วันพฤหัสบดีที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2552

อย.เชือด'ขายตรงฯ'โฆษณาเว่อร์เกินจริง

อย.เชือด'วินเนอร์ฯ'โฆษณา'Adoxy'เว่อร์เกินจริง

หยดน้ำมหาประลัย Adoxy ถูก อย.สั่งเชือดแล้ว หลังโฆษณารักษาได้สารพัดโรคโอเว่อร์เกินความเป็นจริง พร้อมเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อ ผ้าอนามัยยี่ห้อ 'Anion' ของบริษัทจดทะเบียนธุรกิจ MLM ชื่อ 'Love Moon' ทางเว็บไซต์นี่ก็โฆษณาเกินจริง อย.เตรียมออกกฎเหล็กเล่นงานบริษัทขายตรงขายสินค้าลวงโลก แม้จะอ้างว่าสมาชิกไปทำกันเองก็ไม่ยกเว้น ส่วน "ดีเอสไอ." ประกบติดเก็บข้อมูลลึกค่าย "อ." ย่านศรีนครินทร์ ขายข้าวสารอาหารแห้ง และบริษัท "ว." ขายตรงย่านรัชดาฯ บริษัท "ซ." เว็บไซต์ย่านถนนอโศก และก๋วยเตี๋ยวแฟรนไชส์ 2-3 ราย ที่ส่อไปในทางระดมเงิน หากมีผู้เสียหายพร้อมเล่นงานเหมือนกรีน แพลนเนทฯ

นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดแถลงข่าว เกี่ยวกับการดำเนินคดีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารตราเอโดซี (Adoxy) ซึ่งผลิตโดยบริษัท สยามไบโอเทค และอุตสาหกรรมเภสัช จำกัด ว่า อย.ได้รับการร้องเรียนจากผู้บริโภคจำนวนมากทั้งใน กทม.และต่างจังหวัดว่า มีการโฆษณาขายตรงผลิตภัณฑ์เสริมอาหารตราเอโดซี อวดอ้างสรรพคุณเกินจริงว่ารักษาโรคร้ายเรื้อรังให้หายขาดได้ เช่น โรคเบาหวาน มะเร็งและความดันโลหิตสูง เป็นต้น จำหน่ายราคาสมาชิก 950 บาทราคาขายปลีก 1,250 บาท ขนาดบรรจุ 15 มิลลิกรัม ตรวจสอบแล้วพบว่ามีสารอาหารตามปกติ "แต่ไม่สามารถรักษาโรคได้" อย่างที่กล่าวอ้าง

แฉจะจะส่วนผสม Adoxy
ไม่มีสารรักษาโรคเรื้อรังได้


"จากการตรวจสอบพบว่า มีส่วนประกอบของจมูกข้าวสาลี ผงโปรตีนสกัดจากถั่วเหลือง ผงมะละกอ สารสกัดจากแครอท สารสกัดจากงาดำ สารสกัดจากผักชี ผงผักโขม และจากถั่วขาว ซึ่งเป็นสารอาหารที่รับประทานได้จากอาหารปกติ แต่ไม่สามารถรักษาโรคเรื้อรังได้ตามคำโฆษณา แม้เบื้องต้นจะไม่พบสารอาหารที่ส่งผลร้ายต่อร่างกาย แต่ อย.กำลังส่งไปตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการว่ามีสารอื่นที่เป็นอันตรายต่อร่างกายปนเปื้อนหรือไม่ หากพบ อย.จะดำเนินการต่อไป" นพ.ศิริวัฒน์ กล่าว

อย.ไล่เชือด "วินเนอร์ฯ"
กวาดล้างนักขายทั่วประเทศ


นพ.ศิริวัฒน์ กล่าวด้วยว่า เบื้องต้น อย.ดำเนินการตามกฎหมายกับ "บริษัท วินเนอร์ ไวน์ เวิลด์ จำกัด" ผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ และดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ที่เกี่ยวข้องในข้อหาโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 41 มีโทษตามมาตรา 71 ปรับไม่เกิน 5 พันบาท และข้อหาโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณอาหารอันเป็นเท็จหรือหลอกลวงให้หลงเชื่อโดยไม่สมควร ตามมาตรา 40 มีโทษตามมาตรา 70 ต้องจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 สำหรับในส่วนภูมิภาคจะดำเนินคดีในลักษณะเดียวกันกับผู้แทนขายตรงผลิตภัณฑ์นี้ด้วย

เตรียมออกกฎเหล็กเล่นงาน
มัดนักขาย-บริษัทที่ซัดกันไปมา


แหล่งข่าวจาก อย.เปิดเผยกับ "ตลาดวิเคราะห์" ว่า ทาง อย.ได้มีการตรวจสอบบริษัทฯ ผู้ประกอบการขายตรงในปัจจุบันพบว่า ส่วนใหญ่ไม่พบหลักฐานเอกสารโฆษณาที่เผยแพร่ในท้องตลาด และผู้ประกอบการมักจะให้ข้อมูลว่าเป็นการจัดทำของสมาชิกอิสระขายตรงเอง โดยบริษัทไม่ได้เป็นผู้จัดทำ เรื่องนี้เป็นปัญหาในการดำเนินการตามกฎหมายกับบริษัทผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของและผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง ที่เป็นต้นเหตุของปัญหา รวมทั้งไม่สามารถระงับ ป้องปรามปัญหาดังกล่าวได้อย่างเป็นรูปธรรมและมีผลในทางปฏิบัติ

"กองควบคุมอาหารเห็นว่า ควรแก้ไขปัญหาดังกล่าวเชิงระบบ เพื่อให้การดำเนินการของสำนักงาน อย.สามารถคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องเป็นธรรม โดยใช้หลายมาตรการ ได้แก่ การยกเลิกเลขสารบบอาหาร การสั่งระงับการจำหน่ายอาหาร กับบริษัทผู้ประกอบการตามมาตรา 42 (2) หรืออาจมีการแก้ข้อกฎหมาย เพื่อให้ดำเนินการกับบริษัทผู้ประกอบการได้ทุกกรณี แม้จะอ้างว่าตัวแทนจำหน่ายอิสระเป็นผู้ดำเนินการเสนอขายสินค้าที่อวดอ้างสรรพคุณเกินความเป็นจริงก็ตาม เบื้องต้นคือ อาจดำเนินการด้านกฎหมายทั้งขบวนการ ให้ผู้ประกอบการหาหลักฐานไป แก้ต่างเอาเองภายหลังว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง" แหล่งข่าวกล่าว

ดีเอสไอ.จ่อคิวเชือดค่ายมันนี่เกมส์
รอผู้เสียหายมัดจับแบบ "GPN"


ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจากเจ้าหน้ากรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ.รายหนึ่งว่า บริษัทขายตรงหลายบริษัท ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการระดมเงินอยู่มาก แม้กฎหมายขายตรงจะเอาผิดไม่ได้ แต่ก็มีกฎหมายฉ้อโกงฉบับอื่นที่สามารถเข้าไปดำเนินการจัดการได้ อย่างกรณีของบริษัท อ. ย่านถนนศรีนครินทร์, บริษัท ว. ย่านรัชดาฯ ซอยเกิน 17, บริษัท ซ. ย่านถนนอโศก รวมถึงก๋วยเตี๋ยวแฟรนไชส์ ย่านถนนเกษตรตัดใหม่ ซึ่งบริษัทเหล่านี้ได้มีผู้ร้องเรียนเข้ามาให้เข้าไปสอดส่องดูพฤติกรรม ทาง ดีเอสไอ.ก็ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปเก็บรวบรวมข้อมูลไว้แล้วจำนวนหนึ่ง

"ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบว่าพฤติกรรมการดำเนินธุรกิจของบริษัทดังกล่าวเข้าข่ายระดมเงินหรือไม่ ผิด พรบ.แชร์ลูกโซ่หรือไม่ ถ้าเข้าข่ายและมีผู้เสียหายเกิดขึ้นเหมือนลักษณะบริษัท กรีน แพลนเนทฯ ซึ่งมีผู้เสียหายร้องเรียนเข้ามาจำนวนมาก เราก็จะยื่นเรื่องเสนอให้ สคบ.เพิกถอนใบอนุญาตบริษัทนั้นๆ ออกจากระบบขายตรง หลังจากนั้นก็จะเข้าไปดำเนินการทางกฎหมายต่อไป"

ฉะนั้น จึงขอแจ้งข่าวสารถ้าประชาชนได้รับความเสียหายไม่ว่าจะถูกบริษัทไหนส่อพฤติกรรมหลอกลวง ก็สามารถแจ้งความร้องทุกข์กับเจ้าหน้าที่ ดีเอสไอ.ได้ทุกเมื่อ แต่ถ้ายังไม่มีผู้เสียหายเกิดขึ้น ทางเราก็คงจะยังไม่ดำเนินการอะไร เพียงแต่เก็บรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นไว้เท่านั้น ทุกอย่างต้องเป็นไปตามขั้นตอน

ผ้าอนามัย 'Anion' ขายMLM
อย.เตือนนี่ก็โฆษณาเกินจริง


นพ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา อย. ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการโฆษณาแผ่นอนามัย และ ผ้าอนามัยยี่ห้อ 'Anion' ของบริษัทจดทะเบียนธุรกิจเอ็มแอลเอ็มชื่อ 'Love Moon' ทางเว็บไซต์ http://www.lovemoonforhealth.com และ http://www.thailovemoon.com/webmaster.php

โดยมีการอวดอ้างว่าผ้าอนามัยดังกล่าวสามารถยับยั้งการเพิ่มจำนวนเชื้อแบคทีเรียและไวรัส ลดการติดเชื้อยับยั้งและลดการอักเสบในช่องคลอดที่เกิดจากการติดเชื้อจุลินทรีย์และไวรัส สามารถขับของเสียที่สะสมในช่องคลอดเพิ่มระบบไหลเวียนเลือด จึงช่วยลดอาการปวดประจำเดือนเสริมสร้างภูมิคุ้มกันลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปากมดลูก

นอกจากนี้ มีการแถมแผ่นตรวจสุขภาพภายในที่เพียงแค่นำสำลีที่สอดในช่องคลอดแล้วป้ายลงบนแผ่นตรวจและสังเกตสีต่างๆ ที่เกิดขึ้นก็สามารถบอกได้ว่าสุขภาพภายในเป็นอย่างไร ซึ่งการอวดอ้างสรรพคุณดังกล่าวทำให้ผ้าอนามัยดังกล่าวจัดเป็นเครื่องมือแพทย์

นพ.นิพนธ์ กล่าวต่อว่า จากการตรวจสอบพบว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีโรงงานผลิตอยู่ในมณฑลเสินเจิ้น ประเทศจีน โดย บริษัท ไวนาไลท์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เป็นผู้นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย มีการแจ้งกับ อย. เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2550 ว่าเป็นเครื่องสำอางควบคุม ซึ่ง อย.อนุญาตในการนำเข้าเท่านั้น ไม่ได้อนุมัติรับรองคุณภาพมาตรฐานดังที่กล่าวอ้าง

นอกจากนี้ จากการตรวจสอบกับทางบริษัทฯ เกี่ยวกับโฆษณาดังกล่าวบริษัทฯ อ้างว่า ข้อความโฆษณานั้นบริษัทฯ ไม่ได้เป็นผู้จัดทำหรือว่าจ้างให้บุคคล-อื่นเป็นผู้จัดทำ และไม่ได้เป็นผู้ลงโฆษณาแต่อย่างใด
"อย.จึงได้เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ส่งตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และประสานกับกองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีในการสืบสวนหาผู้จัดทำเว็บไซต์ดังกล่าวเพื่อมาดำเนินคดีต่อไป จึงขอเตือนผู้บริโภคอย่าได้หลงเชื่อการโฆษณาที่อวดอ้างเกินจริงนี้ และหากพบเห็นการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่น่าสงสัยว่าจะหลอกลวงสามารถแจ้งได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือโทรสายด่วน อย.1556" นพ.นิพนธ์กล่าว

ซึ่งล่าสุดผู้สื่อข่าวได้ตรวจสอบเว็บไซต์ดังกล่าว แต่ก็ได้ปิดตัวไปเรียบร้อยแล้ว

ที่มา http://www.taladvikrao.com/212/21203.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น