วันอังคารที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2552

โรคจู๋ของข้าว

โรคจู๋ของข้าว

โรคจู๋ หรือ โรคใบหงิก เกิดจากเชื้อไวรัสไม่ติดต่อทางเมล็ด ดิน น้ำ ลม หรือทางสัมผัสมันจะถูกถ่ายทอดหรือติดต่อเข้าสู่ต้นข้าวได้โดยแมลงชนิดหนึ่งที่เรียกว่า "เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล" เท่านั้น เมื่อแมลงดูดอมเชื้อไวรัสเข้าสู่ตัวมัน เชื้อไวรัสจะฟักตัวในแมลงนานประมาณ 8 วัน โดยเฉลี่ย จึงออกฤทธิ์คือเมื่อแมลงที่อมเชื้อไปดูดกินต้นข้าวดีก็จะถ่ายทอดเชื้อไวรัสเข้าสู่ต้นข้าว และหลังจากนั้นประมาณ 2 อาทิตย์เป็นอย่างเร็ว จนถึง 1 เดือน เป็นอย่างช้า ต้นข้าวที่ได้รับเชื้อก็จะเริ่มแสดงอาการ "โรคจู๋" เกิดกับข้าวทุกระยะการเจริญเติบโต อาการจะปรากฎหลังจากต้นข้าวได้รับเชื้อแล้ว 15-30 วัน โดยเฉพาะต้นข้าวอายุตั้งแต่ 15 ถึง 45 วัน ถ้าได้รับเชื้อแล้วจะแสดงอาการรุนแรงมาก ส่วนต้นข้าวอายุไม่เกิน 60 วันขึ้นไป แม้จะได้รับเชื้อและแสดงอาการก็ไม่ค่อยรุนแรงนัก

ลักษณะอาการ
อาการของต้นข้าวที่เป็นโรคจู๋จะสังเกตได้ง่ายคือ ข้าวต้นเตี้ย (สั้นจู๋) ไม่พุ่งสูงเท่าที่ควร ใบสีเขียวเข้ม แคบและสั้น ใบใหม่จะแตกช้ากว่าปกติ และเมื่อพุ่งขึ้นมาดูไม่ค่อยสมบูรณ์ ปลายใบจะบิดเป็นเกลียว เป็นลักษณะเด่นที่เรียกว่า โรคใบหงิก นอกจากนี้จะสังเกตเห็นขอบใบแหว่งวิ่น และเส้นใบบวมโป่งเป็นแนวยาวทั้งที่ใบและกาบใบ ข้าวเป็นโรคจู๋จะออกรวงล่าช้า และให้รวงไม่สมบูรณ์ รวงให้เมล็ดลีบเป็นส่วนใหญ่อย่างที่ชาวนาเรียกว่าไม่มีเนื้อ และเมล็ดที่สมบูรณ์ก็มักจะด่างเสียคุณภาพเป็นส่วนมาก ข้าวเป็นโรคจู๋จะทำให้ผลผลิตลดลงประมาณ 1/3 ถึง 2/3 และถ้ามีโรคแทรกเข้าซ้ำเติม เช่น โรคเมล็ดด่างและโรคใบขีดสีน้ำตาล ซึ่งทั้งสองโรคนี้มักจะพบเสมอกับข้าวที่เป็นโรคจู๋ อาจทำให้ผลผลิตเสียหายถึง 100 %

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น