ยาระบาย (Laxatives)
มีการนำยาระบายมาใช้เพื่อให้เกิดการถ่ายอุจจาระ มีทั้งพวกที่ใช้ยาเป็นประจำในขนาดที่ใช้เป็นยาระบายตามปกติ และพวกที่ใช้ในขนาดสูงเพื่อการขับไล่อาหารออกจากทางเดินอาหารภายหลังการรับประทานเข้าไปมาก โดยมีการใช้ในขนาด 3-10 เท่าของขนาดที่ใช้บรรเทาอาการท้องผูก ซึ่งขนาดดังกล่าวก่อให้เกิดอาการท้องเดิน ร่างกายสูญเสียสมดุลของน้ำและเกลือแร่ เกิดอันตรายได้ บางรายใช้ทันทีหลังการรับประทานอาหารและบางรายใช้ก่อนนอนเพื่อให้เกิดการขับถ่ายในตอนเช้า จากการศึกษาในผู้ป่วย bulimia ซึ่งผู้ป่วยประเภทนี้จะมีความรู้สึกหิว รับประทานไม่รู้จักอิ่ม ในขณะเดียวกันก็กลัวว่าตนเองจะอ้วน ให้ผู้ป่วยเหล่านี้ได้รับยาระบายชนิดต่างๆ เปรียบเทียบกับการทำให้อาเจียน(self-induced -vomiting) พบว่าการใช้ยาระบายให้ผลไม่ดีเท่ากับการทำให้อาเจียน กล่าวคือ การทำให้อาเจียนสามารถรับประทานอาหารได้มากกว่าผู้ที่ใช้ยาระบาย 2-3 เท่าโดยน้ำหนักตัวไม่เพิ่มขึ้น เมื่อดูผลการใช้ยาระบายกับปริมาณแคลอรี่ที่ร่างกายดูดซึมเข้าไปทั้งในผู้ป่วย bulimia และคนปกติ พบว่ายาระบายลดการดูดซึมสารอาหารได้เพียงประมาณ 12% จึงจัดได้ว่าไม่ให้ผลในการใช้เพื่อการลดน้ำหนักในรายที่รับประทานอาหารมากเกิน และยังทำให้ร่างกายเกิดการสูญเสียน้ำและอิเล็กโตรไลต์ได้มากด้วย มีข้อมูลแสดงถึงการนำยาระบายมาใช้ผิดวัตถุประสงค์ในสตรีที่อายุยังน้อย เพื่อใช้ลดน้ำหนัก ในรายงานนี้พบว่ามีผู้ใช้ยาทุกวันถึง 0.4% และใช้ทุกเดือน 4% ในจำนวนนี้ไม่รวมผู้ที่เพียงแต่เคยใช้ ซึ่งมีสูงถึง 4% เช่นกัน ส่วนการใช้ยาระบายแบบผิดวัตถุประสงค์เพื่อการลดน้ำหนักในผู้ป่วย bulimia พบว่ามีการใช้ทุกวันสูงถึง 15.8% เมื่อไม่นานมานี้มีผู้รวบรวมข้อมูลการใช้ยาระบายแบบผิดวัตถุประสงค์เพื่อการลดน้ำหนักทั้งในคนทั่วไปและในผู้ป่วย bulimia พบว่ามีผู้เคยใช้สูงถึง 4.18% ของคนทั่วไปที่ศึกษา ส่วนผู้ป่วย bulimia มีการใช้สูงถึง 14.94% การใช้ยาระบายแบบผิดวัตถุประสงค์เพื่อการลดน้ำหนักและการใช้ยาระบายเป็นเวลานานก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกายได้หลายอย่าง ได้แก่ 1. เกิดภาวะโปแตสเซียมในเลือดต่ำ(hypokalemia) ก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกายหลายอย่างรวมทั้งทำให้เกิดภาวะไตวายและเกิด rhabdomyolysis ได้ ผู้ป่วยจะมีอาการปากแห้ง อ่อนเพลีย วิงเวียน เฉื่อยชา ปวดกล้ามเนื้อ เกิดตะคริว ปัสสาวะน้อย ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นเร็วและผิดจังหวะ ฯลฯ 2. ผลเสียต่อลำไส้และการขับถ่าย 2.1 กล้ามเนื้อลำไส้สูญเสียการบีบตัว ทำให้ต้องใช้ยาระบายเป็นประจำและเกิดการติดยา 2.2 ลำไส้อักเสบ มีเลือดออกในลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่ ถ่ายออกมามีเลือดปน 2.3 ชั้นเยื่อเมือกบุลำไส้ใหญ่มีสีดำ(melanosis coli) เกิดเนื่องจากการใช้ยาระบายกลุ่ม anthraquinone เป็นเวลานาน ดังเช่นมีรายงานที่เกิดขึ้นกับหญิงรายหนึ่งที่ใช้ยากลุ่มดังกล่าวนานถึง 20 ปี เนื่องจากท้องผูกเรื้อรังอย่างไรก็ตามการเกิด melanosis coli ดังกล่าวนี้ ปัจจุบันยังไม่พบความ จำเป็นที่จะต้องใช้ยารักษาหรือให้การผ่าตัด 2.4 เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งที่ลำไส้ใหญ่ เช่น ยากลุ่ม anthraquinone 2.5 ท้องเสียเรื้อรัง เกิดขึ้นได้ในบางรายที่ใช้ยาระบาย 2.6 เกิดท้องผูก และ reflex peripheral edema เนื่องจากการหยุดใช้ยาระบาย ภายหลังการใช้มาเป็น เวลานาน 3. ไตทำงานผิดปกติ เกิดปัญหาเกี่ยวกับไตและการขับถ่ายปัสสาวะ บางรายเกิดภาวะไตวายเนื่องจากมีภาวะ โปแตสเซียมในเลือดต่ำและร่างกายสูญเสียน้ำไปมาก มีรายงานการเกิดนิ่วในทางเดินปัสสาวะ เนื่องจากการใช้ยา bisacodyl แล้วทำให้เกิดการสูญเสียน้ำและอิเล็กโตรไลต์ในทางเดินอาหารจนทำ ให้เกิดการถ่ายปัสสาวะน้อยแบบเรื้อรัง ทำให้เกิดก้อนนิ่วดังกล่าว ซึ่งมีส่วนประกอบเป็นพวกกรดยูริก และ ammonium acid urate 4. ผลเสียอื่น ๆ 4.1 พิษต่อระบบเลือด มีการศึกษาในสัตว์ทดลองโดยใช้หนูถีบจักร พบว่าการให้ phenolphthalein ในขนาดสูงเป็นเวลานาน 13 สัปดาห์ รบกวนการสร้างเม็ดเลือด 4.2 พิษต่อระบบสืบพันธุ์ ศึกษาในหนูถีบจักรเช่นเดียวกับที่กล่าวในข้อที่แล้ว พบว่า phenolphthalein กดการเจริญของอัณฑะและการสร้างตัวอสุจิ มีจำนวนตัวอสุจิที่ผิดปกติมากขึ้น 4.3 วิตกกังวล ในผู้ป่วย bulimia ซึ่งโดยปกติมีความวิตกกังวลเกิดขึ้นอยู่แล้วพบว่าเมื่อใช้ยาระบายยิ่งทำให้มี อาการมากขึ้น จนอาจต้องใช้ยาระงับความวิตกกังวล 4.4 Rhabdomyolysis ซึ่งเกี่ยวเนื่องจากการเกิดภาวะโปแตสเซียมในเลือดต่ำด้วย ดังกล่าวแล้วข้างต้น 4.5 การใช้ยาระบายอาจทำให้เกิดตับอ่อนทำงานผิดปกติ และ metabolic alkalosis ได้การที่คนติด การใช้ยาระบายนั้น เป็นผลมาจากทั้งด้านร่างกายและจิตใจ กล่าวคือ การที่ยาระบายออกฤทธิ์กระตุ้นลำไส้ ทำให้ลำไส้เกิดการเคยชิน จำเป็นต้องใช้ยาจึงจะเกิดการถ่ายอุจจาระ นอกจากนั้นประกอบกับผลทางจิตใจที่เชื่อว่าเมื่อมีการขับถ่ายอุจจาระออกไปจะเป็นการสูญเสียอาหาร และน้ำ ทำให้น้ำหนักตัวลดได้ ในความเป็นจริงดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่ายาระบายช่วยลดปริมาณแคลอรี่ที่ร่างกายได้รับลงไม่มากนัก คือ ประมาณ 12% ด้วยเหตุนี้การรักษาผู้ที่ติดการใช้ยาระบาย จึงประกอบด้วย 1. ทำความเข้าใจว่ายาระบายไม่ได้ช่วยลดน้ำหนักจามที่ต้องการและยังก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกายได้มาก 2. ทำความเข้าใจว่า เมื่อหยุดใช้ยาระบาย ในระยะอรกจะเกิดท้องผูกและเกิดการคั่งของของเหลวในตัว แต่การคั่งของของเหลวนี้ไม่เหมือนกับการคั่งของไขมันในร่างกาย 3. ส่งเสริมการรับประทานอาหารที่มีเส้นใยอาหารสูง เพื่อลดอาการท้องผูก 4. เพิ่มการออกกำลังกาย เพื่อช่วยในการควบคุมน้ำหนักที่ดี ช่วยลดอาการท้องผูกและการบวมน้ำด้วย 5. หากไม่มีการถ่ายอุจจาระใน 3 วันหลังหยุดใช้ยาระบาย อาจใช้กลีเซอรีนทางทวารหนัก หากยังมีปัญหา เรื่องการถ่ายอุจจาระอยู่เรื่อยๆ อาจใช้พวกที่ช่วยเพิ่มกากอาหารในลำไส้ (bran-fiber bulking agent)
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น