วันอังคารที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2552

เพลี้ยแป้ง

เพลี้ยแป้งชื่อวิทยาศาสตร์ Pseudococcus sp.
รูปร่างลักษณะและชีวประวัติ

เพลี้ยแป้งตัวเต็มวัยตัวเมียมีขนาดลำตัวยาวประมาณ 3 มม. สีเหลืองอ่อน ลักษณะอ้วนสั้นมีผงสีขาวปกคลุมลำตัว วางไข่เป็นกลุ่ม ๆ ละ 100-200 ฟองบนผล กิ่ง และใบ ตัวเมียหนึ่งตัวสามารถวางไข่ได้ 600-800 ฟอง ในเวลา 14 วัน ไข่จะฟักอยู่ในถุงใต้ท้องตัวเมียประมาณ 6 - 10 วัน จึงจะออกเป็นตัวอ่อน ตัวอ่อนที่ฟักออกจากไข่ใหม่ ๆ มีสีเหลืองและไม่มีผงสีขาว จะคลานออกจากกลุ่มไข่หาที่เหมาะสมที่จะกินอยู่ ตัวเมียจะมีการลอกคราบจำนวน 3 ครั้ง ด้วยกันและไม่มีปีก ส่วนตัวผู้จะลอกคราบ 4 ครั้ง มีปีกและมีขนาดเล็กกว่าตัวเมีย ตัวเมียจะวางไข่ภายหลังจากการลอกคราบครั้งที่ 3 ภายในเวลา 1 ปี เพลี้ยแป้งสามารถขยายพันธุ์ได้ 2 - 3 รุ่น ในระยะที่ไม่มีพืชอาหารหลัก เพลี้ยแป้งจะอาศัยอยู่ใต้ดินตามรากพืช เช่น รากหญ้าแห้วหมู โดยมีมดซึ่งอาศัยกินสิ่งขับถ่ายของเพลี้ยแป้งเป็นพาหะนำไป

ความสำคัญและลักษณะการทำลาย

เพลี้ยแป้งดูดกินน้ำเลี้ยงจากบริเวณกิ่ง ใบ ช่อดอก ผลอ่อน ผลแก่ มีมดเป็นพาหะช่วยพาไปตามส่วนต่าง ๆ ของพืช ส่วนของพืชที่ถูกทำลายจะแคระแกรนและเกิดราสีดำ โดยเฉพาะผลที่มีเพลี้ยแป้งทำลายอยู่มักจะเป็นที่รังเกียจของผู้บริโภค แม้ว่าจะไม่ให้เนื้อทุเรียนเสียหายก็ตาม




การแพร่กระจายและฤดูกาลระบาด
ระยะที่พบ
ระหว่างเดือนมีนาคม - พฤษภาคม
ระยะควรระวัง ระหว่างเดือนมีนาคม - พฤษภาคม

ศัตรูธรรมชาติ
แตนเบียนเพลี้ยแป้ง Unidentified sp. ด้วงเต่าปีกลายหยัก Menochilus sexmaculatus ด้วงเต่าโรโดเลีย Rodolia sp. ด้วงเต่าสคิมนัส Scymnus sp. ด้วงเต่าฮอร์โมเนีย Harmonia octomaculata ด้วงเต่าสีส้ม Micraspis sp. แมลงช้างปีกใส Chrysopa sp. แมลงช้างปีกใสแปดจุด Ankylopteryx octopunctata แมลงช้างปีกสีน้ำตาล Hemerobius sp. ต่อหลวง ต่อรัง Vespidae

การป้องกันและกำจัด
ระดับเศรษฐกิจ : ผลถูกทำลายร้อยละ 20 ต่อต้น หลังการตัดแต่งผลครั้งที่ 3

ติดตามสถานการณ์เพลี้ยแป้งและศัตรูธรรมชาติ
- สำรวจ 10% ของต้นทั้งหมด 7 วัน/ครั้ง ในช่วงมีนาคม - พฤษภาคม
- ตรวจนับ 5 ผล/ต้น ทั้งเพลี้ยแป้งและศัตรูธรรมชาติ
- ประเมินประสิทธิภาพของศัตรูธรรมชาติในการควบคุมเพลี้ยแป้ง และปริมาณของผลที่ถูกเพลี้ยแป้งทำลาย

ชีววิธี
- อนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติไว้ควบคุมเพลี้ยแป้งตามธรรมชาติ :

วิธีเขตกรรม
- ตัดผลที่ไม่สมบูรณ์และถูกเพลี้ยแป้งทำลายไปเผาทำลาย ก่อนการตัดแต่งผลครั้งที่ 3
- ไม่ควรปลูกพืชอาศัยของเพลี้ยแป้งในบริเวณสวนทุเรียน เช่น น้อยหน่า พู่ระหง กาแฟ ไผ่

วิธีกล
- ฉีดพ่นน้ำให้เพลี้ยแป้งหลุดร่วงออกจากผล

สารเคมี
- ใช้ผ้าชุบสารฆ่าแมลงพันไว้ที่กิ่งหรือโคนต้น
- โรยสารฆ่าแมลงคาร์บาริล 85% WP รอบ ๆ โคนต้นเพื่อป้องกันมดนำเพลี้ยเข้าไปยังส่วนต่าง ๆ ของต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น