ใช้ ยาอะไรอยู่? ตรวจสอบผ่านเว็บไซต์ " Ya & You " ได้แล้ว !
www.yaandyou.net
ใช้ ยาอะไรกันอยู่ ตรวจสอบข้อมูลยา และวิธีใช้ที่ถูกต้องผ่านเว็บไซต์ Ya & You ได้แล้ว
เปิดใช้งานแล้วเว็บไซต์ "Ya&You" ให้ผู้ป่วยตรวจสอบ
ยาในมือ เพื่อการใช้ยาที่ถูกต้อง-ลดผลข้างเคียงจากยา
โดยสามารถสืบค้นได้ทั้งชื่อยาสามัญ และการค้า รวมถึงวิธีใช้
ผลข้างเคียง ระบุมีข้อมูลยาในไทยแล้ว 17,000 เลขทะเบียนยา
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา
(มูลนิธิ วพย.) แถลงข่าวเปิดตัวเว็บไซต์ " ยา กับ คุณ"
( Ya & You ) www.yaandyou.net ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 51 หลังจากได้ลงนามความร่วมมือไปก่อนหน้านี้ โดยมี ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรีเป็นประธานในงาน
ผศ.ภญ.ดร.ภูรี อนันตโชติ กรรมการมูลนิธิเพื่อการวิจัย และพัฒนาระบบยา กล่าวกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ภายในงานแถลงข่าวว่า พัฒนาเว็บไซต์นี้ขึ้นมา เนื่องจากไม่มีเว็บไซต์ข้อมูลยาที่เป็นภาษาไทย หรือมีก็เป็นข้อมูลที่น้อยมาก ขณะที่ข้อมูลเกี่ยวกับยาเป็นภาษาอังกฤษมีค่อนข้างมาก ทั้งนี้เมื่อไปพบแพทย์หรือเภสัชกรเราใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที แต่การกินยาต้องอยู่กับเราอีกนาน จึงจำเป็นต้องรู้ข้อมูลเ กี่ยวกับยา
" หลักๆ คือได้ยามาแล้วต้องรู้อะไรบ้าง ต้องกินอย่างไร ถ้ามียาอยู่ในมือแล้วจะใช้อย่างไรให้เหมาะสม และข้อมูลจากเว็บไซต์จะช่วยเตรียมพร้อมก่อนไปพบแพทย์ว่าต้องถามอะไรกับแพทย์ บ้าง เพราะเรามีช่วงเวลาสั้นๆ ที่จะได้คุยกับแพทย์จึงต้องใช้ช่วงเวลานั้นให้เต็มที่ ทั้งนี้มีงานวิจัยของสหรัฐฯ ที่ระบุว่า ในสหรัฐฯ มีค่าใช้จ่ายสำหรับการรักษาอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้งานถึง 30% จากค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคทั้งหมด" ผศ.ภญ.ดร.ภูรีกล่าว
ทั้งนี้ในความร่วมมือทางมูลนิธิ วพย.เป็นฝ่ายเตรียมข้อมูลเกี่ยวกับยา ส่วนทางเนคเทคเป็นฝ่ายพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศหรือไอที โดยข้อมูลภายในเว็บไซต์ระบุเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ยา ชื่อยาสามัญ ชื่อยาทางการค้า วิธีการใช้ โดยเป็นยาที่มีใช้เฉพาะในเมืองไทย และส่วนใหญ่เป็นยาเม็ด ส่วนยาสามัญประจำบ้าน อย่างยาธาตุน้ำขาว ยาธาตุน้ำแดงนั้นไม่ได้ระบุไว้
ผศ.ภญ.ดร.ภูรี ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้มีข้อมูลชื่อสามัญของยาเดี่ยว 600 รายชื่อแล้ว นับเป็น 60-70% ของยาทั้งหมด และหากรวมรูปแบบยาประเภทยาน้ำ ยาเม็ดนั้นมีทั้งหมด 900 รายชื่อ ทั้งนี้เป็นข้อมูลยาทั้งหมด 17,000 เลขทะเบียนยา ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีข้อมูลยาทั้งหมด 30,000 เลขทะเบียนยา
" อนาคตจะเพิ่มเติมในส่วนของรูปภาพ เพื่อให้ผู้ใช้ได้สืบค้นกรณีไม่ทราบชื่อยาแต่มีตัวอย่างยาด้วย รวมถึงการเพิ่มข้อมูลในส่วนของยาหยอด ทายาและยาน้ำ ส่วนยาฉีดมองว่า เป็นเรื่องของโรงพยาบาลจึงไม่ใส่ข้อมูลในส่วนนี้ ยกเว้น ข้อมูลเกี่ยวกับอินซูลิน ยาฉีดรักษาไตและยาฉีดรักษามะเร็ง เพื่อให้ผู้ป่วยทราบว่าใช้ยาแล้วจะเกิดผลข้างเคียงอย่างไร " ผศ.ภญ.ดร.ภูรี กล่าวและย้ำว่าวัตถุประสงค์หลักของเว็บไซต์ก็เพื่อให้ผู้ใช้ยาสืบค้นข้อมูล เกี่ยวกับยาที่ใช้ ไม่ใช่ให้ผู้ป่วยสืบค้นวิธีรักษาด้วยตัวเอง
ด้าน ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ ผู้อำนวยการหน่วยปฏิบัติการวิจัยคลังอนุพันธุ์ความรู้ เนคเทค กล่าวกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า เว็บไซต์นี้เกิดขึ้นจากปัญหาที่ ผู้ป่วยได้ยามาแล้วใช้ไม่ถูกต้อง และเห็นว่าเป็นประโยชน์ตรงๆ และเป็นเรื่องพื้นๆ ซึ่งโดยปกติข้อมูลยาภาษาอังกฤษมีเยอะมากแต่ไม่มีข้อมูลที่เป็นภาษาไทย ทางเนคเทคก็ได้พัฒนาเทคโนโลยีด้านไอทีสำหรับสืบค้นข้อมูลได้ตามต้องการ โดยใช้โอเพ่นซอร์ส ( Open Source) สำหรับสร้างเว็บไซต์
ทั้งนี้เนคเทคและมูลนิธิ วพย.มีความร่วมมือกันตั้งแต่ต้นปีก่อนที่จะลงนามความร่วมมือในการพัฒนา เว็บไซต์นี้ขึ้น ซึ่งใช้เวลาประมาณ 10 เดือน จึงพัฒนามาถึงขั้นใช้งานได้จริง และ ดร.จุฬารัตน์ยังระบุด้วยว่า เนคเทคยังมีความร่วมมือในการพัฒนาเว็บไซต์ฐานข้อมูลกับหน่วยงานอื่นๆ อาทิ e-museum ที่ร่วมมือกับสภากาชาดไทยพัฒนาพิพิธภัณฑ์เสมือน e-Health ที่รวมกับโรงพยาบาลรามาธิบดีนำข้อมูลจากโครงการไซส์-ไทยแลนด์ ( Size-Thailand) ซึ่งรวบรวมข้อมูลรูปร่างกับข้อมูลทางด้านการแพทย์ เป็นต้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น