เมื่อวินาทีแรกที่ลูกลืมตาคือช่วงเวลาที่คนเป็นพ่อเป็นแม่มีความสุขที่สุด แต่ทว่าหลังจากนั้น สิ่งที่มาพร้อมความสุขและสมาชิกใหม่ในครอบครัวคือภาระหน้าที่อันยิ่งใหญ่ที่พ่อแม่ไม่สามารถปลดเกษียณตัวเองได้ตลอดชีวิตนั่นคือการดูแลเลี้ยงดูตั้งแต่แบเบาะ ซึ่งการเลี้ยงลูกวัยทารกนั้น นับเป็นสิ่งที่พ่อแม่และคนในบ้านทุกคนต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเป็นอย่างมาก
ดร.สตีเฟน เทอร์เนอร์ กุมารแพทย์จาก ลอง ไอร์แลนด์ คอลเลจ ฮอสพิทอล ในบรูคลิน เผยว่า พ่อแม่มือใหม่ทุกคนควรทำความเข้าใจบางสิ่งหลังจากที่มีสมาชิกใหม่เป็นเจ้าตัวน้อยมาเพิ่มอีกหนึ่งคน เพราะถ้าไม่เข้าใจธรรมชาติของลูกและหน้าที่ของพ่อแม่ อาจก่อให้เกิดปัญหาในครอบครัวได้ อย่างไรก็ดี 8 ประการสำคัญที่ดร.สตีเฟน แนะนำนั้นมีดังนี้
1. เวลาแห่งการอดนอน
คุณทั้งสองคนต้องทำความเข้าใจกันเสียก่อนว่า เจ้าตัวเล็กนั้นยังตื่นและนอนไม่เป็นเวลาเหมือนผู้ใหญ่ ลูกอาจร้องไห้โยเยกลางดึกเพื่อกินนม พ่อและแม่ก็ต้องตื่นขึ้นมาดู ดังนั้นเวลาที่คุณทั้งสองจะนอนหลับได้เต็มอิ่มก็เป็นไปได้ยากเต็มทน
ทั้งนี้ เด็กแรกเกิดจะใช้เวลานอนโดยเฉลี่ยประมาณ 16 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งรวมไปถึงช่วงเวลาการให้นมลูกด้วย โดยเขาอาจใช้เวลาในการดูดนมก่อนนอนประมาณ 2-3 ชั่วโมง ดังนั้นคุณควรใช้เวลาเหล่านั้นหาโอกาสพักผ่อนไปในตัว หากลูกหลับ เราก็พักได้สักช่วงหนึ่งก็ยังดีกว่า มิเช่นนั้นคงอดนอนจนร่างกายแย่กว่าเดิม
2. เสื้อผ้าเยอะมากขึ้นเป็นกอง
ไม่ว่าจะเป็นผ้าอ้อมที่ใช้ในแต่ละวัน เสื้อผ้าของลูกที่ต้องใช้มากกว่า 2 ตัวขึ้นไป มันก็เป็นส่วนหนึ่งที่บ้านของคุณจะเต็มไปด้วยผ้าอ้อมและเสื้อผ้าชิ้นเล็กชิ้นน้อย ซึ่งบางคนอาจคิดว่ามีเครื่องซักผ้าช่วยผ่อนแรงอยู่คงไม่เป็นอะไร แต่จริงๆแล้ว ถ้าอยากจะถนอมซื้อผ้าของลูก และผ้าอ้อมให้ใช้ได้นานมากขึ้น ก็ควรซักมือแทนจะดีกว่า
3. เวลาที่เคยว่างกลับไม่ว่าง
อย่างที่กล่าวไว้ว่าพ่อแม่มือใหม่ต้องเข้าใจธรรมชาติของเด็กเล็ก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการนอน การร้องหิวนม รวมไปถึงการร้องไห้โยเยด้วยเหตุผลอื่นๆ ที่ทำให้พ่อแม่ต้องอยู่กับลูก คอยดูแลตลอดเวลาทั้งวันทั้งคืน ทำให้เวลาส่วนใหญ่ที่จากเมื่อก่อนอาจอยู่กับกิจกรรม งานอดิเรกต่างๆ แต่ตอนนี้เวลาเหล่านั้นต้องหมดลงเพราะเฝ้าดูแลเจ้าตัวเล็กทันที
4.เผื่อเวลาล่วงหน้า
ถ้าคุณและครอบครัวอยากพาลูกออกไปเที่ยวข้างนอกเพื่อเปิดหูเปิดตา เปลี่ยนบรรยากาศแล้ว พ่อ-แม่ลูกอ่อนทั้งหลายควรเผื่อเวลาไว้ 30 นาทีล่วงหน้าในการเดินทาง เพราะกว่าจะเตรียมของให้ลูกไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า ขวดน้ำ ขวดนม ฯลฯ ก็ต้องใช้เวลาพอสมควร
5. ความรอบคอบที่ควรมีมากขึ้น
ในช่วง 2 เดือนแรก พ่อแม่ไม่ควรพาลูกออกไปเที่ยวข้างนอก ไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้า สวนสาธารณะ ฯลฯ เด็ดขาดเพราะเชื้อโรคที่เรามองไม่เห็นค่อนข้างเยอะ อีกทั้งหากใครเป็นหวัดก็ยิ่งไม่ควรพาลูกเข้าไปในที่เหล่านั้นใหญ่เลย ดังนั้นพ่อแม่ควรรอบคอบเพิ่มขึ้นอีกสักนิด ก่อนที่เจ้าตัวเล็กจะติดหวัด
6. ใส่ใจยาของลูก
ถ้าลูกไม่สบายขึ้นมา พ่อแม่ควรพาลูกไปพบแพทย์ทันที เพื่อจะได้ทานยาตามแพทย์สั่ง พ่อแม่ไม่ควรซื้อยาให้ลูกทานเองเด็ดขาด อีกทั้งควรเคร่งครัดในเรื่องของการป้อนยาให้ลูก ในปริมาณที่แพทย์กำหนดไว้เสมอ
7. เสริมอาหาร อาหารเสริม
อาหารเสริมในที่นี้หมายถึงสารอาหารที่ได้นอกเหนือจากน้ำนมของแม่ ไมว่าจะเป็นน้ำส้ม ผักบด ฝักทองบด ซึ่งเหมาะกับเด็กในวัย 4-6 เดือนขึ้นไป ดังนั้น หากลูกอยู่ในวัยที่สามารถทานอาหารอ่อนๆได้บ้างแล้ว พ่อแม่ก็ควรสรรหาสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูกซึ่งไม่จำเป็นว่าต้องเป็นอาหารที่มีราคาแพงเสมอไป
8. อย่าลืมให้วัคซีนตนเอง
พ่อแม่ส่วนใหญ่มักใส่ใจเรื่องการพาลูกไปฉีดวัคซีนแต่กลับลืมไปว่า พ่อและแม่เองก็ควรได้รับวัคซีนเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนป้องกันโรคไอกรน วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่รวมไปถึงไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ด้วย
เรียบเรียงจาก ฟ็อกนิวส์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น