นั่นคือภัยที่กลุ่มมนุษย์เงินเดือนต้องเผชิญมา ที่กลุ่มมิจฉาชีพใช้ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีและหลักการทางด้านการเงินใช้เพื่อหลอกล่อเอาเงินจากบัตรเครดิตหรือจากบัตรเอทีเอ็มไปจากตัวพวกเขาโดยที่ไม่รู้ตัว
เมื่อมนุษย์เงินเดือนที่มีบัตรเครดิตใช้ แม้จะมีการศึกษาสูง ฉลาดรอบรู้ ไม่น่าจะถูกหลอกง่ายๆ ยังโดนมาแล้ว แล้วประชาชนทั่วไปจะเหลืออะไร เพราะในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา มีการแจ้งความคดีฉ้อโกงทั้งที่จังหวัดเชียงใหม่และภูเก็ต จากกรณี “แชร์ข้าวสาร” ไม่เพียงแค่นั้นยังมีคดีหลอกลวงชาวบ้านที่จังหวัดปัตตานีอีกราย
ใน 2 จังหวัดแรกเป็นแชร์ข้าวสาร บริษัทที่เปิดดำเนินการเป็นบริษัทเดียวกันคือบริษัทร่วมทุนค้าปลีก จำกัด ส่วนที่ปัตตานีเป็นอีกบริษัท เอส.พี.ไอ 2 บี จำกัด ขายตรงผลิตภัณฑ์เสริมความงาม และสินค้าอุปโภคบริโภค นี่เป็นเพียงแค่ 3 บริษัทที่ประชาชนที่ได้รับความเสียหายดำเนินการตามกฎหมาย แต่ยังมีอีกหลายบริษัทที่ยังเปิดดำเนินการอยู่หรืออาจปิดกิจการไปแล้วแต่ยังไม่เป็นคดีความ
ศูนย์ข่าวเชียงใหม่หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายงานว่า ที่เชียงใหม่ยังมีอีกหลายรายที่เปิดบริการอยู่นอกจากร่วมทุนค้าปลีกที่ปิดไปแล้วตอนนี้บริษัทสมคิดธุรกิจก็ปิดไปอีกราย
แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า “จริงๆ แล้วการหลอกลวงประชาชนให้เข้าไปเป็นเหยื่อแชร์ลูกโซ่นั้นมีมายาวนาน เจ้าของปิดกิจการหนีก็หลายราย แต่คนไทยก็ไม่เข็ด ประกอบกับได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบของตัวสินค้าและสร้างแรงจูงใจในเรื่องผลตอบแทนภายใต้ระยะเวลาสั้นๆ แค่นี้ก็เรียกคนเข้ามาได้แล้ว”
ยิ่งสภาพเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ในเวลานี้ น้ำมันแพง สินค้าต่างๆ แพง ค่าครองชีพสูงขึ้น ยิ่งเป็นแรงหนุนชั้นดีที่จะดึงคนให้เข้ามาสู่วงจรของแชร์ลูกโซ่ได้ง่ายขึ้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น