วันอังคารที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2553

นั่งสมาธิวิธีไหนดีที่สุด

คำถาม:หลวงพ่อเจ้าคะ...ลูกเคยไปชวนเพื่อนๆหลายคน มานั่งสมาธิ เพื่อนๆเขาก็บอกว่า ทำไมวิธีการนั่งสมาธิจึงมีหลากหลายวิธีเหลือเกิน แต่ละวิธีก็สอนไม่เหมือนกัน แล้วแต่ละคนที่มาชวนก็บอกว่า วิธีของตัวเองดีที่สุด ในกรณีดังกล่าวนี้ ลูกขอกราบเรียนถามหลวงพ่อว่า เราจะมีคำตอบอย่างไร ให้เขาได้พอใจที่สุดเจ้าค่ะ

คำตอบ:คุณโยม...ในเรื่องของการฝึกสมาธิ จับหลักการให้ได้ก่อนว่า เขาฝึกกันทำไม ถ้าจับหลักการได้แล้ว การจะอธิบายอย่างอื่นง่ายหมด หลักการของการฝึกสมาธิมีสั้นๆว่า การฝึกสมาธิแท้ที่จริงแล้วเป็นเรื่องของการรู้จักควบคุมจิตใจตัวเองให้เป็น หลักการมีเท่านี้


ควบคุมใจตัวเองให้เป็น ทำอย่างไร...คือ พยายามที่จะเอาใจเก็บมาไว้ในตัว เพราะธรรมชาติของใจโดยทั่วไปแล้ว หากไม่ใช่เป็นใจที่ถูกฝึกมาดีแล้ว มันชอบเที่ยว มันชอบคิด มีอยู่ 2เรื่องของมัน

1.ชอบเที่ยว เป็นอย่างไร...ตัวเองนั่งอยู่เมืองไทย แต่ใจเที่ยวข้ามไปถึงเมืองจีน...มันไปได้ ตัวเองนั่งอยู่กรุงเทพฯ ใจมันไปเที่ยวถึงหาดใหญ่ ถึงปัตตานี...มันไปได้...นี่มันชอบเที่ยว
2.ชอบคิด คิดสารพัดเรื่อง ยิ่งอยู่คนเดียวมีเรื่องคิดเยอะเลย แล้วไปสังเกตดู เรื่องที่คิด ยิ่งคิดมาก ยิ่งวุ่นมาก แล้วเรื่องที่คิดเป็นเรื่องนอกตัวทั้งนั้น

ยิ่งปล่อยให้ใจเที่ยวไปด้วย คิดไปด้วย ยิ่งว้าวุ่นหนักเข้าไป

เพราะฉะนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงให้ทำสมาธิ เพื่อแก้ความที่ใจว้าวุ่นของเราด้วยการเอาใจกลับมาไว้ในตัว เมื่อมันเลิกเที่ยว เลิกคิด เลิกว้าวุ่น พอกลับมาตั้งอยู่ในตัวเข้า ใจก็เลยทรงพลังขึ้นมา หลักการมีเท่านี้

แต่ว่าที่มีวิธีเยอะแยะตั้ง 40วิธี ไม่เล็กไม่น้อยตั้ง 40วิธี, 40วิธีนั้นว่าไปแล้วก็มีวิธีหลักอยู่ไม่กี่วิธี นอกนั้นเป็นวิธีเสริม

ที่มีวิธีหลัก วิธีเสริมก็เพราะว่า จริตอัธยาศัยของคนเรามันไม่เหมือนกัน บางคนก็เจ้าโทสะ บางคนก็พุทธิจริต หรือว่าเจ้าปัญญา บางคนก็ง่วงเหงาหาวนอนเก่ง อะไรทำนองนี้ ก็เลยต้องแก้ไขกันไปพอเหมาะพอควร

วิธีที่มีอยู่เป็นหลักๆ หลวงพ่อว่ามีแค่ 3-5วิธีเท่านั้นในเมืองไทยนี้ นอกนั้นอีก 30กว่าวิธี เป็นเรื่องของวิธีเสริมเพื่อปรับให้พอเหมาะกับจริตของคนเท่านั้น

วิธีหลักๆ คุณโยมไปฝึกสำนักไหนก็ได้ ที่มีครูบาอาจารย์ท่านดูแลอย่างจริงจัง ท่านตั้งสำนักกันมานาน แล้ววิธีที่ท่านนำมาสอน ก็เป็นวิธีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งนั้น ไม่ใช่ท่านคิดเอาเอง

เมื่อเป็นวิธีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่ท่านคิดเอาเอง แล้วท่านก็มีประสบการณ์ในการสอนมานาน ก็เข้าไปหาท่าน ไปตั้งใจฝึกกับท่าน ฝึกกันเสียให้เต็มที่ก่อน

หากว่าเราก็ทำเต็มที่แล้ว แล้วก็มันก็ยังไม่ค่อยก้าวหน้าเท่าที่ควร ถ้าอย่างนั้น จะลองเปลี่ยนไปสำนักอื่นบ้างก็ได้ แต่ที่ต้องเปลี่ยน ไม่ได้หมายความว่า พระอาจารย์ท่านไม่ดี เพียงแต่ว่า จริตอัธยาศัยของเรามันคงไม่ต้องกับตรงนั้น

แต่ก่อนจะตัดสินว่า มันต้องกับตรงนั้น ไม่ต้องกับตรงนั้น ควรจะเปลี่ยน ไม่ควรจะเปลี่ยน ต้องทุ่มตัวเข้าไปฝึกเสียก่อน

ถ้าเราเป็นคนเหยาะแหยะ...เปลี่ยนไปหมดทุกสำนักแล้วก็ยังเอาดีไม่ได้ นั่นไม่ใช่อาจารย์ไม่ดีเสียแล้ว...เรามันไม่ดีต่างหาก

โดยย่อๆ

1.จับหลักการให้ได้ว่า หลักการของการทำสมาธิ มีอย่างเดียว จะน้อมใจที่ชอบเที่ยวชอบคิด ให้มันกลับมาติดเอาไว้อยู่ที่ศูนย์กลางกาย ไม่ให้มันเตลิดเปิดเปิงไปที่ไหน ให้มันหยุด มันนิ่งอยู่ที่นั่น หลักการมีอยู่ตรงนี้
2.วิธีการ ถ้าไม่ได้ผิดไปจากคัมภีร์ในพระพุทธศาสนาแล้ว ฝึกไปเถอะ แล้วค่อยๆปรับเอา เดี๋ยวก็ได้
3.ถ้าให้ปลอดภัยสักหน่อย จะฝึกวิธีไหน...ก็ไปหาพระอาจารย์ที่ท่านถนัดชำนาญวิธีนั้นๆ...ไปเถอะ...เดี๋ยวท่านก็มีคำแนะนำที่พอเหมาะพอสมให้กับเราเอง

แล้วก็ด้วยความชำนาญของท่าน ท่านจะพบเองว่า เราเหมาะหรือไม่เหมาะกับวิธีที่ท่านถนัด ถ้าไม่เหมาะ เดี๋ยวท่านก็ส่งต่อไปสำนักอื่นต่อไปอีก ที่ท่านเห็นแล้วว่าน่าจะเหมาะกว่า แล้วเราก็ไปตามที่ท่านแนะ

เมื่อเราทำอย่างนี้ ก็ไม่มีขัดอะไร ยิ่งไปกว่านั้น สิ่งที่ต้องเตือนตัวเสมอ คือ ไม่ว่าเราจะไปทดลอง ไปฝึกที่ไหน ขอให้ตั้งใจฝึกจริงๆ อย่าไปทำเป็นเล่นๆ นึกถึงคำพูดของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ตรัสเมื่อวันจะตรัสรู้เอาไว้ให้ดี

เมื่อวันที่พระองค์จะตรัสรู้ วันนั้น พระองค์อธิษฐานจิต คือหลังจากที่พระองค์ได้ฝึกมาอย่างเต็มที่แล้ว 6ปีเต็มๆ ผ่านสำนักต่างๆมามากแล้ว พระองค์มั่นพระทัยว่า ได้ทดลอง ได้ประสบการณ์มาพอแล้ว วันนี้ เหลือแต่เพียงอย่างเดียว คือ การเอาจริงเท่านั้น พระองค์ทรงตั้งใจจริง เมื่อทรุดองค์ลงนั่งลงไปที่รัตนบัลลังก์แล้ว ทรงอธิษฐานว่า...

แม้เลือดเนื้อในร่างกายจะแห้งเหือดหายไป เหลือแต่หนัง เอ็น กระดูก ก็ตามที หากยังไม่บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณล่ะก็ ไม่ลุกขึ้นหรอก จะประทับนั่งอยู่อย่างนี้ ตายก็ให้มันตายไป

นี่พูดภาษาชาวบ้าน ตายให้มันตายไป ทดลองมาทุกวิธีแล้ว

เราก็เหมือนกัน ก่อนจะเปลี่ยนแต่ละวิธี เรามีสิทธิ์จะเปลี่ยน แต่ว่าก่อนจะเปลี่ยน ฝึกกันมาสุดความสามารถ และเมื่อได้หลักการอะไรต่ออะไรเรียบร้อยแล้ว ต่อแต่นี้ไป ฝึกให้จริงๆจังๆ

คำว่า จริงๆจังๆ หมายถึงขนาดไหน...เอาเถอะ...ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ขนาดเอาเนื้อเลือดแห้งเหือด หายไปก็ตามที...เราคงไม่ต้องถึงขนาดนั้น

จริงจังของเราในที่นี้ อยากจะฝากก็คือ อย่างน้อย เช้าตื่นขึ้นมา ขอสักชั่วโมงหนึ่ง ก่อนนอนขออีกสักชั่วโมงหนึ่ง ในระหว่างวัน ก็มันต้องทำมาหากินกัน ต้องทำงานทำการกัน ถ้าอย่างนั้นก็ประคองใจเอาไว้ที่ศูนย์กลางกายเอาไว้ให้ดี รู้ตัวว่า มันหนีไปเที่ยวแล้ว...เอากลับมาใหม่...รู้ตัว...ไปอีกแล้ว...เอากลับมาใหม่

ก็สู้กันอย่างนี้เวลาทำงาน ทำงานไปด้วย ตามมาตามไป ก็ตามสมควร แต่เช้ากับกลางคืนก่อนนอนอย่าให้พลาด ทำอย่างนี้อย่าให้เว้นแต่ละวัน เดี๋ยวก็เห็นหน้าเห็นหลังเองแหละ...คุณโยม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น