วันอังคารที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2553

เผย 6 กลยุทธ์กับดักชวนแม่บ้าน "ช้อปกระหน่ำ" ในซูเปอร์ฯ





ขอบคุณภาพประกอบจากยาฮู
เมื่อกล่าวถึงการ "เดินตลาด" เพื่อจับจ่ายซื้อหาอาหาร - ของใช้ที่ต้องการในครัวเรือน คงต้องยอมรับว่า มีพ่อบ้านแม่บ้านจำนวนไม่น้อยหันไปนิยมเดินจับจ่ายซื้อของกันในตลาดยุคใหม่ติดแอร์เย็นฉ่ำ หรือที่เราเรียกกันว่าซูเปอร์มาร์เก็ต - ห้างดิสเคาต์สโตร์กันมากขึ้น เพราะมีสินค้ามากมายหลายชนิดให้เลือกซื้อ อีกทั้งอากาศก็เย็นสบาย แถมมีรถเข็นคันโตคอยให้บริการ

แต่ขึ้นชื่อว่าซูเปอร์มาร์เก็ต โดยเฉพาะแบรนด์ที่มาจากต่างชาติที่มาเปิดตลาดบ้านเราและมุ่งหวังกำไรสูงสุดนั้น ย่อมมีแผนการตลาดที่ไม่ธรรมดาอยู่แล้ว ทางเว็บไซต์ yahoo.com จึงนำเทคนิคดึงดูดใจเหล่าคนซื้อที่ได้ผลดีของห้างซูเปอร์มาร์เก็ตเหล่านั้นมาเผยแพร่ให้ได้ทราบกัน เพื่อที่ว่าบรรดาพ่อบ้านแม่บ้านจะได้ไม่หลงตกเป็นเหยื่อได้ง่าย ๆ จนเงินหมดกระเป๋าไวกว่าที่ควรค่ะ

กับดักที่ 1 ประตูทางเข้ากับ "Chill Zone"

ก่อนเดินเข้าซูเปอร์มาร์เก็ต หากสังเกตสักนิดจะพบว่า ส่วนมากแล้วสินค้าที่วางในบริเวณทางเข้าจะเป็นสินค้าประเภท "หย่อนใจคลายอารมณ์" โดยอาจจะมีภาพยนตร์ดีวีดี สินค้าที่เหมาะสำหรับการจัดงานเลี้ยงฉลองช่วงสุดสัปดาห์ เช่น โซดา น้ำอัดลม วางอยู่ ไม่ก็เป็นสินค้าใหม่เอี่ยมอ่อง ชวนให้มีกิจกรรมทำช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์มาวางล่อใจ เป็นต้น ซึ่งสินค้าเหล่านี้อาจทำให้จิตใจของผู้ซื้อหวั่นไหวไขว้เขวได้โดยง่าย จนอาจลืมลิสต์สินค้าที่เตรียมเงินมาซื้อ

ทางเลี่ยงจ่ายเงินไปกับสิ่งล่อตาที่หน้าประตูทางเข้านี้อาจมีสองทาง ก็คือ ทำเมินไปเสีย และคิดว่าคุณกำลังทดสอบจิตใจตัวเอง หรือจะลองเดินเข้าไปดูสินค้าเหล่านั้นด้วยใจที่มีสติ และบอกตัวเองว่า หากคุณซื้อของในจุดนี้ไป ก็ต้องลดการซื้อของในจุดอื่น ๆ ลง เพื่อจะได้ไม่ใช้จ่ายเกินงบประมาณ

กับดักที่ 2 ระวังการซื้อผักผลไม้ที่หน้าทางเข้า

หากสังเกตจะพบว่ามีซูเปอร์มาร์เก็ตบางแห่งนิยมนำผักผลไม้มาตั้งบูธไว้ที่หน้าทางเข้าออก ซึ่งมีงานวิจัยระบุว่า การนำผักผลไม้มาตั้งไว้ในจุดทางเข้า นอกจากจะดึงดูดความสนใจของผู้ซื้อได้ดี ยังทำให้ผู้ซื้อเกิดความรู้สึกว่า ตนเองได้ซื้ออาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมาแล้ว เมื่อเขาเดินลึกเข้ามาในซูเปอร์มาร์เก็ต และเห็นอาหาร - ของใช้อื่น ๆ ก็จะเกิดอาการ "ตามใจตัวเอง" ช้อปมากกว่าที่ควรได้ อีกประการหนึ่งคือ หากซื้อผักผลไม้เป็นอันดับแรก ๆ และแพ็คใส่รถเข็นแล้ว โอกาสที่ผักผลไม้เหล่านั้นจะช้ำจากการเสียดสีกับตะแกรงรถเข็นก็เป็นไปได้สูง ซึ่งทางเลี่ยงของกรณีนี้ก็คือ ควรเลือกซื้อผักผลไม้เป็นอันดับสุดท้ายของการจับจ่ายซื้อของ

กับดักที่ 3 ของดังฝังตัวอยู่กลาง ๆ

อีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ทางซูเปอร์มาร์เก็ตเตรียมไว้ล่อหลอกลูกค้าก็คือ การวางสินค้าขายดีเอาไว้บริเวณช่วงกลาง ๆ ของชั้นวางสินค้า ซึ่งทำให้ ผู้ซื้อต้องเดินผ่านสินค้าหลายชนิดถึงจะพบกับสินค้าขายดีที่ตนเองต้องการ และนั่นก็อาจทำให้สินค้าอื่น ๆ ได้มีโอกาสเผยโฉมให้ผู้บริโภคได้พิจารณากันมากขึ้นด้วย

ทางเลี่ยงไม่ให้ตกหลุมพรางของกลยุทธ์นี้ก็คือ การตั้งสติ และเดินเข้าไปซื้อเฉพาะสินค้าที่อยู่ในรายการ ดีกว่าการเดินเอื่อย ๆ ให้ความสนใจกับสินค้าทุกประเภทที่วางหลอกล่อเอาไว้

กับดักที่ 4 อย่าตื่นเต้นกับคำว่า "Special"

มีหลายคำที่ทางห้างนำมาใช้ดึงดูดความสนใจของผู้ซื้อ เช่น ราคาพิเศษ, Shock!!, ลดพิเศษ, Special ฯลฯ เพื่อให้ผู้ซื้อหันมาสนใจไอเท็มนั้น ๆ มากขึ้น หลายครั้งที่คำพิเศษเหล่านี้ทำให้ผู้ซื้อตัดสินใจซื้อโดยลืมพิจารณามูลค่าที่แท้จริงของสินค้าไปหน้าตาเฉย ทางเลี่ยงกับดักในข้อนี้ก็คือ การพิจารณาถึงมูลค่าที่แท้จริงของสินค้าก่อนตัดสินใจ ตลอดจนการพิจารณาว่า มันจำเป็นต้องซื้อหรือไม่ หรือเราต้องการซื้อเพียงเพราะถูกคำว่า "Special" ดึงดูดใจเท่านั้น

กับดักที่ 5 ระวังบูธชิมสินค้าตัวอย่าง

เพราะกลยุทธ์นี้กระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายด้วยการให้ทดลองชิมอาหารนั้น ๆ พร้อมการเสนอขาย ซึ่งการชิมเพียงครั้งหนึ่ง แม้ว่าร่างกายคุณจะไม่หิวเลย แต่มันก็สามารถกระตุ้นให้คุณพร้อมสำหรับการรับประทานอาหารได้แล้ว และนั่นทำให้เกิดการตัดสินใจซื้อตามมา ดังนั้น หากจะลองชิม ก็ไม่ควรรีบชิมเร็วจนเกินไป ควรเก็บมันเอาไว้จนกว่าจะเดินออกจากซูเปอร์มาร์เก็ต แล้วค่อยชิม

กับดักที่ 6 ระวังป้ายลดราคาที่ยื่นเด่นกว่าอันอื่น ๆ

พบกันบ่อยกับการติดป้ายลดราคาดึงดูดความสนใจให้ผู้ซื้อทราบว่า สินค้าตัวนี้กำลังลดราคา "พิเศษ" อยู่ ซึ่งการมีป้ายยื่นออกมาโดยเฉพาะนั้นก็ทำเพื่อให้ง่ายต่อการมองเห็นของพ่อบ้านแม่บ้านนักช้อป แต่ก็ไม่ใช่ว่ามันจะถูกกว่าเสมอไป ดังนั้นก่อนจะซื้อสินค้าเหล่านี้ ขอให้เปรียบเทียบราคากับสินค้าใกล้เคียงก่อน แล้วค่อยตัดสินใจ เพื่อให้ได้ของที่ดี และเหมาะสมกับราคานั้น ๆ ที่สุดค่ะ

อาจเป็นกับดักที่เราพบเห็นจนชินตา แต่ก็เชื่อว่ามีหลายคนอดเผลอใจให้กับสินค้าที่ใช้กลยุทธ์เหล่านี้ไม่ได้ อย่างไรก็ดี เรามีเทคนิคที่สามารถใช้รับมือกับกลยุทธ์ดังกล่าวมาฝากเช่นกัน จะเป็นอะไรนั้น ลองติดตามกันดูค่ะ

เทคนิคประหยัดงบจับจ่าย

1. อย่าช้อปตอนกำลังหิว เพราะการเดินเข้าซูเปอร์มาร์เก็ตที่มีกลิ่นเบเกอรี่อบใหม่หอม ๆ อาจทำให้อารมณ์หิวพลุ่งพล่าน และซื้อเกินความจำเป็นได้
2. ท่องเอาไว้ว่า ซื้อมากก็มีโอกาสทิ้งมาก โดยเฉพาะสินค้าจำพวกผัก ซึ่งมีโอกาสเน่าเสียได้ง่าย
3. ไม่ควรพาลูกมาช้อปด้วย (หากสามารถฝากคนอื่นเลี้ยงได้)
4. ลองเปลี่ยนมาใช้สินค้าที่ผลิตภายในประเทศที่มีคุณภาพมาตรฐานไม่แพ้สินค้าแบรนด์ดัง เพราะอาจได้ของที่มีราคาถูกกว่า