วันพุธที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ไคติน-ไคโตซาน สารมหัศจรรย์จากธรรมชาติ

มหัศจรรย์จากธรรมชาติ
ไคติน-ไคโตซาน สารมหัศจรรย์จากธรรมชาติเมื่อพูดถึงไคติน สิ่งที่คุณผู้อ่านนึกถึงเป็นอันดับแรกๆ ก็คือความอ้วน และเชื่อว่าคุณผู้หญิงและคุณผู้ชายที่มีหุ่นตุ้ยนุ้ยจนละม้ายคล้ายโอ่งมังกรหลายๆ คนคงเคยลองใช้ผลิตภัณฑ์ไคติน-ไคโตซานมาแล้ว นอกจากจะช่วยควบคุมน้ำหนักแล้ว ไคตินยังมีสรรพคุณอีกสารพัดสารเพที่เรียกได้ว่าแทบจะบรรยายไม่หมดเลยทีเดียว ทั้งดักจับคราบไขมันและโลหะหนัก เป็นอาหารเสริมสุขภาพ และเป็นส่วนประกอบของเครื่องสำอาง

ไคตินคืออะไร
ไคตินเป็นพอลิเมอร์ชีวภาพชนิดหนึ่งที่ธรรมชาติสร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อ เป็นองค์ประกอบในโครงสร้างต่างๆ ของสิ่งมีชีวิตมากมายหลายชนิด ไคตินเป็นพอลิเมอร์ชีวภาพที่มีมากเป็นอันดับสองของโลก และเนื่องจากไคตินเป็นพอลิเมอร์ที่พบในธรรมชาติ เราจึงมักพบไคตินในรูป สารประกอบเชิงซ้อนที่อยู่รวมกับสารอื่นๆ ไคตินเป็นสารประกอบพวกคาร์โบไฮเดรตเช่นเดียวกับเซลลูโลสและแป้ง รูปร่างของไคตินจะเป็นเส้นสายยาวๆ มีลักษณะคล้ายลูกประคำที่ประกอบขึ้นมาจาก น้ำตาลโมเลกุลเล็กๆ ที่มีชื่อว่า เอ็น-อะซิทิลกลูโคซามีน(N-acetylglucosamine)

ไคติน-ไคโตซาน ดาวรุ่งพุ่งแรง
เมื่อพูดถึงไคติน อีกคำที่มักจะพ่วงมาด้วยคือ ไคโตซาน ไคโตซานคืออนุพันธ์ตัวหนึ่งของไคติน รูปร่างหน้าตาของมันก็จะละม้ายคล้ายกับไคติน ไคโตซานจะได้จากปฏิกิริยาการดึงส่วนที่เรียกว่า หมู่อะซิทิล (acetyl group) ของไคตินออกไป เรียกว่า ปฏิกิริยาดีอะซิทิเลชัน (deacetylation) ทำให้จากเดิมโมเลกุลเดี่ยวของไคตินที่เคยเป็นเอ็น-อะซิทิลกลูโคซามีน ถูกแปลงโฉมใหม่เหลือแค่ กลูโคซามีน (glucosamine) เท่านั้น จากที่เคยเรียกว่าไคตินก็เลยเปลี่ยนชื่อเป็นไคโตซาน

การหายไปของหมู่อะซิทิล ทำให้ไคโตซานมีส่วนของโมเลกุลที่แอคทีฟ และพร้อมที่จะทำ ปฏิกิริยาอย่างว่องไวอยู่หลายหมู่ หมู่ที่เด่นๆ เลยก็คือ หมู่อะมิโน (-NH2) ตรงคาร์บอนตัวที่ 2 หมู่แอลกอฮอล์ (CH2OH) ตรงคาร์บอนตัวที่ 6 และหมู่แอลกอฮอล์ที่คาร์บอนตัวที่ 3 และเพราะหมู่ที่อยากทำปฏิกิริยานี้เองที่ทำให้ไคโตซานมีโอกาสได้ฉายแววรุ่งโรจน์ในหลายๆ วงการ

ไคติน-ไคโตซานทำงานได้อย่างไร

ไคติน-ไคโตซานจะทำงานเป็นตัวสร้างตะกอนและตัวตกตะกอน ตัวสร้างตะกอนจะกระตุ้นให้เศษของเสียที่แขวนลอยๆ ในน้ำเกิดการรวมกันเป็นกลุ่มก้อน ใหญ่ขึ้นๆ และพอใหญ่มากเกินก็ตกเป็นตะกอนลงมา ส่วนตัวตกตะกอน ก็จะทำงานคล้ายๆ กันคือจะไปจับกับสารแขวนลอยในน้ำแล้วตกตะกอนลงมา โดย-ไคโตซานจะทำหน้าที่ทั้งสองแบบ ซึ่งทำได้ดีเนื่องจากมีหมู่อะมิโนที่สามารถแตกตัวให้ประจุบวกมาก จึงทำให้พวกประจุลบอย่างโปรตีน สีย้อม กรดไขมันอิสระ คอเลสเทอรอล (ในร่างกาย) ต้องเข้ามาเกาะกับประจุบวกของไคโตซาน ส่วนโลหะหนักซึ่งเป็นประจุบวกอยู่แล้ว จะจับกับอิเล็กตรอนจากไนโตรเจนในหมู่อะมิโนของไคโตซานทำให้เกิดพันธะเคมีที่เรียกว่า พันธะเชิงซ้อนขึ้นมา และจากการทดลองพบว่าหมู่อะมิโนในไคโตซานจะสามารถจับกับโลหะหนักในน้ำ ได้ดีกว่าหมู่อะซิทิลของไคติน

ประโยชน์ของไคติน-ไคโตซาน
ไคติน-ไคโตซานเป็นตัวอย่างของการจัดการกับกากของเสียที่ชาญฉลาด ซึ่งตอนนี้ถูกนำไปใช้ ประโยชน์หลายๆ อย่างได้อย่างน่าทึ่งในแทบทุกวงการเลยทีเดียว ทั้งการแพทย์ การเกษตร อุตสาหกรรม และสิ่งแวดล้อม

ในทางการแพทย์
ไคตินสุดไม่ก่อให้เกิดการต่อต้านจากร่างกาย ไม่มีผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายทั้งยังช่วยส่งเสริมการเจริญของจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อคนอีก ไคติน-ไคโตซานก็เลยได้รับความสนใจเป็นอย่างมากที่จะได้รับการพัฒนาไปใช้ในทางการแพทย์อย่างกว้างขวาง เช่น ใช้ส่งเสริมการเจริญของแบคทีเรียในลำไส้ที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพ ต่อต้านมะเร็ง ช่วยลดสารพิษและยับยั้งการเจริญของแบคทีเรียที่เป็นอันตรายอย่างเชื้อซัลโมเนลลา
ใช้ทำผิวหนังเทียมที่จะช่วยบรรเทาความทุกข์ทรมานให้กับผู้ถูกไฟไหม้ น้ำร้อนลวก หรือพวกประสบอุบัติเหตุที่มีแผลลึกๆ

ในทางการเกษตร
ไคโตซานสามารถก่อตัวเป็นฟิล์มบาง ใส ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น เคลือบผิวเพื่อยืดอายุการเก็บรักษาผลผลิตทางการเกษตรและเมล็ดพันธุ์ และยังมีการนำเอาอนุพันธ์ของไคตินและไคโตซานไปเป็นสารต่อต้านเชื้อรา ไวรัสและแบคทีเรียบางชนิด ซึ่งมันสามารถทำงานได้อย่างกว้างขวาง เช่น ยับยั้งโรคโคนเน่าจากเชื้อรา โรคแอนแทรกโนส และโรคอื่นๆ

ไคติน-ไคโตซานสามารถใช้เป็นสารเสริมผสมลงในอาหารสัตว์บก เช่น สุกร วัว ควาย เป็ด ไก่ ช่วยเพิ่มปริมาณแบคทีเรียที่เป็นประโยชน์ในทางเดินอาหาร ช่วยลดอาการท้องเสียของสัตว์ได้ และลดอัตราการตายของสัตว์วัยอ่อนอันเนื่องมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียหลายชนิดในทางเดินอาหาร

ในด้านความสวยความงาม
ไคติน-ไคโตซานสามารถลดความอ้วน ได้ดีสุดยอดอย่างที่เราไม่อยากจะเชื่อ เมื่อไคตินนั้นได้กลายเป็นไคโตซานแล้ว ประจุบวกอันมหาศาลของไคโตซาน จะเป็นที่ดึงดูดใจมากของเหล่ากรดไขมันอิสระ และคอเลสเทอรอลที่มีประจุลบ ดังนั้นเจ้าตัวต้นเหตุของความอ้วน ทั้ง 2 ตัว ก็จะเกาะติดแจกับไคโตซาน และคนไม่สามารถย่อยไคติน-ไคโตซานได้ทั้งหมดจึงถูกขับออกมาพร้อม กับอุจจาระโดยที่มีคอเลสเทอรอลและไขมันส่วนเกินตามออกมาด้วย ไคโตซานมีประจุบวกอย่างล้นเหลือทำให้มันสามารถเกาะกับประจุลบของผิวหนังและเส้นผมได้เป็นอย่างดี จึงถูกนำไปใส่ในเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของกรดผลไม้ธรรม ชาติที่เราคงคุ้นชื่อกันดีว่ากรดแอลฟาไฮดรอกซี หรือ AHA ไงครับ กรดพวกนี้จะกระตุ้นให้ผิวหนังเก่าหลุดลอก เพื่อสร้างผิวใหม่ ทำให้ผิวคุณดูอ่อนเยาว์ขึ้น ส่วนในการบำรุงเส้นผม ไคโตซานจะก่อตัวเป็นฟิล์มเคลือบเส้นผมไว้ ทำให้เส้นผมคงสภาพนุ่มสลวยไม่เสียง่าย

ในด้านสิ่งแวดล้อม
ไคโตซานคือสุดยอดนวัตกรรมที่เกิด มาจากเทคโนโลยีการใช้กากของเสียให้เป็นประโยชน์ เป็นทางออกที่ดีทั้งต่อมนุษย์และต่อสิ่งแวดล้อม ในการจัดการเปลือกกุ้งมากมาย ที่ถูกทิ้งจากอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ บทบาทที่สำคัญทางด้านสิ่งแวดล้อมของไคโตซานที่เรารู้ๆ กันก็คือการบำบัดน้ำทิ้ง น้ำเสีย นอกจากการบำบัดน้ำเสียแล้ว ไคโตซานยังมีความสามารถในการจับกับของแข็งแขวนลอยได้ดี และจับกับอะตอมของ โลหะหนัก รวมทั้งมีการนำไปจับกับสารกัมมันตรังสีอย่างพลูโตเนียมและยูเรเนียมด้วย ส่วนการจับกับคราบไขมันนั้น กลไกการจับก็คล้ายๆ กับการจับกับไขมันในทางเดินอาหาร และบทบาทที่คนไม่ค่อยจะรู้กันประการหนึ่งก็คือ มีการใช้ไคโตซานผสมกับพลาสติกเพื่อผลิตพลาสติก ที่สามารถย่อยสลายได้

ในภาคอุตสาหกรรม
ไคตินและไคโตซาน มีประโยชน์อย่างมากมายใน อุตสาหกรรมอาหาร เช่น ใช้เสริมใยอาหารธรรมชาติในผลิตภัณฑ์ที่ทำจากแป้ง ใช้เพิ่มความเหนียวแน่นให้กับ ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อสัตว์ ใช้เพิ่มกลิ่นรสให้ดีขึ้นกับผลิต ภัณฑ์เนื้อสัตว์ อุตสาหกรรมเส้นใย กระดาษ สิ่งทอ ก็มีการใช้ไคโตซาน เช่น ใช้ทำภาชนะบรรจุที่ย่อยสลายได้ในธรรมชาติ ทำฟิล์มถนอมอาหารที่สามารถรับประทานได้ ใช้ในการผลิตผ้าที่ย้อมสีติดทนนาน ใช้ในกระบวนการผลิตกระดาษ ที่มีคุณสมบัติทางกายภาพสูง ทนทานต่อการฉีกขาด หรือผลิตกระดาษที่ซับหมึกได้ดีเพื่อการพิมพ์ที่ต้องการคุณภาพสูง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น