วันอังคารที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ความโลภ : เงินต่อเงิน

หากพิจารณาเฉพาะผลตอบแทนเป็นใครก็อดใจไม่ไหว ลงทุนแค่ 650 บาท อีก 25 วันได้คืน 1,200 บาทและอีก 50 วันรับอีก 800 บาท เบ็ดเสร็จจ่าย 650 บาทได้เงินคืน 2,000 บาท คิดเป็นผลตอบแทน 307.69% ดีกว่าฝากแบงก์ไม่รู้กี่เท่า แต่ถ้าพิจารณาจากความเป็นจริงแล้ว ผลตอบแทนที่มากขนาดนี้ภายในระยะเวลา 50 วันนั้นหากเป็นลงทุนในกิจการที่สุจริตคงไม่มีที่ไหนทำได้ ตรงนี้กลับไม่มีใครคิด

สินค้าที่นำมาใช้จะเป็นอะไรก็ได้ เช่น น้ำมัน ข้าวสาร บัตรเติมเงิน อัตราแลกเปลี่ยน อาจมีสินค้าตัวอย่างให้เห็น แต่จริงๆ แล้วตัวสินค้านั้นไม่มีความหมายเลย เพราะเป้าหมายที่แท้จริงของแชร์ลูกโซ่คือการหาสมาชิกเข้ามาให้มากที่สุด โดยที่เจ้าของที่เปิดกิจการนี้จะเป็นผู้รับประโยชน์สูงสุด คนที่เข้ามาทีหลังมีหน้าที่จ่ายเงินให้กับเจ้าของและคนที่เข้ามาก่อนเป็นอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ เมื่อไม่สามารถหาคนมาเพิ่มได้อีกเงินที่จะมาจ่ายให้กับคนที่เข้ามาก่อนก็ไม่มี สุดท้ายก็ปิดบริษัทหนีทุกราย

การเปิดบริษัทประเภทนี้ทำได้ง่าย เพียงแค่ขอจดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ ก็เปิดดำเนินการได้ แม้ว่าบางบริษัทที่มีปัญหาจะตั้งขึ้นมาเมื่อ 19 กรกฎาคม 2550 ที่ผ่านมาก็ตามเปิดได้ 2-3 เดือนก็ต้องปิดตัวลง ทุนจดทะเบียนที่ระบุไว้ว่ากี่ล้านบาทนั้นก็เป็นแค่ตัวเลขชำระจริงๆ อาจจะไม่ถึงพันหรือหมื่นบาทก็ได้

ที่สำคัญคือ ไม่มีหน่วยงานใดที่ทำหน้าที่ติดตามว่าเมื่อจัดตั้งบริษัทแล้วได้ดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ แม้บางแห่งจะระบุว่าเพื่อดำเนินธุรกิจขายตรง แต่เป็นขายตรงจริงๆ หรือเข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ เพราะตัวแชร์ลูกโซ่แอบอิงกับหลักเกณฑ์ของการขายตรง แต่พฤติกรรมในการดำเนินธุรกิจนั้นมุ่งที่การหาเงินจากตัวสมาชิกเป็นหลัก แตกต่างกับขายตรงที่เน้นขายสินค้าหรือเพิ่มสมาชิกก็เพื่อให้ขายสินค้า

ในการดำเนินการตามกฎหมายนั้น ตามพระราชกำหนดการกู้ยืมที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนและพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ การเอาผิดจะต้องมีองค์ประกอบครบคือมีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้คนเข้ามาเล่นเกิน 10 คน มีสัญญาว่าจะจ่ายผลตอบแทนสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสถาบันการเงิน และไม่มีการดำเนินการจริงหรือทำธุรกิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และจะต้องมีผู้เสียหาย

ดังนั้น กว่าจะมีผู้เสียหายนั่นคือเจ้าของกิจการนั้นหอบเงินหนีไปแล้ว แม้ว่าระหว่างที่ดำเนินการอยู่ก็เข้าไปทำอะไรไม่ได้ เพราะผู้ที่เข้ามาร่วมลงทุนกำลังเพลิดเพลินกับผลตอบแทนที่ได้รับ หากเข้าไปก็จะกลายเป็นต้นเหตุที่ทำให้ธุรกิจเขาเจ๊ง ดังนั้นแชร์ลูกโซ่นี้จึงไม่ตายไปจากเมืองไทย เพียงแต่จะบูมมากหรือน้อยในช่วงใดเท่านั้น

ที่ผ่านมาทำได้เพียงแค่เตือนเท่านั้น ส่วนคนที่เข้าไปลงทุนก็มีทั้งกลุ่มที่ไม่รู้และกลุ่มที่รู้ โดยเฉพาะกลุ่มที่รู้นั้นก็หวังจะเข้าไปเป็นสมาชิกในลำดับแรกๆ เพื่อให้กลุ่มหลังๆ เข้ามาสร้างรายได้ให้กับตัวเอง กว่ากิจการจะปิดพวกเขาก็ลอยตัว

“คาถาเสกเงิน” ฮอลลีวูดอาย

นอกจากนี้ยังมีการฉ้อโกงผู้คนที่หลากหลายออกไป ซับซ้อนมากขึ้น น่าเชื่อถือมากขึ้น เช่นการส่งจดหมายไปที่บ้านหรือ SMS เข้าโทรศัพท์มือถือว่าท่านเป็นผู้โชคดีได้รับรางวัลใหญ่ แต่ต้องโอนเงินเพื่อชำระค่าธรรมเนียมก่อน หรือการเชิญชวนให้เข้ามาทำงานบนเว็บไซต์ ซึ่งมีทั้งจริงและเข้าข่ายแชร์ลูกโซ่

บางรายก็ใช้รูปแบบของไสยศาสตร์เข้ามา เช่น ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีผู้เสียหายไปไม่น้อยเช่นกัน โดยจัดรูปแบบเป็นพิธีกรรม “คาถาเรียกเงิน”

ผู้เสียหายรายหนึ่งเล่าให้ฟังว่า มีคนนอกพื้นที่กลุ่มหนึ่งเข้ามาติดต่อกับคนท้องที่ เพื่อชักชวนชาวบ้านบริเวณนั้นให้มาพิสูจน์พิธีกรรมดังกล่าว โดยสถานที่ทำพิธีกรรมนั้นเป็นบ้านของชาวบ้านรายหนึ่งที่ตั้งห่างออกไป พื้นที่รอบตัวบ้านเป็นสวนยาง ไม่มีบ้านคนอื่นบริเวณใกล้เคียง มีการจัดตั้งโต๊ะหมู่บูชาเหมือนพิธีกรรมทั่วไป มีคนแต่งกายคล้ายพราหมณ์มาเป็นคนสวด

“ทุกอย่างเหมือนในหนัง มีลมพัดแรง ฟ้าร้อง เมื่อสวดไปสักพักก็มีเงินปลิวลงมา คนที่ไปก็งงว่าเงินหล่นมาจากไหน วันนั้นเงินที่ปลิวลงมาคนที่ไปชวนมาก็มอบให้กลับบ้านได้ 500 บาทบ้าง 2,000 บาทบ้าง”

พวกเขายังบอกอีกว่าจะทำพิธีอีกครั้งหนึ่ง แต่ถ้าใครจะเข้ามาร่วมพิธีจะต้องเสียค่าเข้าในพิธี 8,000 บาท แต่เขารับประกันว่าจะต้องได้เงินกลับคืนมาไม่น้อยกว่า 2 เท่า และต้องลงชื่อเสียจ่ายเงินไว้ก่อนถึงวันจริง

คนที่ได้เงินในวันนั้นก็กลายเป็นนักประชาสัมพันธ์ชั้นดี บอกข่าวนี้ให้กับคนอื่น ๆ มีคนจำนวนไม่น้อยกว่า 30 คนที่แสดงความสนใจพร้อมทั้งจ่ายเงิน 8,000 บาทต่อหุ้นเพื่อเข้าร่วมพิธีหรือจะจ่ายมากกว่า 8,000 บาทก็ได้ เมื่อถึงวันจริงมีใครเห็นคนกลุ่มนั้น แม้กระทั่งเจ้าของบ้านซึ่งเป็นคนที่ชาวบ้านรู้จัก เหลือไว้แต่ตัวบ้านเท่านั้น

ตอนนี้ยังไม่มีการแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของอุปนิสัยของคนภาคใต้ หากมีการแจ้งความก็เท่ากับเป็นการประจานตัวเองว่า “โง่” กลุ่มผู้หลอกลวงจึงลอยตัวไปพร้อมเงินหลายแสนบาท

กลุ่มงานป้องปรามเงินนอกระบบกล่าวเพิ่มเติมว่า ตราบในที่สภาพเศรษฐกิจยังเป็นอย่างนี้เหล่ามิจฉาชีพก็ยังคิดช่องทางฉ้อโกงใหม่ๆ ขึ้นมาได้ตลอดเวลา รูปแบบอาจเปลี่ยนไป มีความแนบเนียนมากขึ้น ขั้นตอนซับซ้อนขึ้น ดังนั้นประชาชนควรจะต้องไตร่ตรองให้ดีถึงเรื่องผลตอบแทนที่สูงกว่าความเป็นจริง หรือต้องระมัดระวังในเรื่องการใช้จ่ายเงินผ่านบัตรเครดิตและบัตรเอทีเอ็ม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น