองที่จะเข้าถึงคน สร้างวัคซีนป้องกันการขัดแย้ง และที่สำคัญที่สุดก็คือวัคซีนที่ชื่อว่า “เก่งคน” แต่ก็อีกนั่นแหละครับ ทั้งสองเก่ง ก็ยังไม่พอ เพราะต้องมี “เก่งทำ” อย่างถูกต้อง ดังนั้น ตั้งหน้า ตั้งตา ลงมือลุยนะเพ่.พ! เริ่มซะทีซิเพ่.พ.

อ้างอิง : นสพ.เส้นทางนักขาย ปีที่ 6 ฉบับที่ 146 ปักษ์แรก ประจำวันที่ 16-31 ธันวาคม 2551

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น