วันอังคารที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ขายตรงVSแชร์

ขายตรงVSแชร์

ประเทศสหรัฐอเมริกายังเป็นตลาดที่เติบโตสูงสุดของการขายตรง ในขณะที่ประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ครองอันดับที่ 2 และที่ 3 ตามลำดับ ส่วนประเทศไต้หวัน รวมถึงไทยติดอันดับ 1 ใน 10 ของตลาดเช่นกัน ซึ่งชี้ให้เห็นว่าตลาดในภูมิภาคเอเชียยังคงมีศักยภาพที่จะเติบโตได้อีกมาก

สำหรับ ธุรกิจขายตรงในประเทศไทยนั้นในแต่ละปีมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันตลาดนี้มีมูลค่ามากกว่า 50,000 ล้านบาทเข้าไปแล้ว และมีผู้คนอยู่ในระบบนี้มากกว่า 7 ล้านราย เนื่องจากมีผู้ที่สนใจที่ต้องการเป็นเจ้าของธุรกิจด้วยตนเองเข้ามาสู่ตลาดขายตรงมากขึ้น นี่คือตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการ เพราะแม้ปัจจุบันไม่มีใครชี้ชัดได้ว่า มูลค่าตลาดของธุรกิจขายตรงในบ้านเมืองเรามีเท่าไหร่กันแน่

ด้วยเหตุผลขายตรงผุดขึ้นมากกว่าที่ผ่านการจดทะเบียนจาก สคบ. และมูลค่าตลาดวัดเพียงจากกลุ่มธุรกิจที่อยู่ในสมาคมขายตรงเท่านั้น ซึ่งเข้าใจว่า ยังไม่ถึง 1 ใน 4 ของขายตรงที่มีอยู่ทั้งหมด

ในอนาคตอาชีพนักขายตรงจะไม่จำกัดเฉพาะกลุ่มคนทำงานเท่านั้น แต่นักขายตรงจะเป็นผู้ที่มีอายุน้อยลงในอัตราที่สูงขึ้น และแนวโน้มที่ธุรกิจนี้จะพัฒนาสู่โลกของระบบสารสนเทศ หรือการนำเทคโนโลยีอันทันสมัย อาทิ อินเตอร์เน็ต ระบบการสื่อสารไร้สาย มาใช้อำนวยความสะดวกของการดำเนินธุรกิจจะเพิ่มขึ้น รวมทั้งการสปอนเซอร์ข้ามประเทศในบริษัทขายตรงของไทยจะมากขึ้น ซึ่งโดยรวมแล้วคือการพัฒนาตลาดขายตรงไทยให้ก้าวตามกระแสตลาดขายตรงโลกนั่นเอง

อย่างไรก็แล้วแต่ เห็นได้ชัดเจนว่า อุตสาหกรรมขายตรงนั้นจะเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพกับประเทศที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เทคโนโลยี และการศึกษา และกลุ่มประเทศเหล่านั้นผู้ประกอบการมีจรรยาบรรณในการประกอบธุรกิจสูงมาก ขณะที่ประสิทธิภาพของคนทำธุรกิจนี้นั้นมีศักยภาพสูงพอสมควร ซึ่งหากเทียบกับประเทศไทยแล้วถือว่ายังห่างกันอย่างลิบลับ แม้ว่าเราจะมีอัตราการเติบโตไปในทิศทางที่ดีก็ตาม

เพียงแต่เป็นการเติบโตทางด้านตัวเลข ที่ไร้ประสิทธิภาพในการจัดการ ในระบบการควบคุม การสร้างความรับรู้ ตลอดจนตัวบทกฎหมาย และไร้จรรยาบรรณ

ประเทศไทยนั้นยังมีจุดเด่น จุดด้อยอีกมากมาย เรายังคงมีปัญหาในการตอบโจทย์อีกมากในการไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางความคิด ตลอดจนพัฒนาการทางด้านความคิดในเชิงสร้างสรรค์

ถึงวันนี้นิยามของคำว่า “ขายตรงรวมเป็นหนึ่ง” นั้นยังคงมีความสำคัญในแง่ของการกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อปฏิวัติวงการขายตรงให้ดูดี และมีศักยภาพ เพียงแต่ปัญหาของเราวันนี้ยังติดอยู่ที่ “ตัวบุคคล” ที่ยังคงมีแนวคิดไปคนละทิศละทางของผู้ประกอบการภาคเอกชน และรัฐบาล

ขณะที่กลุ่มผู้บริโภคนั้นยังขาดความรู้ความเข้าใจใน “ขายตรง” อย่างลึกซึ้ง เพราะหลักการประชาสัมพันธ์ยังไม่เข้าถึง และคงอีกนานกว่าจะเข้าถึง ปัญหาส่วนหนึ่งเกิดขึ้นมาจากการศึกษา ปัญหาส่วนหนึ่งเกิดมาจากระดับปัญญาที่ไม่ทัดเทียมกันของผู้ประกอบการ แต่ปัญหาใหญ่ก็คือ การขาดจิตใต้สำนึกในการทำธุรกิจของคนในระบบ และอีกหลายต่อหลายปัญหาน่าปวดหัว

แล้วทีนี้เราจะทำอย่างไรกันดี?????? คำถามอย่างนี้จะยังคงวนเวียนอยู่ในประเทศไทยไปอีกนานแสนนาน

ผมขอทิ้งท้ายที่ตลาดปักษ์ใต้หน่อยครับ คนในกลุ่มธุรกิจขายตรงต่างยอมรับกันดีว่า ปักษ์ใต้บ้านเรานั้นเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงสุด โดยเฉพาะศักยภาพเรื่องเงินๆ ทองๆ ที่แทบจะเหนือกว่าภาคใดๆ

แต่วันนี้ตลาดปักษ์ใต้กำลังโดนทำลายจากกลุ่มคนบางกลุ่มที่มองเห็นโอกาสมาจากความมั่งคั่ง ความสมบูรณ์ทรัพย์สิน เงินทอง กลับกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ชั้นดีของ “แชร์ลูกโซ่”

หาดใหญ่คือพื้นที่ที่ได้รับความนิยมสูงสุดครับ และเป็นแหล่งเพาะพันธ์ชั้นยอดของนักเล่น พื้นที่ต่อมาคือ ภูเก็ต จังหวัดนี้โด่งดังเรื่องมันนี่เกมที่รุ่งเรืองถึงขีดสุดในยุคสมัย แชร์ข้าวสาร นั่นเพราะเจ้าของมีถิ่นพำนักอยู่ที่นี่

ส่วนที่ไล่มาติดๆ ก็คือ สุราษฎร์ธานี จังหวัดนี้ไม่ใช่แหล่งกำเนิด แต่มีนักเล่นเติบโตสูงมาก

และเชื่อหรือไม่ครับ กลุ่มจังหวัดที่เนื้อหอมมากที่สุดกลับเป็น 3 จังหวัดชายแดนใต้ ว่ากันว่า มีแก๊งจากมาเลเซียเข้ามาเปิดดำเนินธุรกิจในลักษณะผิดกฎหมายเกือบ 10 กลุ่ม ซึ่งข้อมูลนี้ได้มาจากการรายงานของสมาชิกขายตรง ไปยังสื่อต่างๆ ในระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา และเชื่อว่า มีคนถูกหลอกเข้าระบบมากมาย

ไม่ใช่เฉพาะภาคใต้หรอกครับ ภาคอื่นๆ ก็เหมือนกัน จริงๆ ระบบ มันนี่เกมทั้งหลายระบาดไปทุกหย่อมหญ้า ระบาดเหมือนหวยใต้ดิน คนเล่นก็หน้าเก่าๆ

ประมาณเก่าไปหาใหม่ ส่วนรายใหม่ๆ ไม่ใช่ไม่รู้ว่าสิ่งที่เล่นผิด กฎบัตรกฎหมาย แต่เล่นด้วยความตั้งใจ

ผมไม่แน่ใจถึงปัจจุบันกลุ่มมันนี่เกมระบาดขนาดไหน เอาเป็นว่าไปจังหวัดไหนเจอทุกจังหวัด ลงลึกไม่เว้นหมู่บ้านที่ยังไม่มีถนนลาดยางด้วยซ้ำ

สรุปจริงๆ แล้ว “มันนี่เกม” ทวีจำนวนเพิ่มขึ้นมากกว่าเก่าเยอะเลย ผมว่ามูลค่าเยอะกว่าขายตรงเสียอีก สงสัยต้องทำใจกันแล้วครับพี่น้อง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น