วันพุธที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

แมลงดี / ร้ายในนาข้าว

แมลงดี / ร้ายในนาข้าว

โดยปกติในนาข้าวจะมีศัตรูธรรมชาติจำพวกแมลง แมงมุม และโรคแมลงต่าง ๆ จำนวนมาก คอยทำลายแมลงศัตรูข้าว แมลงศัตรูธรรมชาติที่มีประโยชน์เหล่านี้ คอยควบคุมจำนวนแมลงศัตรูข้าวให้อยู่ในสมดุลย์ที่จะไม่ทำลายข้าวให้เสียหาย โดยเฉพาะในนาข้าวที่ไม่มีการใช้สารเคมี ฆ่าแมลง จะทำให้แมลงศัตรูธรรมชาติมีชีวิตและเจริญพันธุ์ต่อไปได้ ถ้าปราศจากแมลงศัตรูพืชเหล่านี้ แมลงศัตรูข้าวจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนทำความเสียหายให้แก่ข้าวในนาได้อย่างมาก แมลงศัตรูข้าวและแมลงศัตรูธรรมชาติมีจำนวนมากมายหลายชนิด เกษตรกรจึงควรทำความรู้จักว่า อะไรคือแมลงศัตรูข้าว อะไรคือแมลงศัตรูธรรมชาติที่ควรอนุรักษ์ให้มีอยู่ในนาข้าว ในที่นี้ได้หยิบยกมานำเสนอเพียงอย่างละ 10 แมลง แต่ในความเป็นจริงแล้ว ทั้งแมลงดีและแมลงร้าย
ในนาข้าวนั้น มีอีกมากมายหลายชนิด

แมลงร้ายในนาข้าว

เพลี้ยไฟ เป็นแมลงขนาดเล็กมาก ตัวแก่ของเพลี้ยไฟมีลำตัวเรียว ยาว 1-2 มม. มีทั้งที่มีปีกและไม่มีปีก ถ้ามีปีกจะมีด้านละสองปีก มีลักษณะเป็นก้านยาว มีขนกระจายไปทั่วคล้ายขนไก่ ตัวอ่อนมีสีเหลืองนวล ตัวเต็มวัยมีสีน้ำตาลดำ เพลี้ยไฟระบาดในระยะต้นกล้า โดยการดูดกิน น้ำเลี้ยงจากใบข้าว ใบข้าวจะเหี่ยวที่ปลายใบ และจะม้วนจากขอบใบเข้ามากลางใบ ถ้ามีการระบาดของเพลี้ยไฟมากจะทำให้ต้นกล้าแห้งตายทั้งแปลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะฝนทิ้งช่วง อากาศแห้งแล้ง และขาดน้ำ

เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ตัวเต็มวัยจะมีสีน้ำตาล หรือสีน้ำตาลปนเทา มีความยาวประมาณ
3 มม. กว้าง 1 มม. หนวดตั้งอยู่ด้านข้างของหัว อยู่ใต้ขาหลัง มีหนามที่เคลื่อนไหวได้ ตัวโตเต็มวัย
มี 2 แบบ คือ แบบที่มีปีกยาว และแบบที่มีปีกสั้น ตัวเมียวางไข่ที่กาบใบหรือก้านใบ ไข่จะฟักเป็นตัวอ่อน 7-9 วัน ตัวอ่อนจะลอกคราบ 5 ครั้งภายใน 13-15 วัน ตัวเมียมีอายุ 15 วัน ตัวผู้มีอายุ 13 วันตัวอ่อนและตัวเต็มวัยของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากต้นข้าว ทำให้ต้นข้าวมีอาการใบเหลืองแห้ง คล้ายน้ำร้อนลวก ที่เรียกว่า "hopper burn" เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลยังนำเชื้อวิสามาสู่ต้นข้าว ทำให้เกิดโรคเขียวเตี้ย โรคจู๋ และโรคต้นเตี้ยแล้วเหี่ยว

เพลี้ยจักจั่นสีเขียว เพลี้ยจักจั่นสีเขียวเป็นแมลงปากดูดขนาดเล็ก ตัวแก่มีความยาว 3-5 มม. สีเขียวสด มีรอยสีดำที่กลางปีกและปลายปีก วางไข่ไว้ในก้านใบของแผ่นใบ มีการเจริญเติบโตโดยการลอกคราบ 5 ครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งจะมีสีแตกต่างกันออกไป ตัวเต็มวัยมีอายุประมาณ 10 วัน เพลี้ยจักจั่นสีเขียวสร้างความเสียหายให้แก่ต้นข้าว ทั้งโดยทางตรงด้วยการดูดน้ำเลี้ยงจากต้นข้าว และโดยการเป็นพาหะนำโรควิสา ทำให้ต้นข้าวเป็นโรคต้นเตี้ย ทำให้ผลผลิตข้าวลดลง

บั่ว ตัวแก่ของบั่วจะมีขนาดและลักษณะเหมือนกับยุง มีขนาดประมาณ 3-4 มม. ส่วนท้องจะมีสีส้ม ส่วนหนวดและขาจะมีสีดำ ตัวแก่จะว่องไวมากในเวลากลางคืน บั่วจะวางไข่ไว้บริเวณด้านล่างของแผ่นใบข้าว ตัวหนอนของบั่ว เมื่อฟักออกจากไข่แล้วจะคืบคลานเข้าไปแทรกตัวอยู่ในบริเวณยอดอ่อนของต้นข้าว และกัดกินยอดอ่อนเป็นอาหาร ในขณะที่หนอนกัดกินหน่ออ่อน ข้าวจะสร้างหลอดหุ้มตัวหนอนเอาไว้ จากนั้น ตัวหนอนจะเจริญเติบโตและเข้าดักแด้ภายในหลอดบั่ว ซึ่งมีลักษณะคล้ายต้นหอม หลอดบั่วจะโตขึ้นเรื่อย ๆ จนส่วนของหลอดโผล่พ้นกาบใบ มองเห็นจากภายนอกได้ชัดเจน ต้นข้าวที่เป็นหลอดจะไม่ออกรวง ทำให้ผลผลิตข้าวลดลง

หนอนกอแถบลาย ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืน สีของปีกคล้ายสีรำข้าว ปลายปีกตัด เป็นมุม 90 องศา ที่ขอบปีกมีจุดสีดำเล็ก ๆ เป็นจุด ๆ ส่วนปีกคู่หลังเป็นสีน้ำตาลอ่อน ตัวหนอนมีแถบสีน้ำตาล 5 แถบ พาดไปตามความยาวของลำตัว แถบที่ผ่านข้างลำตัวจะผ่านรูหายใจ ตัวหนอนเมื่อฟักออกจากไข่ใหม่ ๆ จะกัดเข้าไปทำลายเนื้อเยื่อของต้นข้าว ทำลายท่อน้ำท่ออาหาร และเข้าดักแด้อยู่ภายในปล้องของต้นข้าว ทำให้ต้นข้าวแห้งตายและเมล็ดลีบในขณะที่เป็นตัวหนอนกัดกินใบ เมื่อต้นข้าวตายก็จะย้ายไปต้นข้างเคียง

หนอนกอสีครีม ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืน สีของปีกเป็นสีครีมอ่อน ตรงกลางปีก คู่หน้ามีจุดสีดำปีกละจุด ตัวเมียที่ปลายสุดของส่วนปล้องท้องมีขนเป็นพู่สีน้ำตาลคลุมไว้ ตัวหนอนเป็นหนอนผีเสื้อ ลำตัวมีสีขาวหรือสีครีม ลำตัวยาว หัวท้ายเรียวแหลม หัวมีสีน้ำตาลหรือสีส้มแกมเหลือง หนอนที่ฟักออกจากไข่จะเจาะเข้าไปในลำต้น หรือเจาะจากด้านนอกของกาบใบ ผ่านเข้าลำต้นบริเวณข้อของปล้อง ซึ่งเป็นส่วนที่มีเนื้ออ่อน ประมาณ 4 วันใบและต้นจะเหี่ยวและแห้งตาย หรือทำให้เมล็ดข้าวลีบขาวในขณะที่ข้าวออกรวง

หนอนกอแถบลายสีม่วง ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืน มีขนาดเล็ก ปีกคู่หน้ามีสีน้ำตาล สีฟางข้าว ปลายปีกมีลวดลายสีสนิมเหล็ก ตัวผู้ที่กลางปีกรูปคล้ายตัว Y ตัวหนอนมีหัวสีน้ำตาลดำ มีแถบสีม่วงแกมน้ำตาล 5 แถบ พาดไปตามความยาวของลำตัว บริเวณด้านบนลำตัวมีเส้นพาดกลางสีเหลือง หนอนกอแถบลายสีม่วงจะเข้าทำลายในช่วงปักดำจนถึงระยะแตกกอ หนอนที่ฟักออกจากไข่ใหม่ๆจะกัดกินใบอ่อน เมื่อหนอนโตขึ้นจะกัดกินเข้าไปในลำต้นและปล้อง ทำให้ยอดเหี่ยวและแห้งตาย การทำลายในช่วงระยะข้าวตั้งท้องหรือระยะข้าวออกรวงจะทำให้เมล็ดข้าวลีบ และเมล็ดข้าวหรือรวงข้าวที่แตกรวงออกมามีสีขาว หรือที่เรียกว่า ข้าวหัวหงอก

หนอนกระทู้กล้า ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืนสีเทาปนน้ำตาล ความกว้างเมื่อกางปีกออก ประมาณ 35-40 มม. ตัวหนอนเมื่อโตเต็มวัยมีความยาวประมาณ 40 มม. ด้านบนของตัวหนอนมีสีน้ำตาลแก่ และมีลายตามความยาวของลำตัว 3 เส้น ด้านล่างของตัวหนอนมีสีน้ำตาลอ่อนหนอนกระทู้กล้าจะเข้าทำลายต้นข้าวในระยะที่ต้นข้าวยังเล็ก และระยะกล้าในระยะแรกจะกัดกินผิวใบ เมื่อตัวหนอนโตขึ้นจะกัดกินทั้งใบ เหลือไว้แต่ก้าน และกัดกินที่โคนต้นกล้าระดับพื้นดิน ทำให้มีลักษณะเหมือนควายกิน จึงเรียกกันว่า หนอนกระทู้ควายพระอินทร์

หนอนห่อใบข้าว ตัวหนอนมีสีขาวใส หัวมีสีน้ำตาลอ่อน เมื่อหนอนมีขนาดโตขึ้นจะเปลี่ยนเป็นสีเขียว และมีไหมหุ้มตัว หนอนจะใช้ใบข้าวห่อเป็นหลอดและอาศัยอยู่ภายใน เมื่อตัวหนอนโตเต็มที่จะเปลี่ยนสีเป็นสีเขียวปนเหลือง หัวมีสีน้ำตาลเข้ม ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืนขนาดเล็ก มีสีน้ำตาลอ่อน ปีกจะมีสีเหลืองปนน้ำตาล มีแถบสีน้ำตาลเข้ม 2-3 แถบ พาดขวางปีกทั้งคู่ ตัวหนอนกัดกินผิวใบเป็นทางสีขาว แล้วแห้งเป็นสีน้ำตาล เมื่อตัวหนอนมีอายุมากขึ้นจะชักใยให้แผ่นใบม้วนเข้าหากันเป็นหลอดตามความยาวของใบข้าวเพื่อห่อหุ้มตัวหนอน ทำให้ผลผลิตข้าวลดลง

แมลงสิง ตัวเต็มวัยเป็นแมลงปากดูด ลำตัวเรียวยาวประมาณ 15 มม. ด้านบนของลำตัวมีสีน้ำตาล ด้านล่างมีสีเขียว หนวดเป็นปล้อง มีขาและหนวดยาว ตาทั้งสองข้างมองเห็นได้ชัดเจน ตัวอ่อนและตัวแก่มีกลิ่นฉุน ทั้งตัวอ่อนและตัวแก่จะใช้ปากแทงเข้าไปในเมล็ดข้าวเพื่อดูดกินน้ำเลี้ยง หรือน้ำนมจากเมล็ดข้าวในระยะออกรวง ทำให้ข้าวมีเมล็ดเหี่ยวย่นและลีบ แต่ถ้าแมลงสิงดูดกินในระยะที่เมล็ดข้าวเริ่มแข็งตัว จะทำให้คุณภาพเมล็ดข้าวไม่ดี เมื่อนำไปสีเมล็ดข้าวจะหักมาก

แมลงดีในนาข้าว

ด้วงดิน ด้วงดินเป็นแมลงตัวห้ำที่แข็งแรงและว่องไว ทั้งตัวหนอนซึ่งมีสีดำเป็นมัน และตัวเต็มวัยสีน้ำตาลแดงซึ่งจะกินหนอนห่อใบข้าว ด้วงดินจะพบได้ในใบข้าวที่ถูกห่อไว้โดยหนอนห่อใบ ตัวอ่อนของด้วงดินเข้าดักแด้ในดินตามคันนาข้าว นาสวน หรือในดินท้องนาข้าวไร่ กินหนอนห่อใบได้วันละ 3-5 ตัว ตัวเต็มวัยของด้วงดินนอกจากจะกินหนอนห่อใบแล้ว ยังกินเพลี้ยกระโดดอีกด้วย

จิ้งหรีดหางดาบ จิ้งหรีดหางดาบพบได้ในนาข้าวสภาพนาสวนและข้าวไร่ มันจะกระโดด จากข้าวต้นหนึ่งไปอีกต้นหนึ่งเมื่อถูกรบกวน ตัวเต็มวัยของจิ้งหรีดหางดาบมีสีดำ ตัวอ่อนมีสีอ่อน และมีแถบสีน้ำตาล ตัวเต็มวัยส่วนใหญ่ปีกหลังจะหลุดเมื่อเข้ามาอยู่ในนาข้าว ตัวอ่อนเมื่อโตขึ้นมีปุ่มปีก อวัยวะวางไข่ของจิ้งหรีดชนิดนี้มีลักษณะเหมือนดาบ ใช้สำหรับสอดใส่เข้าไปตามกาบใบข้าวหรือหญ้า ตัวเมียตัวหนึ่งวางไข่ได้ 40-60 ฟอง ตัวเต็มวัยและตัวอ่อนจะกินไข่แมลงศัตรูข้าว เช่น ไข่ของหนอนผีเสื้อต่าง ๆ เช่น หนอนกอแถบลาย หนอนกอแถบลายสีม่วง หนอนห่อใบ หนอนกระทู้ ไข่ของแมลงวันเจาะยอดข้าว นอกจากนี้ ยังกินหนอนตัวเล็ก ๆ และตัวอ่อนของเพลี้ยกระโดดและเพลี้ยจักจั่น

มวนเพชฌฆาต มวนเพชฌฆาตเป็นตัวห้ำที่อยู่เดี่ยว ๆ พบได้ในสภาพนาสวนและข้าวไร่ ตัวเต็มวัยมีสีน้ำตาล มีหนามแหลม 3 อันที่หลัง มวนเพชฌฆาตพบอยู่ตามกอข้าว คอยล่าเหยื่อที่เป็นหนอนผีเสื้อ มันสามารถล่าเหยื่อที่ตัวใหญ่กว่ามันมากได้โดยใช้ปากแหลมคมเหมือนเข็มแทงและปล่อยพิษ ทำให้เหยื่อไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ และดูดกินจนแมลงศัตรูพืชแห้งตาย

ด้วงเต่า ด้วงเต่ามีหลายชนิด ซึ่งมีขนาดและมีสีสันแตกต่างกันออกไป เช่น ด้วงเต่าลายจุด ด้วงเต่าลายขวาง ด้วงเต่าลายหยัก ด้วงเต่าแดง เป็นต้น ด้วงเต่าเป็นตัวห้ำ ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยจะกินเพลี้ยอ่อน เพลี้ยแป้ง เพลี้ยกระโดด เพลี้ยหอย แมลงหวี่ขาว และไร เป็นอาหาร ด้วงเต่ามักจะอยู่ทางส่วนบนของกอข้าวในสภาพข้าวไร่และข้าวนาสวน ตัวเต็มวัยและตัวอ่อนของด้วงเต่ากินเพลี้ยกระโดด หนอนตัวเล็ก ๆ หรือไข่แมลงที่ไม่มีสิ่งห่อหุ้มเป็นอาหาร

มวนจิงโจ้น้ำเล็ก มวนจิงโจ้น้ำเล็กมีขนาดเล็ก เคลื่อนไหวเร็ว พบมากในนาข้าวที่มีน้ำขัง ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยอยู่บนผิวน้ำ มีส่วนอกกว้าง มีทั้งแบบมีปีกและไม่มีปีก มวนจิงโจ้น้ำเล็กมีความแตกต่างจากมวนที่มีอยู่ในน้ำชนิดอื่นตรงที่มีขนาดเล็ก และขาหน้ามีข้อเท้าเพียงปล้องเดียว ตัวเมียวางไข่ 20-30 ฟองในต้นข้าวเหนือระดับน้ำ การเจริญเติบโตใช้เวลา 1-2 เดือน ตัวเต็มวัยที่มีปีกจะบินแพร่กระจายไปที่อื่นภายหลังการเก็บเกี่ยว ตัวเต็มวัยของมวนจิงโจ้น้ำเล็กจะอยู่กันเป็นกลุ่มกินตัวอ่อนของเพลี้ยกระโดดที่ตกไปในน้ำ ส่วนตัวอ่อนกินเพลี้ยกระโดด และแมลงขนาดเล็กที่มีลำตัวอ่อนนุ่ม มวนชนิดนี้เป็นตัวห้ำที่มีประสิทธิภาพเมื่ออยู่รวมกันเป็นกลุ่ม และกินเหยื่อที่เป็นตัวอ่อนระยะแรกได้ดี มวนจิงโจ้น้ำเล็กตัวหนึ่ง ๆ สามารถกินเหยื่อได้ 4-7 ตัวต่อวัน

แมลงหางหนีบ แมลงหางหนีบมีลักษณะที่เด่นชัด คือ ที่ปลายท้องมีอวัยวะคล้ายคีมยื่นออกมาคู่หนึ่ง สำหรับใช้ในการป้องกันตัวมากกว่าที่จะใช้ไว้ล่าเหยื่อ แมลงหางหนีบมีตัวสีดำเป็นมัน และมีแถบสีขาวตรงรอยต่อของแต่ละปล้องท้อง รวมทั้งมีจุดสีขาวที่ปลายหนวดแต่ละข้าง ส่วนใหญ่พบในนาสภาพข้าวไร่ โดยอยู่ในดินบริเวณโคนกอข้าว ต้องขุดลงไปจึงจะพบตัว ตัวเมียวางไข่ครั้งละ 200-350 ฟอง และคอยเฝ้าไข่ ตัวเต็มวัยมีชีวิตอยู่นาน 3-5 เดือน แมลงหางหนีบเป็นตัวห้ำที่สำคัญ มันกินไข่และตัวหนอนของผีเสื้อหลายชนิด เช่น เข้าไปตามรูในต้นข้าวที่หนอนกอเจาะเอาไว้เพื่อหาหนอนกอกิน บางครั้งมันไต่ขึ้นไปตามใบข้าวกินหนอนห่อใบ สามารถกินเหยื่อได้ 20-30 ตัวต่อวัน

ตัวเบียนของหนอนห่อใบข้าว แตนเบียนชนิดนี้มีขนาดเล็ก ตัวยาว และปลายปล้องแหลม โคนขาที่ติดอยู่กับลำตัวเป็นแผ่นใหญ่ ตัวมีสีดำ และท้องสีดำสลับแดง พบทั่ว ๆ ไปในนาข้าวทุกสภาพ โดยทำลายหนอนห่อใบข้าว มันจะวางไข่ 1-2 ฟองในตัวหนอนห่อใบแต่ละตัว ตัวอ่อนของแตนเบียนชนิดนี้ค่อนข้างดุร้าย กินตัวอ่อนตัวอื่นที่เจริญเติบโตในหนอนห่อใบตัวเดียวกัน ตัวเต็มวัยจะออกมาจากดักแด้หรือหนอนห่อใบ และมีชีวิตอยู่ได้ 2-4 วัน

แตนเบียนของหนอนกระทู้ แตนเบียนชนิดนี้มีขนาดเล็กและปีกใส ปีกหน้ามีเซลปิด ตามีขน หนวดยาวเท่ากับความยาวตัว ชอบอยู่ในนาสภาพข้าวไร่ มันทำลายหนอนกระทู้โดยตัวเมียจะวางไข่ 3-5 ฟอง ในตัวหนอนกระทู้แต่ละตัว ตัวอ่อนแตนเบียนกัดกินอยู่ภายในตัวหนอน เมื่อโตเต็มที่แล้วจะออกมาชักใยสร้างรังดักแด้สีน้ำตาลหุ้มอยู่ที่ข้างตัวหนอนที่มันกัดกิน หลังจากนั้น 4-8 วัน ตัวเต็มวัยของแตนเบียนจึงออกมา และมีชีวิตอยู่ 6-8 วัน



แตนเบียนของหนอนกอข้าว แตนเบียนชนิดนี้มีขนาดกลาง ปีกหน้ามีเส้นลายปีกขวาง 2 เส้น ส่วนปีกหลังมีช่องว่างเป็นเซลยาว มีสีแดงสลับดำ และมีแถบสีขาวที่ปลายท้อง แตนเบียนชนิดนี้พบมากในสภาพนาสวน ทำลายหนอนกอข้าวชนิดหนอนกอสีครีมและสีขาว โดยมันจะวางไข่ไว้ในหนอนกอข้าวฟองละตัว เมื่อฟักเป็นตัวอ่อนจะกัดกินอยู่ข้างในตัวหนอน จนหนอนตายจึงออกมาจากซากตัวหนอน มาเข้าดักแด้อยู่ภายในโพรงต้นข้าว

แมลงปอเข็ม แมลงปอเข็มมีปีกแคบและบินไม่เก่งเหมือนแมลงปอชนิดอื่น ตัวเต็มวัยมีสีเขียวแกมเหลืองและดำ ส่วนท้องยาวเรียว ตัวผู้มีสีสดใสกว่าตัวเมีย ตัวอ่อนของแมลงปอเข็มอยู่ในน้ำ จะไต่ขึ้นมาบนต้นข้าวเพื่อหาเหยื่อจำพวกตัวอ่อนของเพลี้ยกระโดดและเพลี้ยจักจั่น ส่วนตัวเต็มวัยชอบบินอยู่ใต้พุ่มข้าว เพื่อหาเหยื่อซึ่งเป็นแมลงที่กำลังบิน และเพลี้ยจักจั่นที่เกาะอยู่บนต้นข้าว



ที่มา ศูนย์สารสนเทศ กรมส่งเสริมการเกษตร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น