คำถาม:หลวงพ่อเจ้าคะ ในฐานะที่เป็นแม่ ก็พยายามสอนลูกให้ทำความดี แต่เด็กสมัยนี้ต้องการเหตุผลค่ะ ก็จะย้อนถามกลับมาว่า แล้วแม่มีอะไรเป็นเครื่องวัดว่า อะไรคือความดี อะไรคือความชั่ว ซึ่งลูกก็ตอบไม่ค่อยถนัดนัก ก็ขอกราบเรียนถามหลวงพ่อนะคะ คำว่า กรรม มีความหมายว่าอย่างไร และคนเราทำกรรมได้กี่ทางคะ และจะมีอะไรเป็นเครื่องตัดสินคะ
คำตอบ:เจริญพร...คำถามแรก คำว่า “กรรม” คืออะไร
ความจริงคำว่า “กรรม” เป็นคำในภาษาพระพุทธศาสนา แต่ถ้าแบบชาวบ้าน กรรม คือ การกระทำของเรานี่เอง แต่ละคนก็มีการกระทำในชีวิตประจำวันด้วยกันทั้งนั้น ทุกอิริยาบถที่เราทำ ไม่ว่าทำด้วยการพูด ทำด้วยการคิด ทำด้วยมือของเราก็ตามที
แต่ว่า ความหมายของกรรมที่ลึกไปกว่าการกระทำทั่วๆไป คือ อะไรก็ตาม ถ้าทำด้วยความตั้งใจ ถือว่าเป็นกรรม ถ้าไม่ตั้งใจ ไม่ถือว่าเป็นกรรม
ถ้าถามว่า คนเรา ทำกรรมได้กี่ทาง...ชัดเจนเลย ไม่ว่าเด็ก ไม่ว่าผู้ใหญ่ ไม่ว่าหญิง ไม่ว่าชาย คนเราทำกรรมได้ 3ทางด้วยกัน คือ
ประการที่1.กรรมทางกาย จะเอามือไปทำ จะเอาเท้าไปทำ หรือเอาทั้งตัวนี้ไปทำ เช่น เอาหัวไปโขกพื้นสักโป๊กหนึ่ง ก็จัดว่าเป็นกรรม เพราะตั้งใจจะโขก จะโขกเพราะโกรธก็เป็นกรรม จะโขกเป็นลักษณะคำนับอย่างที่บางชนชาติเขาทำกัน นั่นก็เป็นกรรม เพราะทำด้วยความตั้งใจ 10นิ้วของเรายกมือพนมไหว้กราบผู้ที่มีคุณธรรม นี้ก็เป็นกรรม จัดเป็นกรรมดี แต่ว่า 10นิ้วอีกเหมือนกัน รวบกำเข้าเป็นกำปั้น แล้วไปต่อยเขาโครมครามเข้า มันก็เป็นกรรม แต่ว่าเป็นกรรมชั่ว
ประการที่2.กรรมทางวาจา ถ้าตั้งใจชมใครตามความเป็นจริงว่า เขาดีอย่างนั้น ดีอย่างนี้ ก็จัดว่าเป็นกรรมดีของเรา แต่ในทำนองกลับกัน ถ้าตั้งใจด่าใคร ก็เป็นกรรม แต่ว่าเป็นกรรมเสียของเรา เป็นกรรมชั่วของเรา จัดเป็นกรรมทางวาจา แต่ว่าคนหลับ นอนละเมอ ไม่เป็นกรรม เพราะว่าไม่ได้ตั้งใจ ไม่ถือสาหาความกัน หรือคนไข้เพ้อ จะเพ้อชมใคร จะเพ้อว่าใคร ติใครก็ตามที ไม่จัดว่าเป็นกรรม เพราะไม่มีความตั้งใจ ไม่มีเจตนา
ประการที่3.กรรมทางใจ เป็นกรรมทางความคิดนั่นเอง คิดรักใครก็เป็นกรรม คิดเกลียดใคร ชังใครก็เป็นกรรม คิดอิจฉาตาร้อนใครก็เป็นกรรม แค่คิดก็เป็นแล้ว
ตรงนี้เอง เมื่อจะตัดสินว่า กรรมที่เราทำนี้ เป็นกรรมดีหรือกรรมชั่ว ถ้าจะเอามาตรฐานของใครมาวัดนั้นคงยากเหมือนกัน ก็ต้องเอามาตรฐานของผู้รู้ เอามาตรฐานตัวเราเองมันก็คงไม่ใช่
เมื่อครั้ง พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ มีผู้สงสัยเช่นเดียวกับที่คุณโยมสงสัย, เด็กก็สงสัยว่า ที่เรียกว่ากรรมดีเป็นอย่างไร กรรมชั่วเป็นอย่างไร พระองค์ตรัสตอบไว้อย่างชัดเจน แต่ตรัสตอบแบบให้เด็กเข้าใจ ดังนี้
กรณีที่1.ทำอะไรแล้ว เดือดร้อนเขา เดือดร้อนเรา นั่นเป็นกรรมชั่วแน่นอน
กรณีที่2.ทำอะไรก็ตาม ถ้าเดือดร้อนเรา แต่สบายใจเขา ก็ยังจัดเป็นกรรมชั่วอยู่ดี เช่น เขาแย่งของของเรา แกล้งเรา เขาสนุกแต่เราเดือดร้อน ถ้าอย่างนั้นกรรมชั่ว
ในทำนองเดียวกัน เราเย็นใจ สบายใจ แต่เขาเดือดร้อนใจ เช่น เราไปแกล้งเขา ถ้าอย่างนั้นจัดเป็นกรรมชั่ว
กรณีที่3.ทำอะไรแล้ว ไม่ร้อนเขาไม่ร้อนเรา ตรงกันข้าม เย็นทั้งเขา เย็นทั้งเรา นั่นคือ กรรมดี
นี่คือที่พระองค์ทรงตอบเด็ก
เวลาพระองค์ทรงตอบผู้ใหญ่ พระองค์ทรงตอบอีกลักษณะหนึ่ง ผู้ใหญ่มีความคิดมากกว่า ไกลกว่า พระองค์ทรงตอบว่า ทำอะไรแล้ว ต้องร้อนใจในภายหลัง อย่าทำ มันเป็นกรรมชั่ว
แม้เมื่อเริ่มต้นรู้ว่ามันสนุก มันสบาย มันสะดวก แต่ตอนท้ายมันลงท้ายด้วยความเดือดร้อน นั่นแหละกรรมชั่ว อย่าไปทำ เช่น ตอนจะกินเหล้า เริ่มต้นสนุก แต่ตอนท้ายส่งเสียง “โอกอาก โอกอาก” คลานกันเสียแล้ว อาเจียนกันเสียแล้ว หรือตีกันเสียแล้ว
เพราะฉะนั้น ทำอะไรต้องร้อนใจในภายหลัง จัดเป็นกรรมชั่ว
แต่ถ้า ทำอะไรแล้ว ไม่ต้องร้อนใจในภายหลัง จัดเป็นกรรมดี เช่น เด็กตั้งใจเรียนหนังสือตั้งแต่ต้นปี ทั้งทำการบ้าน ทั้งอ่านทั้งท่อง ไม่มีเวลาไปเที่ยว แม้จะเหนื่อย แต่ว่าปลายปีเขาสอบได้ เขามีความเข้าใจดี อย่างนี้เป็นกรรมดี พระองค์ก็ทรงให้ข้อคิดอย่างนี้
ทีนี้ ถ้าเป็นผู้ใหญ่ที่การศึกษาหย่อนสักหน่อย พระองค์ทรงตีกรอบให้เลย โดยไม่ต้องคิดมาก กล่าวคือ
กรรมชั่วทางกาย
ฆ่าสัตว์
ลักทรัพย์
ประพฤติผิดในกาม
ดื่มน้ำเมา เสพยาเสพติด
กรรมชั่วทางวาจา ตั้งแต่
พูดเท็จ
พูดคำหยาบ
พูดส่อเสียด
พูดเพ้อเจ้อ ประเภท น้ำท่วมทุ่ง ผักบุ้งโหรงเหรง
กรรมชั่วทางใจ
คิดโลภ อยากได้ของเขา
คิดพยาบาท จองล้างจองผลาญเขา
คิดเห็นผิดเป็นชอบ
คิดโง่ๆ
คิดอิจฉาริษยา
ถ้าจะให้ชัดเจนยิ่งกว่านี้ สำหรับนักปราชญ์ บัณฑิต หรือนักฝึกสมาธิ พระองค์ก็ทรงตรัสไว้ชัดเจนว่า ทำอะไรแล้วใจมันขุ่นมัว นั่นคือ กรรมชั่วมาแล้ว ถ้าทำอะไรแล้วใจใส ยิ่งทำยิ่งใส นั่นคือ กรรมดีมาแล้ว กรรมชั่ว กรรมดี ตัดสินกันอย่างนี้
คุณโยมค่อยๆ อธิบายให้ลูกฟังก็แล้วกัน ไม่ทราบเหมือนกันว่า ลูกของคุณโยมอายุเท่าไหร่ ไปปรับให้พอเหมาะก็แล้วกัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น