วันอังคารที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว จริง?

คำถาม:ขอกราบเรียนถามหลวงพ่ออีกข้อหนึ่งนะเจ้าคะ คำว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว มีความหมายว่าอย่างไรเจ้าคะ ขอความกรุณาหลวงพ่อช่วยขยายความให้ชัดเจนด้วยนะเจ้าคะ และคนในปัจจุบันนี้มักจะเข้าใจว่า ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป อะไรทำให้เขามีความเข้าใจผิดๆ เช่นนั้นเจ้าคะ

คำตอบ: เจริญพร...ก็คงเป็น 2ประเด็นด้วยกัน

ประเด็นแรก “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” หมายถึงอะไร

ถ้าจะพูดให้เต็ม “ทำกรรมดีย่อมได้ผลดี” คือ เป็นความสุข เป็นความเจริญ “ทำกรรมชั่วย่อมได้ผลชั่ว” คือ ได้ผลในเชิงลบ เป็นความเดือดร้อน เป็นความตกทุกข์ได้ยาก ทั้งทางกาย ทางใจ

เจาะลึกเข้าไปอีกนิดหนึ่ง ดังที่กล่าวไปแล้วว่า คนเราทำกรรมได้ 3ทาง เพราะฉะนั้น ทำกรรมดี ไม่ว่า กรรมดีทางกาย ทางวาจา ทางใจ เมื่อทำกรรมดีแล้ว ผลแห่งกรรมดีนั้นต้องออกมาแน่นอน แต่ว่าจะออกมาในรูปแบบไหน คงต้องว่ากันเป็นเรื่องๆไป

ยกตัวอย่าง ทำกรรมดีด้วยการขยันหมั่นเพียรในการเรียนหนังสือของเด็ก ผลแห่งกรรมดีมาแน่นอน คือ มีความเข้าใจในเรื่องที่เรียน มีความฉลาดเฉลียวเพิ่มขึ้น และทำให้เด็กคนนั้นมีความมั่นใจในตัวเองเพิ่มขึ้น นี้เป็นผลของกรรมดี

แต่ว่าในทำนองกลับกัน ทำกรรมชั่วย่อมได้ผลชั่ว เป็นอย่างไร ถ้าขี้เกียจเรียนหนังสือ ขี้เกียจทำการบ้าน ขี้เกียจที่จะเข้าครัวไปช่วยแม่ทำกับข้าว เพราะฉะนั้นเรียนก็ไม่ดี ทำกับข้าวก็ไม่เป็น นอกจากทำกับข้าวไม่เป็นแล้ว ช่วยแม่ไม่ได้ ก็เลยต้องกินข้าวสายๆหน่อย แล้วทำให้ไปโรงเรียนไม่ค่อยจะทัน นี่จัดว่าเป็นกรรมชั่วที่เด็กคนนั้นจะพึงได้รับ

ทำดี ต้องได้ดี ทำชั่ว ต้องได้ชั่ว นี่คงเป็นคำตอบที่ชัดเจนในประเด็นแรก

ประเด็นที่สอง สาเหตุที่ทำให้คนสับสน เข้าใจผิดว่า “ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป”

ความสับสนในทำนองนี้ เกิดขึ้นหลายกรณี

กรณีแรก คนคนนั้นไม่เข้าใจว่า “ที่เรียกว่ากรรมดีเป็นอย่างไร”

อาตมาได้เจอมาหลายครั้งแล้ว เขาบอกว่า “เขาทำดีแล้วไม่ได้ดี” จึงถามไปว่า “ทำอะไรบ้าง” ก็ได้คำตอบว่า “โธ่...รับใช้รินเหล้าให้เจ้านายกินไม่เคยขาดเลยเชียว นายยังไม่รักเลย เมาทีไร เตะทุกทีเลย” (เขาคิดว่าทำกรรมดี แต่ความจริงสิ่งที่เขาทำนั้น คือ กรรมชั่ว)

คือ คนในกรณีแรกนี้ แยกไม่ออกว่า “ทำดีทำชั่วเป็นอย่างไร”

กรณีที่สอง คนคนนั้น แม้จะแยกออกว่า อย่างนี้คือทำดี อย่างนั้นคือทำชั่ว แต่ว่าเป็นประเภทใจร้อน คือ ทำดีแล้ว ก็อยากจะให้ผลดีออกมาทันที

ในการทำความดี องค์ประกอบประการแรก คือ คนเราทำความดี ต้องให้ ถูกดี ด้วย คือ ถูกประเด็นเรื่องนั้นจริงๆ เหมือนอย่างที่เคยอยู่ในวงนักธรรมะก็ชอบพูดกัน ของทุกอย่างมันจะมีจุดดีของมัน

ขอยกตัวอย่าง เช่น การซักเสื้อซักผ้าก็มีจุดดีของการซักเสื้อซักผ้า กล่าวคือ เสื้อที่เราใส่นั้น จุดที่เปื้อนมากที่สุดคือแถวคอ แถวปก กับแถวปลายแขนเสื้อ จะเปื้อนมากหน่อย ถ้าเราขยี้ให้ทั่วตัวเสื้อ แต่ไม่ได้ขยี้ที่คอ ที่ปก อย่างนี้ ไม่ถูกดี

แต่ ถ้าเราขยี้ที่คอ ขยี้ที่ปก ให้เรียบร้อยก่อน แล้วที่อื่นก็พอประมาณ อย่างนี้ ถูกดี

แม้จะ ถูกดี แล้ว ยังจะต้องมี องค์ประกอบประการที่สอง คือ ถึงดี ด้วย เช่นในการซักเสื้อดังกล่าว ควรจะขยี้สัก 30ครั้ง ถ้าเราขยี้แค่ 10ครั้ง อย่างนี้ยังไม่ ถึงดี เพราะฉะนั้นมันไม่เกลี้ยงหรอก

พูดง่ายๆ งานทุกชิ้น เมื่อทำแล้ว อย่าทำแบบผักชีโรยหน้า ทำแล้วก็ต้องทำกันเต็มกำลัง แล้ว ผลดีจะออก

แต่อย่างไรก็ตาม ทั้งที่ ถูกดี ถึงดี แล้ว แต่ก็ต้องมี องค์ประกอบประการที่สาม คือ พอดี ด้วย อย่าให้มันเกินไป เช่น จากตัวอย่างเดิม เราควรจะขยี้ 30ที แต่เราขยี้เผื่อเหนียวไปสัก 100ที...เสื้อขาด ไม่ได้ใส่

ดังนั้น ทำอะไรต้องรู้จักพอประมาณ เกินกำลังก็ไม่ได้ เดี๋ยวเสียหาย น้อยไปก็ไม่ถึงจุดดี ทำแล้วต้องให้ ถูกดี ถึงดี พอดี จึงจะได้ดี แต่ทั้งที่ ถูกดี ถึงดี พอดี

องค์ประกอบสำคัญประการที่สี่ คือ เวลา อย่างที่ว่าไว้ “ให้เวลามันด้วย”

แต่ที่เกิดความสับสนก็คือ ในขณะที่รอเวลาให้ผลแห่งกรรมดีออก มันอาจจะต้องใช้เวลาเป็นเดือนเป็นปี ในระหว่างนั้นเอง กรรมชั่วในอดีตมันตามมาทัน มันมาออกผลก่อน

เราจึงรู้สึกว่า กำลังทำดีอยู่ ทำไมต้องมาเดือดร้อนด้วยเรื่องนั้นเรื่องนี้ ทั้งๆที่เรื่องนี้เราทำมานานแล้ว มันควรจะจบๆไปแล้ว (แต่มันไม่จบ มันเพิ่งมาออกผล) จึงกลายเป็นว่า ขณะที่กำลังทำความดีอยู่ มีผลเสียหายเกิดขึ้นเสียแล้ว มันเกิดจากความชั่วในอดีต

จึงทึกทักเอาว่า “ทำดีกลับได้ชั่ว” แต่ความจริงแล้ว ทำดีต้องได้ดี แต่ว่าผลดีของกรรมดีนั้น ยังไม่ทันออก มาถูกตัดรอนด้วยกรรมชั่วในอดีตเสียก่อน
แต่ถึงกระนั้นก็ตาม เมื่อได้จังหวะของกรรมดี กรรมดีนั้นออกผล มันก็จะได้ความชื่นใจในภายหลังอีกเหมือนกัน

คนที่ใจร้อน ไม่รอสอบสวนทวนต้นปลาย จึงเข้าใจผิดกันไป มีหลายคนบอกว่า “อย่างนี้ ก็ให้เมื่อทำกรรมดี ก็ให้ได้ผลปุ๊บ ทำกรรมชั่วก็ให้ได้ผลปั๊บไปเลย มันน่าจะยุติธรรมดีนะ ไม่ต้องรอเวลา” หลวงพ่อก็ว่าดีนะ แต่มีบางอย่างที่อยากจะเตือน

ยกตัวอย่างก็แล้วกัน ถ้าทำทานแล้ว ให้รวยทันที...อย่างนี้ดี แต่ว่า ถ้าโกหกแล้ว ให้ฟันหักทันที หลวงพ่อสงสัยว่า “ผู้ที่นั่งชมอยู่นี่ จะมีฟันเหลือคนละกี่ซี่ก็ไม่รู้” หลวงพ่อว่า “การให้เวลากันบ้าง มันก็ยุติธรรมดี ก็ฝากไว้เป็นข้อคิดด้วยนะ”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น