วันจันทร์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ดร. วรภัทร์ ภู่เจริญ ... คนวางหมากบนกระดานชีวิต

แต่ละย่างก้าวในชีวิตที่ไม่รู้แน่ว่าจะชักพาไปสู่ความสำเร็จหรือล้มเหลว เชื่อแน่ว่าแต่ละคนให้ความสำคัญกับมันแตกต่างกัน ในขณะที่หลายคนปล่อยปละชีวิตตามโชคชะตา กลับมีบางคนมุ่งมั่นที่จะเดินไปข้างหน้าให้ได้ตามเส้นทางที่ตนกำหนด

ดร. วรภัทร์ ภู่เจริญ คนไทยที่มีคุณสมบัติอย่างที่องค์การนาซ่าต้องตามหาอยู่ถึง 3 ปีจึงจะพบและมอบทุนให้เขาเรียนจนจบด็อกเตอร์ ตลอด 7 ปีที่ทำงานอยู่กับนาซ่า หรือรวมแล้ว 10 ปีที่อยู่อเมริกาทำให้เขาได้สั่งสมประสบการณ์มากมาย จนถึงวันหนึ่งเขาก็หิ้วกระเป๋ากลับมาเมืองไทย เพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่

ปัจจุบันเขาตั้งบริษัทชื่อ อริยชน ตัวเขาเองทำหน้าที่เป็นวิศวกรที่ปรึกษาเน้นในด้านการบริหารองค์กรและระบบบริหารจัดการให้กับองค์กรขนาดใหญ่และกลางหลายแห่ง เช่น ปูนซิเมนต์ไทย , แบตเตอรี่ 3K , บริษัทไทยเทพรส และทำหน้าที่เป็นผู้ประเมินและตรวจยุทธศาสตร์ให้กับกระทรวงวิทยาศาสตร์และกระทรวงแรงงาน และนอกเหนือจากเวลาเหล่านี้ เขายังเป็นอาจารย์สอนวิปัสสนากรรมฐานให้กับพนักงานบริษัทและบุคคลทั่วไป

ในวัยที่ย่าง 46 ปี หากถามเขาถึงหลักกิโลและเส้นทางชีวิตที่ผ่านมาว่าเป็นเพราะความบังเอิญชักพาให้เป็นไปหรือเปล่า เขาจะตอบว่า "ไม่" และจะสำทับอย่างอารมณ์ดีว่า "เรื่องอย่างนี้ไม่มีฟลุ๊ค" ฉะนั้นเมื่อบวกทั้งมุมมองวิธีคิด หยาดเหงื่อแรงงาน และมันสมองที่เขาคอยลับให้แหลมคมอยู่เสมอ คำหนึ่งที่หลุดออกมาระหว่างสนทนาบ่อยครั้งคือ ผมเป็นนักวางยุทธศาสตร์...

"วิธีคิดของผมไม่ค่อยเหมือนใครตั้งแต่เล็กแล้ว ผมมองอย่างที่ฝรั่งเรียกว่า "what if" หรือ "ถ้า" ถ้าเป็นอย่างนี้จะทำยังไง แล้วถ้าไม่ใช่ละจะทำยังไง จะมอง what if ตลอด มองทางแยก ผมคิดนะว่าเวลายืนอยู่หน้าประตู แค่เลือกจะเลี้ยวซ้ายกับเลี้ยวขวาชีวิตผมเปลี่ยนได้เหมือนกัน ซึ่งในเมื่อทางเลือกเป็นสิ่งสำคัญทำไมเราไม่เลือกวางแผนตั้งแต่ต้นว่าเราจะไปทางไหน"

หลังจากจบปริญญาตรีทางด้านเคมีเทคนิคจากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.วรภัทร์ตัดสินใจไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา โดยขอทางบ้านเฉพาะเงินค่าตั๋วเครื่องบินก่อนจะไปตายเอาดาบหน้าด้วยการหางานประเภทล้างจานหรือแม้กระทั่งเป็นโชเฟอร์ขับรถแท็กซี่ในนิวยอร์กหาเงินส่งตัวเองเรียน โดยมีคุณปู่เป็นแรงบันดาลใจอย่างที่เขาพร่ำบอก กับตัวเองในยามลำบากว่าขนาดปู่หอบเสื่อผืนหมอนใบมาจากไหหลำยังสามารถเติบโตร่ำรวยขึ้นมาได้เลย เพราะฉะนั้นเขาก็ต้องทำได้

ซึ่งแม้จะออกตัวว่าไม่ใช่คนเรียนเก่ง แต่ไม่นานเขาก็หาทุนเรียนได้จนจบปริญญาโททางด้านวิศวกรรมวัสดุศาสตร์

"ผมโง่มาตั้งนานตอนอยู่จุฬาฯ ผมได้ 2.6 เอง แต่พอไปอเมริกาแล้วผมไปจับหลัก how to learn หรือ วิธีเรียนรู้ ไปเจออาจารย์พูดไม่เก่ง สุดยอดพูดคือไม่ต้องพูด ในเมื่อเขาพูดไม่เก่งเราก็ต้องตั้งคำถามเก่ง คือผมไปแหย่แกถามแกว่าอันนี้อะไร ๆ มันอยู่ที่การตั้งคำถามของเราต่างหาก"

เรียนปริญญาโทอยู่ 2 ปี พอจบก็เกือบที่จะต้องเก็บกระเป๋ากลับเมืองไทยอยู่แล้วหากไม่ได้อาจารย์ที่ปรึกษาชาวอินเดียที่ดร.วรภัทร์ฝากตัวใกล้ชิดพาไปรู้จักกับองค์การด้านอวกาศที่ชื่อว่านาซ่า

"จบโททำงานที่นาซ่า เผอิญเขาต้องการคนอย่างผมอยู่พอดี คือหนึ่ง จบตรีวิศวะเคมี สอง ปริญญาโทด้านโลหะ สาม มีความรู้ด้านชีววิทยา ซึ่งตอนเรียนปริญญาโทผมศึกษาเรื่องเหล็กดามในกระดูกคน แล้วตอน มศ. 5 ผมก็เป็นประธานชมรมชีวะของเซนต์คาเบรียล ได้ชีวะ A หมดเลย อีกข้ออย่างคือต้องพร้อมที่จะเปลี่ยนสาขามาเป็นวิศวกรเครื่องกล เขาจะให้เรียนต่อเอกทางนี้"

"กลางวันทำงาน ตอนเย็นก็ไปเรียน เรียนด็อกเตอร์อยู่ 7 ปี ที่นานเพราะเปลี่ยนสาขาเลยต้องปรับพื้นฐานเยอะ ต้องเรียนเซรามิกด้วย เขาเรียกผมจับฉ่ายวิศวกร เพราะคนที่จะเป็นดีไซเนอร์ออกแบบอะไรใหม่ ๆ ได้มันต้องรู้วิศวกรครบทุกสาขา เขาต้องการคนที่รู้รอบพุง อย่างผมนี่เขาหามา 3 ปี"

การเป็นแค่นักศึกษาปริญญาโทที่ทำงานท่ามกลางคนระดับด็อกเตอร์ในองค์การนาซ่าเป็นเรื่องกดดันสำหรับเขา แต่เขาก็ฟันฝ่ามาจนได้ ยิ่งไปกว่านั้นช่วงอยู่ที่นาซ่า 7 ปี เขาก็ยังไปคว้าได้รางวัลจากงานวิจัยเรื่องเครื่องยนต์ไอพ่น จึงทำให้เขากลายเป็นที่ยอมรับมากขึ้น

เหตุการณ์ที่ดำเนินมาถึงจุดนี้ก็เปลี่ยนบทบาทเขาจากโรบินฮู้ดสัญชาติไทยที่ดิ้นรนหาส่งเงินตัวเองเรียน มาเป็นวิศวกรมือรางวัลขององค์การนาซ่า เมื่อเป็นดังนั้นเรื่องฐานะความเป็นอยู่ก็ไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป เรียกว่าเข้าขั้นอยู่ได้อย่างสบาย ณ ตรงนั้น

...แต่แล้ววันหนึ่งเขาก็ตัดสินใจกลับเมืองไทย ด้วยเหตุผลที่ต้องดูแลพ่อแม่ที่ชราลงทุกวัน อีกทั้งก็ตามคนรักกลับมาเมืองไทย นอกจากนี้คือไม่อยากอยู่ใช้ชีวิตบั้นปลายเป็นคนแก่เหงา ๆ ที่อเมริกา

"กลับมาอยู่เมืองไทยรายได้เปลี่ยนเลย แต่ผมคิดอย่างนี้ว่าคนจน ๆ งี่เง่าอย่างกูไปเหยียบอเมริกาโดยเริ่มต้นจากศูนย์ ภายใน 10 ปีกูสามารถสร้างฐานะที่อเมริกาได้ ด้วยสมองอย่างกู อยู่เมืองไทยสิบปีกูก็ต้องมีได้"

ส่วนลู่ทางที่จะพาไปให้ถึงเป้าหมาย เขาวางไว้แล้วว่าจะต้องเริ่มต้นจากการเป็นอาจารย์ก่อนอื่น

"ผมมองอย่างนี้ว่าที่สูงเท่านั้นจึงจะเห็นรอบตัว เพราะฉะนั้นถ้าผมเข้าไปทำงานในโรงงานใดโรงงานหนึ่งเท่ากับผมเข้าหุบเขาไปเลย ชีวิตผมอับเฉาทันที ยกตัวอย่างคุณไปอยู่โรงงาน A คุณก็ต้องไปอยู่กับเขาจันทร์ถึงเสาร์ คุณจะไม่เห็นอะไรเลยนอกจากโรงงาน A แล้วคุณจะวุ่นวาย เหมือนหนูเข้าไปปั่นอยู่ในถัง และเวลาผ่านไปอย่างรวดเร็วจนอายุ 40 กว่า คุณก็พบว่าคุณไปไหนไม่ได้ คุณก็กลายเป็นขี้ข้าให้กับคนตระกูลหนึ่งซึ่งเป็นเจ้าของบริษัท อย่างนั้นคุณเสร็จเลย"

ดังนั้น ดร.วรภัทร์จึงเริ่มจากวางยุทธศาสตร์ชีวิตของตัวเองเมื่อย้ายกลับมาอยู่เมืองไทยด้วยการยอมรับเงินเดือน 7,000 บาทสำหรับตำแหน่งอาจารย์ที่จุฬาฯ

"จากนั้นก็วางแผน วางมาร์เก็ตติ้งว่าทำยังไงคนอย่างผมจะได้เป็นที่ปรึกษาใหญ่ ตะกายดาวแต่ต้องตะกายดาวอย่างมียุทธศาสตร์ ต้องสำรวจตัวเองก่อนว่าสันดานตัวเองเป็นยังไง จากนั้นผมนั่งเช็คคนในวงการ อาจารย์ที่ดัง ๆ ในประเทศไทยมีกี่คน คนไหนใกล้เกษียณ แล้วเขามีลูกศิษย์ไว้กี่คน นั่นคือผมคำนวณแล้ว"

การวางแผนที่ชีวิตอย่างเป็นระบบของดร.วรภัทร์ ทำให้เขาก้าวหน้าไปอย่างเป็นขั้นตอนตามแผนที่วางไว้

"พอวิชา Quality กำลังจะบูม คนเก่งวิชานี้ในเมืองไทยเด่น ๆ มีไม่เกิน 5 คน แต่เนื่องจากมาร์เก็ตมันใหญ่ ทำไมเราไม่เป็นคนที่หก แล้วผมก็มานั่งดูจุดอ่อนของทั้ง 5 คน เขาเรียนจบทางด้านวิศวะอุตสาหการ ไม่รู้ทางด้านเคมี ไม่รู้ทางด้านเครื่องกล รอบรู้สู้ผมไม่ได้ ในขณะเดียวกัน พอทำตรงนี้ได้ที่ปั๊ปก็อย่าประมาท ศาสตร์ทางด้าน Management ตัวใหม่ ๆ มาเรื่อย ๆ คอยเปิดหูเปิดตา และคบเด็กเสมอ อย่างเกม Raknarok ผมยังเล่นเลย ต้องอย่าสร้างแก๊ป"

ซึ่งไม่เพียงเป็นนักเล่นเกมคอมพิวเตอร์ตัวยงเท่านั้น สมัยก่อนหากมีเวลาว่างเขาชอบเล่นบริดจ์ หมากรุก อ่านนิยายกำลังภายใน ศึกษาประวัติศาสตร์ อีกทั้งยังคลั่งไคล้ในการดูฟุตบอลด้วย

"เวลาดูฟุตบอลผมไม่ได้เชียร์ข้างไหน ผมดูว่าถ้าผมเป็นโค้ชผมจะแก้เกมส์ยังไง อย่าลืมนะนักยุทธศาสตร์ต้องดูเรื่องการแก้เกม เรื่อง Management ถ้าผมเป็น อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ผมจะทำยังไง ถ้าเป็นโรนินโญ่ช็อตนี้จะทำยังไง แล้วในนัดต่อไปผมจะทำยังไงต่อ ผมจะมองในแง่ Strategy"

ซึ่งในแง่นี้เกมกับชีวิตก็ไม่ต่างกันที่ ดร.วรภัทร์ให้ความสำคัญอย่างมากกับการวางแผนว่าจะทำอะไรต่อไป และเขามักจะมองอะไรข้ามช็อตเสมอ

"เหมือนเวลาสอนลูกศิษย์ อาจารย์บางคนชอบด่าลูกศิษย์แหลกลาญ แต่ผมไม่ใช่นะ ผมไม่รังแกลูกศิษย์ ผมสอนเต็มที่และก็แทบจะรู้ก่อนสอบแล้วใครเกรด A เกรด B ใครที่ B ผมก็ช่วยให้เขาได้ A ลองคิดดูสิว่ามันจะรักคุณมั้ย แล้วเดี๋ยวนี้พวกนี้ไปนั่งในบริษัทใหญ่ ๆ 15 ปีผ่านไป ลูกศิษย์ผมตอนนี้ก็อายุ 35 อายุขนาดนี้จะไปอยู่ตำแหน่งไหนล่ะ คือเป็นตัวชงเรื่องแล้วไง กำลังเป็นผู้กุมอำนาจตัดสินใจว่าจะเชิญใครเป็นที่ปรึกษา ซึ่งอย่างนั้นแล้วมันจะบอกบอสให้เชิญใครล่ะ"

ดร.วรภัทร์ยืนยันว่าเรื่องพวกนี้เขาคำนวณไว้แต่แรก ซึ่งในแต่ละจังหวะชีวิตเขาจะมองไปข้างหน้าในระยะ 5 ปี 10 ปีตลอด และสำหรับตอนนี้เขามองยาวไปถึงบั้นปลายชีวิตทีเดียว โดยหาที่ทางให้ตัวเองเสร็จสรรพ...ว่าเขาจะไปอยู่ "วัด"

"ปณิธานผมอยู่ที่นิพพาน ผมมองว่าไม่ต้องถึงกับจนแต่ก็ไม่ถึงกับรวย มีเวลาส่วนหนึ่งไปปฏิบัติธรรม เพราะการปฏิบัติธรรมเป็นการลงทุนข้ามชาติ นักวางกลยุทธ์อย่างผมมองข้ามช็อตเลย โลกหน้ามีไม่มีไม่รู้ แต่ในแง่การบริหารความเสี่ยง ถ้าเกิดมีแล้วไม่ทำอะไรเลย...ซวย หรือถ้าไม่มีก็ไม่เห็นมีอะไรเสียหาย กูกับมึงก็เท่ากันคือไปอยู่ในหลุม แต่โอกาสที่มันมีมันสูง ยิ่งมานั่งกรรมฐาน ความเชื่อมั่นผมร้อยเปอร์เซ็นต์เลยว่าชาติหน้ามีแน่นอน"

แม้จะวางแผนข้ามชาติข้ามภพไปแล้ว แต่เมื่อได้สัมผัสกับการปฏิบัติธรรม ดร.วรภัทร์ ยอมรับว่าสิ่งที่ได้รับตอนนี้คือ...ความสุข

ทุกวันนี้ ดร. วรภัทร์ ยังคงไปทำงานตามบริษัทที่รับให้คำปรึกษาตั้งแต่วันอังคารถึงวันศุกร์และนับไปถึงวันเสาร์ในบางสัปดาห์ ควบคู่ไปกับการปฏิบัติภาวนาและดูแลเว็บไซต์ managerroom.com ส่วนเวลานอกเหนือจากนั้นคือเวลาที่เขามอบให้กับครอบครัว โดยเฉพาะกับลูกสาวทั้งสองคนที่อยู่ในวัยร่าเริง

สำหรับมุมมองที่มีต่อชีวิต หากถามนักยุทธศาสตร์เช่นเขา เขาให้ความเห็นว่า

"นักยุทธศาสตร์จะมองชีวิตในแง่ Effective ในแง่ Efficiency จะมองชีวิตคล้าย ๆ จะ think out the best จากมันให้ได้ ทำอย่างไรให้ดีที่สุด ทำอย่างไรจะใช้ชีวิตให้คุ้มค่า แต่ละชั่วโมงที่ผ่านไป ผมต้องถามตัวเองตลอดว่าวันนี้ได้อะไร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น