วันอังคารที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2553

หลักธรรมในการคัดบุคคลที่ไม่มีคุณภาพออก

คำถาม:กราบหลวงพ่อด้วยความเคารพครับ ในอีกด้านหนึ่งครับ ถ้าเราจำเป็นจะต้องคัดบุคคลที่ไม่มีคุณภาพออก เราจะมีหลักในการตัดสินใจอย่างไรบ้างครับ

ตอบ:คุณโยม...ความจริงเมื่อตอนเอาเขาเข้ามา เราก็ว่าเราคัดแล้วล่ะนะ...ตรงนี้ ครั้งใดที่คัดคนออก ต้องโทษว่า เป็นความผิดของเราเป็นประการแรก คือ ดูคนพลาด หรือดูคนไม่เป็น ไม่ใช่ความผิดของเขาเพียงลำพัง...เอาล่ะ...เราพบว่าเขาไม่ดี แต่ขอให้รู้ด้วยว่า นั่นเป็นความผิดของเราด้วย เพราะว่า เราว่าเราคัดแล้ว แล้วเราคัดอย่างไร เขาถึงได้หลุดหูหลุดตาเรามาได้

อีกประการหนึ่ง ต้องดูด้วย เราอาจจะคัดเขามาดี ดูแล้วดูอีกก็ดีจริง แต่ว่าเมื่อมาถึงเราแล้ว เราฝึกเขาไม่ถึงขั้น แม้อย่างนี้ก็เป็นความผิดของเรา

ทีนี้...เมื่อดูว่า จำเป็นต้องคัดเขาออกเสียแล้ว ผลปรากฏว่า ขณะนี้...เขาไม่ค่อยดีเท่าที่เราหวัง หรือไม่ใช่เขาไม่ค่อยดี แต่แย่เอามากๆเลย ตรงนี้ก็ต้องทำด้วยความระมัดระวัง อย่าทำด้วยความเคียดแค้น เพราะถ้าเราจะคัดใครออกสักคน จำไว้...หากเราทำผิดพลาดนิดเดียว มีโอกาสถึงตายเชียวล่ะคุณ คุณจำไว้ คัดคนเข้าว่ายากแล้ว คัดคนออกยิ่งแสนยากหนักเข้าไปอีก

เมื่อเป็นอย่างนี้ จะคัดคนออกแต่ละครั้ง คิดแล้วคิดอีกให้ดี ไล่ความหนักหนาสาหัสไปตามลำดับว่า ควรจะกรณีอย่างไหน เอาออกก่อน-หลัง

ขั้นต้นเลย...ในการจะเอาคนออก ที่จะประจักษ์กับคนทั้งหลายว่า เขาไม่เหมาะสมที่จะอยู่ต่อไป แล้วคนอื่นก็สามารถเห็นได้ด้วย ตัวเขาก็ยอมรับด้วยว่า เขามันไม่ค่อยจะเข้าท่า

บุคคลประเภทแรก ที่พอจะคัดออกได้ง่ายหน่อย แล้วใครก็ติเราไม่ได้ คือ ผู้ที่เขาก็ไม่ค่อยจะมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่การงาน พูดง่ายๆ เช้าชามเย็นชาม พวกทำงานอย่างนี้ เช้าช้อนเย็นช้อน พวกอย่างนี้...ออกไปได้ก็ดี พรรคพวกก็อยากให้ออกอยู่แล้ว อย่างนี้อันตรายไม่เกิดกับเรา เอาออกไปเถอะ

บุคคลประเภทที่สอง คือ ผู้ที่ไม่รับผิดชอบต่อศีลธรรม กล่าวคือ เขาอาจจะรับผิดชอบต่อหน้าที่การงาน แต่ว่าศีลธรรมที่จะพึงมีกับหมู่คณะมันไม่ค่อยจะมี เช่น แอบไปกินเหล้าบ้าง หรือยืมเงินเพื่อนแล้วไม่คืนบ้าง อะไรทำนองนี้ คนพวกนี้เอาไว้ไม่ได้ จัดเป็นพวกไม่รับผิดชอบต่อศีลธรรม อย่าเอาไว้ หาทางคัดออกไปเถอะ เพราะฝึกก็ยาก

บุคคลประเภทที่สาม คือ ผู้ที่ไม่เคารพต่อกฎระเบียบ ฝีมืออาจจะดี ความรับผิดชอบการงานใช้ได้ แต่ว่า...ทำงานอยู่กับหมู่กับคณะ แล้วมักไม่เคารพกฎระเบียบ มีกฎมีระเบียบขั้นตอนอย่างนั้น...อย่างนี้ เขาก็มักข้ามขั้นตอนอยู่บ่อยๆ ทำให้หมู่คณะกระทบกระทั่ง...ตรงนี้คัดออก แต่ต้องระวังนะ มีโอกาสเดือดร้อนได้ เพราะว่าคนส่วนมากในองค์กร อาจจะไม่ทราบในความไม่เหมาะไม่ควรในสิ่งเหล่านี้ ต้องระมัดระวังให้ดี คนประเภทนี้ควร “เชิญออก” หรือ “แนะนำให้ออก” ไม่ใช่ “ไล่ออก” ไม่อย่างนั้น เดี๋ยวเดือดร้อน

บุคคลประเภทที่สี่ ประเภทนี้อันตรายแล้วเอาออกยากมากๆด้วย คือ ผู้ที่ชักนำ ไปชักชวน เพื่อนฝูง เพื่อนร่วมงานไปในทางที่ผิด ตัวอย่าง เช่น ชักชวนกันไปยกพวกตีกันกับคนอื่น ชักชวนไปเที่ยวในที่ไม่ควรเที่ยว ไม่ว่าที่ไหนก็ตามที ถ้ามีแววชักชวนในทางนี้บ่อยๆล่ะก็ คนประเภทนี้ ถ้าหาทางเชิญเขาออกมาได้แต่ต้นมือจะดี แต่ว่าขอเตือนไว้นะ...ยากมาก แล้วถ้าปล่อยเอาไว้ คนประเภทอย่างนี้จะชักชวนกันเดินขบวน ชักชวนสไตร์ท ทีแรกก็ไปเดินขบวนให้กับที่อื่น ไปๆมาๆ เดี๋ยวเถอะเดินขบวนในที่ของคุณเองนั่นแหละ บุคคลประเภทนี้เป็นบุคคลที่ต้องพึงระมัดระวัง เพราะฉะนั้นถ้าคุณไม่ดูให้ดีตั้งแต่ต้น จะมาเสียหายตรงนี้

ตรงนี้ฟ้องว่าอะไร...ฟ้องว่าจริงๆแล้ว เขาไม่ค่อยจะรับผิดชอบทั้งตัวเอง และครอบครัวของเขาเท่าที่ควรจะเป็น คนที่รับผิดชอบต่อครอบครัวดีจริงแล้ว จะไม่ทำแน่นอน ในเรื่องของชักชวนพรรคพวกเพื่อนฝูงร่วมงานในทางที่ผิด เขาจะไม่ทำ ถ้ามีอย่างนี้เมื่อไหร่ แสดงว่า คุณแย่มากเลย ไม่ได้เช็คถึงความรับผิดชอบในครอบครัวของเขาตั้งแต่ต้น

บุคคลประเภทที่ห้า ประเภทนี้ยิ่งยากต่อการที่จะคัดออก แต่จริงๆเอาไว้ไม่ได้ เป็นอย่างไร...ก็คือ ผู้ที่ใครๆก็เตือนไม่ได้ ถามว่า มีฝีมือดีหรือไม่...ดี แต่ถือตัวว่าเจ๋งมาก เพราะอย่างนั้นใครๆก็เตือนไม่ได้ เตือนก็โกรธ พวกนี้ถึงคราวจะต้องเอาออกก็ยาก...คุณแทบจะต้องกราบให้เขาออกเลย เตือนไว้ อย่าเอาออกด้วยวิธีการง่ายๆ ไม่งั้นอันตราย

เพราะฉะนั้น ดีที่สุด คือ คุณต้องคัดคนให้สุดฝีมือ แล้วก็ทดลองงานให้นานพอสมควร แล้วหาวิธีค้นให้ได้ว่า เขาเป็นมนุษย์ที่ใครเตือนไม่ได้หรือไม่ หรือถ้ามีแววว่า ทีแรกค้นอย่างไรก็ไม่เจอ ต่อมามีแววว่าจะเตือนไม่ได้ ใครเตือนไม่ได้ เหลือแต่เราคนเดียวล่ะก็...ตรงนี้หาทางยักย้ายถ่ายเทให้ดี ให้ไปอยู่ในตำแหน่งหรือในงานที่พร้อมจะยุบล่ะก็...บางทีจะรอดตัว...ถ้าไม่อย่างนั้นจะยาก

บุคคลประเภทที่หก ที่คุณจะต้องกำจัดออก คือ ผู้ที่ชอบก้าวก่ายหน้าที่ของคนอื่น...คนพวกนี้ จะมีความสามารถในการที่จะรายงานเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องของคนอื่นทั้งๆที่ไม่เกี่ยวกับตัวเอง แล้วเราก็มีความรู้สึกว่า “เออ...คนนี้เป็นหูเป็นตาเราดี” ที่ไหนได้ คนแบบนี้ชอบแต่ยุ่งเรื่องของคนอื่น คุณเองก็ระวังเอาก็แล้วกัน ถ้าคุณไม่ระวังในสิ่งเหล่านี้ตั้งแต่ต้น แล้วคุณต้องมาคัดออกตอนท้าย องค์กรของคุณจะป่วนหมดนะ แล้วคุณก็มีสิทธิ์ตายได้อีกด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น