วันพุธที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ศัตรูร้ายของแตงโม

ศัตรูร้ายของแตงโม
หมวด: บทความ

แตงโม Citrullus lanatus (Thub.) Matsum. & Nakai เป็นผลไม้เมืองร้อน มีชื่อเรียกแตกต่างกันขึ้นอยู่กับภูมิภาคนั้น เช่น ภาคอีสาน เรียก บักโม, ภาคเหนือ เรียก บะเต้า, ตรัง เรียก แตงจีน ถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีป

แอฟริกา แถบทะเลทรายคาลาฮารี เข้าสู่อเมริกาโดยชนผิวดำผู้ใช้แรงงานในไร่ จากนั้นก็ได้แพร่ขยายไปสู่ทวีปยุโรปและเอเชีย เรื่อยมาจนปัจจุบัน แตงโมเป็นไม้เถาสกุลเดียวกับแตงกวา แคนตาลูปและฟัก ลำต้นเป็นเถาเลื้อยแผ่ไปตามพื้นดิน ใบมีลักษณะเว้าลึก 3-4 หยัก ก้านใบยาว ทั้งเถาและใบมีขนอ่อนปกคลุมผลแตงโมมีทั้งแบบกลม กลมรี และทรงกระบอก ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางผล 15-40 ซม. เปลือกแข็ง สีเขียว สีเขียวเข้ม และสีเหลือง บ้างก็มีลวดลายสีขาวเป็นแถบยาวจากขั้วถึงปลายผล รสราติที่เด่น หวานกรอบ และฉ่ำน้ำ ในเนื้อมีเมล็ดสีดำขนาดเล็กแทรกอยู่บริเวณใจกลางผล ปัจจุบันแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มพันธุ์ใหญ่ ๆ ตามลักษณะของผลและเมล็ด ดังนี้

1. แตงโมพันธุ์ธรรมดา มักจะเป็นพันธุ์จากต่างประเทศมีรสชาติหวานจัดและขนาดเมล็ดเล็ก เช่น แตงโมจินตหรา แตงโมตอร์ปิโด แตงโมกินรี เป็นต้น

2. แตงโมพันธุ์ไม่มีเมล็ด เป็นพันธุ์ลูกผสม ( F1) ที่ปรับปรุงสายพันธุ์ขึ้นมาเพื่อการส่งออกโดยเฉพาะ เช่น พันธุ์แบล็กบอล ( Black Ball ) ที่มีเปลือกสีเขียวเข้ม ผลกลมราวกับลูกบาล ไม่มีเมล็ดแก่มีแต่เมล็ดอ่อนสีขาว และ แตงโมผลสี่เหลี่ยม ซึ่งเกิดจากการเลี้ยงผลแตงโมให้โตในกล่องสีเหลี่ยม เพื่อสะดวกในการขนส่ง

3. แตงโมพันธุ์กินเมล็ด ปรับปรุงสายพันธุ์เพื่อเพาะปลูกเอาเมล็ดมาคั่วไว้กินเล่น แตงโมพันธุ์กินเมล็ดเป็นแตงโมที่มีเนื้อน้อย ภายในผลเต็มไปด้วยเมล็ดขนาดใหญ่ โรคที่สำคัญของแตงโมที่เกิดจากการเข้าทำลายของเชื้อราในดินหนีไม่พ้น “ โรคเถาเหี่ยว” ซึ่งเกิดจากเชื้อราฟิวซาเรียม แตงโมที่เป็นโรคนี้จะแสดงอาการให้เห็น คือ สีใบจะซีด ใบและเถาจะเหี่ยว บริเวณโคนเถาที่ใกล้กับผิวดิน จะแตกตามยาวและมีน้ำเมือกซึมออกมา เมื่อผ่าไส้กลางเถาดูจะเห็นภายในเป็นสีน้ำตาล โรคนี้จะระบาดมากในช่วงแตงโมกำลังออกดอก แต่หากมีการปลูกซ้ำที่เดิมโรคจะระบาดรุนแรงมากขึ้น สำหรับสาเหตุและปัจจัยเสริมนั้น

1. อุณหภูมิ : เชื้อราชนิดนี้เจริญและเข้าทำลายแตงโมได้ดีที่อุณหภูมิระหว่าง 24 - 27 องศาเซลเซียส

2. สภาพภูมิอากาศ : ขณะแตงกำลังเจริญเติบโตมีฝนตกติดต่อกันยาวนาน

3. สภาพทั่วไปของดิน : มีธาตุไนโตรเจนอยู่สูง แต่มีธาตุฟอสฟอรัส และโปแตสเซียม อยู่ต่ำ หรือดินเป็นกรดจัด

สำหรับการป้องกันและกำจัดเชื้อราดังกล่าว คุณอภิเชษฐ์ นักส่งเสริมการตลาดของชมรมเกษตรปลอดสารพิษได้แนะให้เกษตรกรในพื้นที่ อ. กาญจนดิษฐ์ ที่ปลูกแตงโม และมีปัญหาแตงโมเถาเหี่ยวแล้วต้นตายในที่สุด หันมาทดลองใช้เชื้อไตรโครเดอร์ม่า Trichoderma harzianum โดยให้หว่านร่วมกับปุ๋ยคอกในอัตรา เชื้อไตรโครเดอร์ม่า 1 กก.ต่อปุ๋ยคอก 50 กก. หว่านรอบทรงพุ่ม ประมาณ 300 กรัม/ต้น หรือกรณีรองก้นหลุมก่อนปลูกต้นกล้า 200 – 250 กรัม/หลุม หลังจากทดลองให้เกษตรกรใช้ประมาณ 1 สัปดาห์พบว่าอาการระบาดของเชื้อเริ่มทรงตัวหยุดการระบาด เริ่มแตกแขนง ผลิใบอ่อนให้เห็นในสัปดาห์ที่ 2 จากนั้นให้ฉีดพ่นปุ๋ยเกร็ดสูตร 30 – 20 – 10 อัตรา 50 – 100 ต่อน้ำ 20 ลิตร ให้ทั่วทั้งแปลงในตอนเช้า เนื่องจากต้นพืชจะได้นำไปใช้ได้ทันที หากต้องการให้ได้ประสิทธิเพิ่มมากขึ้นควรปรับสภาพน้ำด้วย ซิลิซิค แอซิค และเพิ่มสารจับใบ ( ม้อยเจอร์แพล้น )ทุกครั้งที่มีการฉีดพ่นยาหรือฮอร์โมน สำหรับกรณีปลูกซ้ำที่เดิมให้ใช้วิธีการหมักขยาย โดยให้นำเชื้อไตรโครเดอร์ม่า 1 ช้อนแกง + กากน้ำตาล + น้ำ 10 ลิตร หมักทิ้งไว้ประมาณ 8 -10 ชั่วโมงก่อนผสมน้ำ 200 ลิตร ฉีดพ่นให้ทั่วแปลงแบบปูพรมก่อนหลังปลูกรุ่นใหม่ เพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อดังกล่าวในเบื้องต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น