วันศุกร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ของขวัญจากพ่อแม่ถึงลูกในเทศกาลส่งความสุข

เมื่อถึงเทศกาลส่งความสุข คุณพ่อคุณแม่อาจกังวลใจว่าจะหาซื้ออะไรให้ลูกดี วันนี้ผู้เขียนมีของขวัญที่ไม่ต้องซื้อหามาด้วยเงินทอง แต่เป็นของขวัญมีค่าอย่างยิ่งกับลูก โดยมีวิธีทำง่ายๆดังนี้

1. บอกรักด้วยสายตา
สายตาที่คุณมองดูลูกน้อย สื่อความในใจของคุณถึงลูกได้ดีกว่าคำพูดใดๆ เริ่มต้นสูดลมหายใจเข้าลึกๆ แล้วมองดูลูกน้อยด้วยความชื่นชม พร้อมส่งยิ้มอย่างเบิกบานให้ลูกสักหนึ่งนาที เด็กทุกคนอยากให้พ่อแม่มองเขาอย่างชื่นชมเช่นนี้ทุกๆ วัน

2. วลีแห่งความรัก

วางมือจากทุกอย่างสักครู่ แล้วมองเข้าไปในดวงตากลมใสของลูก และพูดกับเขาว่า “แม่รักหนูมากขึ้นทุกวันเลย” หรือ “หนูเป็นเด็กที่น่ารักที่สุดในโลก” แม้จะเป็นคำพูดเดิมๆ แต่ถ้าถูกกลั่นกรองออกมาจากใจ คำพูดนั้นย่อมเป็นดั่งเสียงดนตรีอันไพเราะ ที่ชโลมจิตใจลูกน้อยให้สดชื่นเบิกบาน

3. เชื่อมความเห็นอกเห็นใจ
ในวันที่แสนวุ่นวาย หากลูกน้อยต้องการกำลังใจอย่างเร่งด่วน ก็อย่ารีรอที่จะปลอบโยนเขาด้วยความห่วงใย เช่น ถ้าลูกท้อแท้เพราะทำการบ้านไม่ได้ คุณอาจให้กำลังใจเขาว่า “การบ้านข้อนี้อาจยากไปสักหน่อย ลูกคงต้องใช้เวลาอีกนิด พ่อแม่รู้ว่าหนูหงุดหงิด แต่พยายามอีกนิดนะจ๊ะ หนูต้องทำได้แน่ๆ”

4. วางแผนร่วมกัน
ก่อนที่ลูกจะต้องจากคุณไปโรงเรียน หรือคุณจะต้องจากลูกไปทำงาน ให้บอกลูกล่วงหน้าถึงแผนการที่จะทำร่วมกันในตอนเย็นหรือในวันหยุดที่จะมาถึง ให้เขาได้มีส่วนร่วมในการวางแผนและแสดงความคิดเห็น แล้วเขาจะรอคอยเวลานั้นอย่างใจจดใจจ่อและมีชีวิตชีวา ข้อสำคัญคือพ่อแม่ก็ต้องรักษาคำพูดที่ให้ไว้ด้วย

5. นวดเบาๆ
การนวดเบาๆ ที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า หรือส่วนต่างๆ ตามร่างกายลูกน้อย เป็นวิธีที่สามารถส่งผ่านความรักจากใจของคุณไปสู่ใจของลูกได้ นอกจากนี้ การนวดเบาๆ ยังช่วยบำบัดอาการเจ็บป่วยทางกาย และเยียวยาอาการทางใจได้ด้วย

6. ฟังอย่างตั้งใจ
พูดคุยและรับฟังลูกน้อยอย่างตั้งใจ เพราะบางครั้งเขาอาจอยากแบ่งปันความสุขที่มีอยู่ให้คุณได้รับรู้และร่วมมีความสุขไปกับเขา หรืออาจต้องการคำปลอบโยน และอยากให้คุณช่วยแบ่งเบาความทุกข์ที่อยู่ในใจ การรับฟังลูกน้อยอย่างตั้งใจ สามารถทำให้เขารับรู้ถึงความรักและความเอาใจใส่ที่คุณมีให้เขาอย่างแท้จริง

7. ให้กำลังใจ
ไถ่ถามทุกข์สุขของลูก ว่าเขามีเรื่องกังวลใจบ้างหรือเปล่า ถ้าลูกมีเรื่องทุกข์ใจ คุณควรให้กำลังใจลูกด้วยการพูด การสัมผัส หรือการส่งสายตา เพื่อบอกว่าคุณห่วงใยเขาเสมอ การทำเช่นนี้จะช่วยให้ลูกน้อยรู้สึกอุ่นใจว่ามีคนที่เขารักอยู่เคียงข้าง จะทำให้เขามีความมั่นใจยิ่งขึ้น สามารถฟันผ่าอุปสรรค และขจัดความกังวลใจให้หมดสิ้นไปได้

8. ผลงานที่ภาคภูมิใจ
นำผลงานศิลปะหรือชิ้นงานอะไรก็ได้ที่เป็นฝีมือของลูกน้อย มาติดโชว์ไว้ตามจุดต่างๆ ของบ้าน เช่น ติดไว้ที่ตู้เย็น หรือนำมาใส่กรอบวางไว้ในห้องรับแขก ให้ทุกคนได้ชื่นชม เมื่อลูกเห็นว่างานของเขาได้รับความสนใจ และคนในครอบครัวเห็นคุณค่า เขาก็จะมีกำลังใจอยากทำให้ดีขึ้นกว่าเดิม ซึ่งช่วยส่งเสริมให้เขาเป็นเด็กที่กล้าแสดงออก และภาคภูมิใจในตนเอง

9. เล่นจั๊กจี้
ลูกน้อยจะหัวเราะเอิ๊กอ๊ากอย่างชอบใจ ถ้าคุณแกล้งจั๊กจี้พุง เกาฝ่าเท้า หรือเกาคอลูก แต่อย่าแหย่มากเกินไป เพราะการทำเช่นนี้จะเป็นการทรมานลูกมากกว่าที่จะแหย่ให้เขาสนุก แต่ถ้าคุณเล่นอย่างพอดี ลูกน้อยจะติดใจและมาขอให้คุณแกล้งจั๊กจี้เขาอีกอย่างแน่นอน

10. ขี่คอ
เด็กเล็กๆ จะพออกพอใจมากเมื่อได้ขี่คอผู้ใหญ่ ได้ชื่นชมทิวทัศน์รอบตัวจากมุมที่เขาไม่เคยเห็นมาก่อน ลองให้ลูกน้อยขี่คอคุณ เขาจะเอื้อมมือไขว่คว้าไปในอากาศอย่างสนุกสนาน และจะภูมิใจมากที่ตอนนี้เขาตัวสูงกว่าใคร

11. วันแรกของหนู
เล่าให้ลูกน้อยฟังถึงความเป็นมาของเขา เช่น เล่าว่าตอนที่แม่ตั้งท้อง แม่มีความสุขมากแค่ไหน แม่พูดอะไรกับหนูบ้างตอนหนูอยู่ในท้อง เล่าว่าเขาเกิดที่ไหน เกิดกี่โมง และอาจพาเขาไปดูโรงพยาบาล หรือพาไปเยี่ยมจังหวัดบ้านเกิด เพื่อให้ลูกน้อยได้รู้ความเป็นมาของตัวเอง และได้รู้ว่าเขามีค่าสำหรับคุณเพียงใด

12. กระดานสื่อรัก
หากระดานไวท์บอร์ด หรือกระดานดำเล็กๆ มาสัก 1 อัน ติดเอาไว้ตรงที่ลูกจะมองเห็นได้ชัดเจน แล้วเขียนข้อความน่ารัก ๆ หรือคำชมเชยลงไปบนนั้น เช่น “แม่รักรอยยิ้มของหนู” “ผมหนูนุ่มเหมือนเส้นไหม” หรือ “ลูกพ่อหล่อที่สุด” อ่านออกเสียงให้เขาฟังด้วย เขาจะได้อ่านตาม และปลื้มไปกับข้อความนั้น จนต้องวนเวียนมาอ่านซ้ำแล้วซ้ำอีก

13. ล่าสมบัติบอกรัก
ชวนลูกน้อยเล่นเกมล่าสมบัติ ซึ่งก็คือการค้นหาคำบอกรักสั้นๆ นั่นเอง เช่น “พ่อแม่รักหนูที่สุดในโลก” โดยเขียนลายแทงหรือแผนที่ง่ายๆ ที่ลูกสามารถเข้าใจได้ จะเขียนเป็นภาษาสัญลักษณ์ หรือเขียนเป็นปริศนาให้ลูกตีความก็ได้ ให้ลูกเริ่มหาจากห้องหนึ่งไปอีกห้องหนึ่ง จนพบข้อความบอกรัก กิจกรรมนี้ช่วยย้ำเตือนถึงความรักที่คุณมีต่อลูก อีกทั้งยังฝึกให้เขาได้สังเกต หัดตีความ ฝึกการแปลสัญลักษณ์เป็นคำพูด และฝึกเชาว์ปัญญาอีกด้วย รับรองว่าลูกน้อยจะรบเร้าขอเล่นเกมนี้อีกแน่นอน

14. กระจกมหัศจรรย์
เขียนข้อความบอกรักติดไว้ที่กระจกห้องน้ำ เวลาลูกน้อยแปรงฟันตอนเช้า เขาจะได้อ่านข้อความนั้นไปด้วย หรืออาจวาดรูปหัวใจสีแดงดวงใหญ่ ติดไว้ที่ประตูบ้าน ให้ลูกได้เห็นก่อนไปโรงเรียน เขาจะได้ไม่รู้สึกว้าเหว่เมื่อต้องจากคุณไปโรงเรียน และจะได้มั่นใจว่า เมื่อกลับถึงบ้าน จะพบคุณอีกแน่นอน

15. กอดรวมมิตร
ชวนเด็กๆ เข้ามากอด คุณปู่คุณย่า คุณตา คุณยาย คุณพ่อ คุณแม่ พี่เลี้ยง( สมาชิกทุกคนในบ้าน) มากอดกันเป็นวงกลมนานๆ เพื่อถ่ายทอดความรักและความอบอุ่นให้แก่กันและกัน โดยที่คุณคลายอ้อมกอดจากลูกเป็นคนสุดท้าย ลูกน้อยจะรู้สึกว่าเขาได้รับความรักอย่างเต็มอิ่มทีเดียว

ของขวัญเหล่านี้เป็นของขวัญที่ไม่ต้องไปซื้อหามาด้วยเงินทอง แต่ก็เป็นของขวัญที่มีค่าซึ่งจะอยู่ในความทรงจำของเด็กไปนานแสนนาน หากคุณพ่อคุณแม่มีของขวัญอย่างอื่นที่มีคุณค่าต่อความรู้สึกของเด็กๆเช่นนี้ ก็สามารถเข้ามาแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมกันได้นะคะ

8 วิธีลดความเครียดให้แก่เด็ก

1. การให้เด็กได้ออกกำลังกาย การออกกำลังกายที่ให้เด็กได้เคลื่อนไหวร่างกาย เช่น การกระโดด ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน ไม่เพียงแต่จะส่งเสริมให้เด็กมีการเจริญเติบโตทางร่างกายเหมาะสมตามวัย แต่จะทำให้เด็กมีจิตใจสดชื่นและช่วยลดความตึงเครียดได้ เพราะขณะออกกำลังกายร่างกายจะได้รับออกซิเจนมากขึ้น การไหลเวียนของโลหิตดีขึ้น สมองได้หยุดคิดเรื่องที่เครียดชั่วคราว และภายหลังการออกกำลังกายแล้วร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนแห่งความสุขออกมา ทำให้รู้สึกคลายความเครียด

2. การทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว ครอบครัวควรมีเวลาในการทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อเป็นการพักผ่อนหย่อนใจ เช่น อ่านหนังสือให้ลูกฟัง ปลูกต้นไม้ ให้ลูกได้ช่วยทำงานบ้านเล็กๆ น้อยๆ หรือทำอะไรก็ได้ที่ครอบครัวชื่นชอบ ทำแล้วเพลิดเพลินมีความสุข ทำให้เด็กๆ ลืมเรื่องเครียดได้อีกทั้งยังทำให้เกิดความอบอุ่นในครอบครัวด้วย

3. การพูดอย่างสร้างสรรค์ พูดในทางบวก คุณพ่อคุณแม่ควรให้ความสำคัญกับการพูดจากับลูกให้มากคือการพูดในทางบวก การชมเชยลูก การให้กำลังใจ เช่น “เก่งจังเลย” “สวยจัง” “ทำได้เยี่ยมไปเลย” เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องสอนลูก ควรใช้คำพูดที่สุภาพ ใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ ทำให้เกิดบรรยากาศที่ดีและช่วยให้ความสัมพันธ์ของคุณและลูกมีความสุขมากขึ้น

4. การแสดงอารมณ์อย่างเหมาะสม การให้ลูกเรียนรู้ที่จะแสดงอารมณ์ออกมาอย่างเหมาะสมเป็นเรื่องจำเป็น เช่น ไม่ควรตามใจเด็กมากเกินไป อาจให้เด็กร้องไห้บ้าง แล้วเมื่อเด็กหยุดร้องไห้ ก็อธิบายเหตุผลให้เด็กได้ทราบถึงข้อดีข้อเสีย เพราะการร้องไห้เป็นการระบายความเครียดได้ดีอย่างหนึ่ง เด็กจะได้ไม่เก็บความเครียดไว้

5. พ่อแม่ควรมีความยืดหยุ่นในการทำกิจวัตรประจำวัน ไม่ควรทำกิจกรรมที่รีบเร่งหรือเร่งรัดเด็กเกินไป แต่ควรฝึกให้ลูกรู้จักวินัยและมีความรับผิดชอบ โดยพ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีในการสอนเด็ก วันหยุดให้เด็กได้พักผ่อน ทำกิจกรรมที่เด็กชอบ การเรียนศิลปะ ดนตรีกีฬาที่พอเหมาะ จะทำให้เด็กมีความสุขมากขึ้น

6. การยอมรับในความสามารถของเด็ก และ ไม่ควรบังคับให้เด็กทำในสิ่งที่ยังไม่พร้อม เช่น การสอนให้คัด ก.ไก่ ข.ไข่ตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 4 ปี การให้นั่งเรียนอยู่ที่โต๊ะเรียนเป็นเวลานานเกินไป เป็นต้น

7. เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นควรหาสาเหตุก่อนเพื่อทำการแก้ไข ก่อนที่จะลงโทษเด็ก ควรถามถึงเหตุผลที่เด็กกระทำสิ่งนั้นว่าคืออะไร? ทำไมจึงทำ? เมื่อเราทราบสาเหตุแล้วจะทำให้เราเข้าใจการกระทำของเด็ก ส่งผลให้เราสามารถพูดคุยและสอนเด็กได้อย่างถูกต้องและส่งเสริมให้เด็กได้แก้ไขในสิ่งที่เกิดขึ้นว่ามีผลดีหรือเสียอย่างไร

8. การให้เด็กได้พบกับประสบการณ์การเรียนรู้ที่ไม่อันตราย การรู้จักความผิดพลาดบ้าง ทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ รู้จักปรับตัว และรู้จักแก้ไขปัญหาได้

หลัก 5 ให้ สำหรับคุณพ่อยุคใหม่

สำหรับภาคปฏิบัติที่คุณพ่อยุคใหม่จะต้องใส่ใจและให้ความสำคัญ ก็คือการให้ ซึ่งมี 5 ข้อดังนี้

1. ให้ความรัก ความปรารถนาดี การที่เด็กจะรู้สึกว่าตนเองมีค่าเป็นการยากที่เกิดจากการคิดขึ้นได้เอง แต่จะเกิดจากท่าทีของคนใกล้ชิดที่แสดงออกต่อเขา ทั้งทางวาจาและน้ำเสียง สายตา ท่าทาง การถามไถ่สารทุกข์สุขดิบ แสดงความเป็นห่วงเป็นใย เด็กจึงจะสามารถรู้สึกดีต่อตัวเองได้ รู้สึกว่าตนเองมีค่าได้ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของบุคลิกภาพและสุขภาพจิตที่ดี

2. ให้เวลา ความผูกพันของคนเรา ไม่สามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน ซึ่งการปฏิสัมพันธ์นั้นต้องอาศัยเวลา ไม่สามารถเกิดขึ้นได้โดยเพียงคำพูดว่าฉันรักเธอ แต่ไม่มีเวลามีกิจกรรมร่วมกันเลย พัฒนาการด้านจิตใจและร่างกายของลูกเป็นสิ่งที่รอไม่ได้ ถ้าไม่ได้รับสิ่งที่จำเป็นในแต่ละช่วงวัย การพัฒนาก็จะไม่สมบูรณ์ เมื่อขาดแล้วก็จะผ่านเลยไปเหมือนสายน้ำ การจะย้อนกลับมาแก้ไขทำได้ยากมาก

"พ่อจำนวนมากเมื่อลูกยังเล็กคิดว่าของสร้างเนื้อสร้างตัวก่อน เมื่อฐานะดีมั่นคงแล้ว ค่อยจะมาให้เวลากับลูกแต่ก็สายไปแล้ว เพราะหลายปัญหาที่เกิดขึ้น เงินทองช่วยแก้ไขไม่ได้ เช่น ลูกติดยาเสพติด เป็นคนไม่รับผิดชอบ ใช้ชีวิตไร้แก่นสารไปวันๆ"

3. ให้เกียรติ ถ้าเราต้องการให้ลูกเป็นคนนับถือตัวเอง เราต้องปฏิบัติต่อเขาแบบคนที่มีเกียรติ ให้ความเชื่อถือเขา ให้โอกาสเขาแสดงความคิดเห็น รับฟังความคิดเห็น ให้การยอมรับถ้ามีเหตุผล ถึงแม้จะเป็นเด็กก็ตาม ไม่ใช่ว่าจะใช้ความเป็นผู้ใหญ่ไปข่มขู่ บังคับ เป็นเผด็จการ

4. ให้โอกาสพัฒนา เด็กต้องมีโอกาสเรียนรู้ ลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง จึงจะเกิดความกล้าคิด กล้าทำ กล้าตัดสินใจ ถ้าผู้ใหญ่กลัวลูกทำผิด ทำได้ไม่ดีก็เลยเทำให้เสียหมด เด็กก็จะไม่เกิดการพัฒนาเท่ากับเป็นการรักลูกผิดทาง

5. ให้กำลังใจ หมายความว่า ถ้าเด็กสามารถทำได้ดี ได้สำเร็จ ก็แสดงความชื่นชม ชมเชย เด็กก็จะเกิดความมั่นใจในตนเอง ขณะเดียวกันถ้าเด็กทำไม่สำเร็จ ล้มเหลวพ่ายแพ้ ก็ให้กำลังใจเด็ก และช่วยให้เรียนรู้ที่จะให้กำลังใจตนเองได้ ว่าไม่เป็นไร ลุกขึ้นศึกษาจุดบกพร่องของตนเอง แล้วลองดูใหม่ ต้องแก้ไขปัญหาได้

หลัก 5 รู้สำหรับพ่อยุคใหม่

1. รู้หลักการทั่วไปของการเลี้ยงลูก ซึ่งมีรายละเอียดมากมายแต่ถ้าจะพูดให้สั้นโดยสรุป คือ เป้าหมายหลักของการเลี้ยงลูกให้เป็นคนมีคุณภาพ สามารถดูแลรับผิดชอบตัวเองได้ เข้ากับผู้อื่นได้ ก็คือ ทำให้ลูกเป็นคนที่สามารถรู้สึกมั่นใจในคุณค่าของตนเอง ถ้าทำได้เขาจะมีพื้นฐานจิตใจแข็งแรง สามารถรับมือกับปัญหาที่จะต้องเผชิญในชีวิตได้ แต่การจะสร้างสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้น ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้เวลาสร้างเวลาขึ้นหลายเดือนหลายปี อาศัยการเรียนรู้จากเหตุการณ์และประสบการณ์ต่างๆในชีวิตมากมายจึงจะแกร่งได้

2. รู้ว่าเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกันเป็นโจทย์คนละข้อ ต้องการวิธีการเลี้ยงดูในรายละเอียดที่แตกต่างกัน นอกจากนี้เด็กคนเดียวกันแต่ว่าในแต่ละช่วงวัย เช่น เด็กทารก เด็กเล็ก เด็กโต เด็กวัยรุ่น ก็มีลักษณะเฉพาะตามธรรมชาติที่แตกต่างกัน วิธีการรับมือที่แตกต่างกัน เหมาะกับลักษณะเด็กแต่ละช่วงวัยจึงจะได้ผลดี

3. รู้ว่าจุดเด่นและจุดด้อยของลูกตัวเอง เพื่อที่จะเสริมจุดเด่นและแก้ไขจุดด้อยของเด็ก ในช่วงระยะเวลาที่ยังส่งเสริมหรือแก้ไขได้ เพื่อให้เด็กได้โตเต็มศักยภาพและมีจุดอ่อนน้อยที่สุด

4. รู้เท่าทันเทคโนโลยีสมัยใหม่ การที่คุณพ่อจะเข้ากับลูกได้ เพื่อให้เกิดการใกล้ชิดสนิทสนม ไม่ให้เกิดช่องว่างมากนัก ในยุคข้อมูลข่าวสาร คุณพ่ออาจจำเป็นต้องรู้เท่าทันเทคโนโลยีข้อมูลสมัยใหม่อยู่บ้าง เพื่อที่จะได้คุยกับลูกรู้เรื่อง

5. รู้จักเพื่อนๆ ลูก โดยเฉพาะพ่อที่มีลูกวัยรุ่น เพื่อที่จะได้รับรู้การเปลี่ยนแปลง ความเคลื่อนไหว เข้าใจวิธีคิดของลูก คุณพ่อจึงจะสามารถให้คำแนะนำ คำปรึกษาได้ถูก นอกจากนี้ธรรมชาติของวัยรุ่นมักจะให้ความสำคัญกับเพื่อนมาก เชื่อเพื่อนมาก หลายครั้งในการแก้ไขปัญหาพฤติกรรมของลูกวัยรุ่น คุณพ่ออาจต้องอาศัยความช่วยเหลือจากเพื่อนลูกในการพูดจาโน้มน้าวเปลี่ยนแปลงความคิดของลูก จึงจะสำเร็จได้

“8 ข้อสำคัญ”…คิดให้ดีก่อนจะมีลูก

เมื่อวินาทีแรกที่ลูกลืมตาคือช่วงเวลาที่คนเป็นพ่อเป็นแม่มีความสุขที่สุด แต่ทว่าหลังจากนั้น สิ่งที่มาพร้อมความสุขและสมาชิกใหม่ในครอบครัวคือภาระหน้าที่อันยิ่งใหญ่ที่พ่อแม่ไม่สามารถปลดเกษียณตัวเองได้ตลอดชีวิตนั่นคือการดูแลเลี้ยงดูตั้งแต่แบเบาะ ซึ่งการเลี้ยงลูกวัยทารกนั้น นับเป็นสิ่งที่พ่อแม่และคนในบ้านทุกคนต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเป็นอย่างมาก
ดร.สตีเฟน เทอร์เนอร์ กุมารแพทย์จาก ลอง ไอร์แลนด์ คอลเลจ ฮอสพิทอล ในบรูคลิน เผยว่า พ่อแม่มือใหม่ทุกคนควรทำความเข้าใจบางสิ่งหลังจากที่มีสมาชิกใหม่เป็นเจ้าตัวน้อยมาเพิ่มอีกหนึ่งคน เพราะถ้าไม่เข้าใจธรรมชาติของลูกและหน้าที่ของพ่อแม่ อาจก่อให้เกิดปัญหาในครอบครัวได้ อย่างไรก็ดี 8 ประการสำคัญที่ดร.สตีเฟน แนะนำนั้นมีดังนี้

1. เวลาแห่งการอดนอน
คุณทั้งสองคนต้องทำความเข้าใจกันเสียก่อนว่า เจ้าตัวเล็กนั้นยังตื่นและนอนไม่เป็นเวลาเหมือนผู้ใหญ่ ลูกอาจร้องไห้โยเยกลางดึกเพื่อกินนม พ่อและแม่ก็ต้องตื่นขึ้นมาดู ดังนั้นเวลาที่คุณทั้งสองจะนอนหลับได้เต็มอิ่มก็เป็นไปได้ยากเต็มทน

ทั้งนี้ เด็กแรกเกิดจะใช้เวลานอนโดยเฉลี่ยประมาณ 16 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งรวมไปถึงช่วงเวลาการให้นมลูกด้วย โดยเขาอาจใช้เวลาในการดูดนมก่อนนอนประมาณ 2-3 ชั่วโมง ดังนั้นคุณควรใช้เวลาเหล่านั้นหาโอกาสพักผ่อนไปในตัว หากลูกหลับ เราก็พักได้สักช่วงหนึ่งก็ยังดีกว่า มิเช่นนั้นคงอดนอนจนร่างกายแย่กว่าเดิม

2. เสื้อผ้าเยอะมากขึ้นเป็นกอง
ไม่ว่าจะเป็นผ้าอ้อมที่ใช้ในแต่ละวัน เสื้อผ้าของลูกที่ต้องใช้มากกว่า 2 ตัวขึ้นไป มันก็เป็นส่วนหนึ่งที่บ้านของคุณจะเต็มไปด้วยผ้าอ้อมและเสื้อผ้าชิ้นเล็กชิ้นน้อย ซึ่งบางคนอาจคิดว่ามีเครื่องซักผ้าช่วยผ่อนแรงอยู่คงไม่เป็นอะไร แต่จริงๆแล้ว ถ้าอยากจะถนอมซื้อผ้าของลูก และผ้าอ้อมให้ใช้ได้นานมากขึ้น ก็ควรซักมือแทนจะดีกว่า

3. เวลาที่เคยว่างกลับไม่ว่าง
อย่างที่กล่าวไว้ว่าพ่อแม่มือใหม่ต้องเข้าใจธรรมชาติของเด็กเล็ก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการนอน การร้องหิวนม รวมไปถึงการร้องไห้โยเยด้วยเหตุผลอื่นๆ ที่ทำให้พ่อแม่ต้องอยู่กับลูก คอยดูแลตลอดเวลาทั้งวันทั้งคืน ทำให้เวลาส่วนใหญ่ที่จากเมื่อก่อนอาจอยู่กับกิจกรรม งานอดิเรกต่างๆ แต่ตอนนี้เวลาเหล่านั้นต้องหมดลงเพราะเฝ้าดูแลเจ้าตัวเล็กทันที

4.เผื่อเวลาล่วงหน้า
ถ้าคุณและครอบครัวอยากพาลูกออกไปเที่ยวข้างนอกเพื่อเปิดหูเปิดตา เปลี่ยนบรรยากาศแล้ว พ่อ-แม่ลูกอ่อนทั้งหลายควรเผื่อเวลาไว้ 30 นาทีล่วงหน้าในการเดินทาง เพราะกว่าจะเตรียมของให้ลูกไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า ขวดน้ำ ขวดนม ฯลฯ ก็ต้องใช้เวลาพอสมควร

5. ความรอบคอบที่ควรมีมากขึ้น
ในช่วง 2 เดือนแรก พ่อแม่ไม่ควรพาลูกออกไปเที่ยวข้างนอก ไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้า สวนสาธารณะ ฯลฯ เด็ดขาดเพราะเชื้อโรคที่เรามองไม่เห็นค่อนข้างเยอะ อีกทั้งหากใครเป็นหวัดก็ยิ่งไม่ควรพาลูกเข้าไปในที่เหล่านั้นใหญ่เลย ดังนั้นพ่อแม่ควรรอบคอบเพิ่มขึ้นอีกสักนิด ก่อนที่เจ้าตัวเล็กจะติดหวัด

6. ใส่ใจยาของลูก
ถ้าลูกไม่สบายขึ้นมา พ่อแม่ควรพาลูกไปพบแพทย์ทันที เพื่อจะได้ทานยาตามแพทย์สั่ง พ่อแม่ไม่ควรซื้อยาให้ลูกทานเองเด็ดขาด อีกทั้งควรเคร่งครัดในเรื่องของการป้อนยาให้ลูก ในปริมาณที่แพทย์กำหนดไว้เสมอ

7. เสริมอาหาร อาหารเสริม
อาหารเสริมในที่นี้หมายถึงสารอาหารที่ได้นอกเหนือจากน้ำนมของแม่ ไมว่าจะเป็นน้ำส้ม ผักบด ฝักทองบด ซึ่งเหมาะกับเด็กในวัย 4-6 เดือนขึ้นไป ดังนั้น หากลูกอยู่ในวัยที่สามารถทานอาหารอ่อนๆได้บ้างแล้ว พ่อแม่ก็ควรสรรหาสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูกซึ่งไม่จำเป็นว่าต้องเป็นอาหารที่มีราคาแพงเสมอไป

8. อย่าลืมให้วัคซีนตนเอง
พ่อแม่ส่วนใหญ่มักใส่ใจเรื่องการพาลูกไปฉีดวัคซีนแต่กลับลืมไปว่า พ่อและแม่เองก็ควรได้รับวัคซีนเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนป้องกันโรคไอกรน วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่รวมไปถึงไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ด้วย

เรียบเรียงจาก ฟ็อกนิวส์