วันพฤหัสบดีที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2552

7 กฎของการใช้อารมณ์ในเวลางาน

7 กฎของการใช้อารมณ์ในเวลางาน

เมื่อคืนคุณนอนดึกเพราะต้องทำงานชิ้นหนึ่งให้สำเร็จ (หลังจากเพิ่งวางหูโทรศัพท์จากคนรักที่ตัดพ้อต่อว่าว่า “ดูเหมือนช่วงนี้เราจะเข้ากันไม่ได้” รุ่งเช้าของวันต่อมาคุณก็เลยออกจากบ้านสาย ที่แย่กว่านั้น การจราจรบนท้องถนนก็ไม่เป็นใจ ไม่ว่าจะเพ่งสมาธิไปขอความช่วยเหลือจากตำรวจจราจรเท่าไหร่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จอย่างที่ต้องการแต่ด้วยความเป็นมืออาชีพ สิ่งแรกที่คุณควรทำคงจะเป็นอะไรเสียไม่ได้ นอกจากการปรับโหมดอารมณ์ที่ทั้งง่วง ทั้งหิว ทั้งเหนื่อยใจให้สงบลงเมื่อถึงที่ทำงาน แต่บางครั้งบางทีมืออาชีพก็มีพลาดบ้าง และบางครั้งถึงกับเกือบตกม้าตาย เพราะมองข้ามเรื่องกฎของการใช้อารมณ์ในเวลางาน

1. คุณคือโลโก้ บริษัท อย่าวู่วาม : กฎข้อแรกที่เรากำลังจะพูดถึง คือ ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร คุณต้องระงับอารมณ์ โดยเฉพาะอารมณ์โกรธของคุณให้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อถูกท้าทายระหว่างการทำงานนอกสำนักงานของคุณเอง

2. ความขัดแย้งทำลายบรรยากาศการทำงานและไม่ทำให้คุณมีความสุข : แม้จะไม่ลงรอยกันหรือเกลียดหน้ากันมากแค่ไหน การมีช่องว่างระหว่างกัน ทำตัวออกห่างโดยเลือกที่จะไม่อยู่ใกล้คือหนทางเดียวที่จะทำให้คุณทำงานร่วมกับคู่อริได้อย่างมีความสุขที่สุดโดยที่ไม่ถูกจับจ้องหรือเพ่งเล็ง

3. การประเมินอารมณ์เป็นเรื่องที่ทำได้ : เมื่อเหตุการณ์จบลง และแน่ใจว่าได้แก้ไขในสิ่งที่ผิดพลาดหรือสิ่งที่คนอื่นเข้าใจผิดกับตัวคุณให้ผ่านพ้นไปแล้ว คุณน่าจะประเมินเหตุการณ์เหล่านั้นอย่างถี่ถ้วนที่สุดเท่าที่จำทำได้ เพื่อหาคำตอบให้กับตัวเองว่าสาเหตุของความโกรธหรือความอ่อนไหวของคุณคืออะไร (คน ระบบ หรือสถานการณ์) นอกเหนือไปจากนั้น คุณจะต้องรู้ว่าคุณมีดีกรีหรือระดับความโกรธมากแค่ไหน (เช่น คุณโมโหมากเกินไปหรือไม่เมื่อบริกรทำสูทอาร์มานีของคุณเปื้อนไวน์ในระหว่างงานเลี้ยงรับรองครั้งที่ผ่านมา)

4. สร้างเงื่อนไขให้กับตัวเองเสียใหม่ : เมื่อทราบแล้วว่าคุณ “Sensitive” หรือโกรธได้ง่ายๆ กับเรื่องหนึ่งเรื่องใด สิ่งที่ทำได้ คือ ใช้บทเรียนของคุณมาแก้ปัญหานั้นๆ เช่น ถ้าคุณต้องโมโหจนควันออกหูทุกครั้งกับคนคนเดิมที่ต้องประสานงาน ทางออกที่ดีคือพูดกันให้น้อยที่สุดแล้วใช้การติดต่อทางอีเมล์ช่วยในการประสานงาน หรือเมื่อถูกมองในแง่ลบ คุณจะต้องสงบสติอารมณ์แล้วแสดงทรรศนะด้วยความสุภาพ ชี้แจงว่าคุณไม่ได้เป็นอย่างที่ทุกคนคิด แทนการใช้อารมณ์โดยปราศจากการเรียบเรียง

5. ผิดแล้วผิดอีกไม่ได้ : หลังจากที่โดนลงอาญาจากเพื่อนฝูงและเจ้านาย (ก็เล่นไปปล่อยหมัดใส่เพื่อนตัวแสบเสียกำปั้นใหญ่) แม้ว่าจะเป็นฝ่ายถูกในเรื่องของเหตุผล คุณก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะทำผิดซ้ำแล้วซ้ำอีกได้ ดังนั้น สิ่งที่คุณควรทำคือการยับยั้งชั่งใจ และวางตัวเป็นเพื่อนร่วมงานที่ดีของทุกคนในโหมดที่เคยเป็น

6. หลบไปตั้งหลักหรือทำสมาธิในที่ที่ไม่มีใครเห็น : บางครั้งการจัดการหับอารมณ์ก็หนักหนาสาหัสสุดๆ สำหรับใครบางคนอย่างไรก็ตาม การเดินหนีปัญหาชั่วคราวด้วยการออกไปหามุมสงบเพื่อนั่งสมาธิ หรือปล่อยใจให้ว่างก็เป็นทางออกที่เหมาะสมไม่ว่าจะเป็นห้องโล่งว่าง ร้านกาแฟ หรือขับรถออกไปกินลมสักพัก เมื่อสมองปลอดโปร่งแล้วเรื่องทุกอย่างก็คลี่คลาย

7. บอกกับทุกคนว่า “โอเค ผมยังไหว” : โดยธรรมชาติของมนุษย์ อารมณ์ต่างๆ เป็นสิ่งที่มนุษย์ด้วยกันสามารถสัมผัสและเข้าใจได้ ไม่ว่าคุณจะพยายามปกปิดแค่ไหน ยกเว้นก็แต่ผู้ร้ายปากแข็งและนักแสดง

ไม่ใช่เพียงแค่อารมณ์โกรธ หลายครั้งที่เหนื่อยจากการทำงานหรือต้องเผชิญกับปัญหาส่วนตัว อารมณ์เหล่านี้จะถูกสะท้อนออกมาให้เห็นจากแววตาและสีหน้าของคุณโดยที่ไม่ได้ตั้งใจ สิ่งที่คุณควรทำคือ บอกทุกคนว่ายังไหว เพื่อสร้างกำลังใจให้กับทุกคนในการทำงาน และไม่เปิดช่องว่างให้กับศัตรู ถ้าจะเปรียบก็คงจะไม่ต่างอะไรกับการเล่นไพ่โป๊กเกอร์ที่คุณต้องนิ่งเข้าไว้เพื่อไม้ให้คนในสงสัยว่ามีไพ่อะไรอยู่ในมือของคุณ

หมายเหตุ: ที่มา : http://www.magickidschool.com/articledetail.php?id=93&type=16

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น