วันอังคารที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

กลโกงของบัตรเครดิต

สำหรับกลุ่มคนทำงานในเมืองส่วนใหญ่แล้วแก๊งมิจฉาชีพจะเลือกฉกทรัพย์จากเหยื่อกลุ่มนี้ด้วยการดูดเงินออกมาจากบัตรเครดิตและบัตรเอทีเอ็ม ด้วยวิธีการที่แยบยลและกรรมวิธีอันสุดไฮเทคแม้แต่หน่วยงานที่รับผิดชอบอย่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติถึง กับกุมขมับเลยทีเดียว

พล.ต.ต.วิสุทธิ์ วาณิชบุตร ผู้บังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี (ปศท.) บอกว่า ต้องยอมรับว่าเหล่ามิจฉาชีพในปัจจุบันมีรูปแบบการทำมาหากินที่แยบยลมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะในส่วนที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นเครื่องมือ ซึ่งเท่าที่ ปศท.ได้เฝ้าติดตามกลุ่มมิจฉาชีพกลุ่มนี้พบว่ามีรูปแบบที่แยบคายมากขึ้นโดยเฉพาะกลโกงการใช้บัตรเครดิต และบัตรเอทีเอ็ม

สำหรับกลโกงการใช้บัตรเครดิตจะมี 2 รูปแบบ คือ รูปแบบที่หนึ่งกลุ่มมิจฉาชีพจะใช้ “นกต่อ” ที่เป็นพนักงานร้านอาหาร ปั๊มน้ำมัน หรือร้านค้าให้นำข้อมูลของลูกค้าไปให้ โดยจะใช้วิธีการรูดบัตรเครดิตสองครั้ง ครั้งแรกเป็นการจ่ายเงินของลูกค้าตามปกติ ครั้งที่สองจะดูดข้อมูลหรือสกิมเมอร์ ของลูกค้าเก็บไว้เพื่อนำไปใส่กับบัตรเครดิตปลอมที่มีอยู่จากนั้นก็จะนำไปรูดสินค้า โดยจะเน้นสินค้าประเภทจิวเวลรี ทองคำ โทรศัพท์มือถือ ซึ่งการนำบัตรปลอมไปใช้จ่ายนั้นส่วนใหญ่จะใช้ “มือปืนรับจ้าง” เป็นตัวหลักในการดำเนินการโดยจะแบ่งส่วนแบ่งให้ร้อยละ 20-25 เพราะถ้าหากเกิดพลาดถูกจับเรื่องก็จะจบอยู่ที่มือปืนรับจ้างเท่านั้น

รูปแบบที่ 2 เป็นรูปแบบที่อันตรายมาก เพราะกลุ่มมิจฉาชีพจะเล็งจับกลุ่มชาวต่างประเทศที่เดินทางมาเมืองไทย นั่นคือการติดต่อกับ “นกต่อ” ตามโรงแรมระดับ 5 ดาว เพื่อดูดเอาข้อมูลการใช้บัตร ก่อนจะขอสำเนาหนังสือเดินทาง และสลิปการใช้บัตรเครดิต เพื่อดูลายเซ็น จากนั้นทำบัตรปลอมขึ้นพร้อมลายเซ็นที่เหมือนกับเจ้าของเดิมและให้มือปืนรับจ้างไปรูดสินค้า หรือบางรายก็นำบัตรเครดิตปลอมไปขายตามท้องตลาด ซึ่งราคาบัตรเครดิตปลอมจะขึ้นอยู่กับคุณภาพบัตรว่า มีความใกล้เคียงกับของจริงแค่ไหน โดยบัตรปลอมที่เหมือนมากๆ เรียกว่า “บัตรปลอมโซนยุโรป” จะมีราคากว่า 1 แสนบาทต่อใบ แต่มีวงเงินรูดซื้อสินค้าได้เป็นหลักล้าน ส่วนราคาที่ถูกที่สุดเท่าที่พบอยู่ในประเทศไทย สนนราคาประมาณ 6,000 บาทต่อใบ แต่จะสามารถรูดซื้อสินค้าได้เท่าไรก็ต้องไป “วัดดวง” กันเอาเอง

“ที่ผ่านมามีการจับกุมผู้กระทำผิดได้ยากมากสาเหตุ เพราะเป็นการกระทำของแก๊งอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งไม่ได้ลงมือในประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นการเฉพาะ แต่จะลงมือเวียนในหลายประเทศ เช่น ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น รวมทั้งในยุโรป และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีข้อจำกัดในเรื่องข้อมูลเกี่ยวกับคนร้าย เช่น ทะเบียนราษฎร หมายเลขบัตรประชาชน ทะเบียนรถยนต์ ฯลฯ เพราะคนร้ายไม่ใช่คนไทย และไม่ได้อาศัยอยู่ในประเทศไทย ซึ่งแก๊งเหล่านี้น่าจะมีมานานกว่า 10 ปีแล้ว โดยในระยะแรกจะใช้วิธีการง่ายๆ คือ ขโมยบัตรเครดิตแล้วนำบัตรมาปลอมแปลงลายเซ็นต์

ต่อมาก็พัฒนาการขโมยข้อมูลบัตรเครดิต โดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า “สกิมเมอร์” เพื่อก๊อบปี้ข้อมูล จากนั้นก็จะทำบัตรและปลอมลายเซ็นขึ้น วิธีการนี้จะมีพนักงานของร้านค้าบางแห่งรู้เห็นเป็นใจด้วย

สำหรับวิธีการล่าสุดเท่าที่พบคนร้ายนำมาใช้ คือ การนำเอาอุปกรณ์มาดูดข้อมูลจากชุมสายโทรศัพท์ โดยจะต้องตรวจสอบดูว่า มีข้อมูลรหัสบัตรเครดิตผ่านเข้ามาในชุมสายนั้นๆ หรือไม่ ซึ่งวิธีการนี้ต้องอาศัยช่างเทคนิคที่มีความเชี่ยวชาญสูงเพื่อตรวจสอบดูว่ามีข้อมูลรหัสบัตรเครดิตไหลเข้ามาในชุมสายโทรศัพท์หรือไม่ จากนั้นก็จะทำการ “แทป” เพื่อดักจับรหัสบัตรเครดิตที่จะมาพร้อมกับ “ซีเคียวริตี โค้ด” (รหัสลับ ซึ่งเป็นระบบรักษาความปลอดภัยของธนาคาร)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น