วันอังคารที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2553

สินค้า MLM

สินค้าและบริการเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่งของการตลาดขายตรงหลายชั้น MLM เพราะหากไม่มีสินค้าในการตลาดแบบ MLM นี้แล้ว ระบบก็จะไม่ต่างอะไรกับระบบปั้นเงินหรือนำเงินมาเล่นเป็นแชร์ลูกโซ่ โดยหลักการแล้วระบบการตลาด MLM นี้เป็นระบบการตลาดทางเลือกที่นำพาสินค้าและบริการต่างๆจากผู้ผลิตไปสู่ผู้บริโภคโดยให้มีการจ่ายค่าตอบแทนในสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องและปฏิบัติหน้าที่ของตนในกระบวนการนี้อย่างยุติธรรม ดังนั้นตัวสินค้าจึงเป็นปัจจัยชี้วัดได้ว่าระบบ MLM นั้นๆเป็นระบบ MLM ที่ถูกต้องจริงๆหรือไม่

สินค้าในระบบ MLM นั้นมีมากมายหลายชนิด จริงๆแล้วสินค้าแทบทุกชนิดก็สามารถนำมาเข้าระบบ MLM ได้แทบทั้งสิ้น ตัวอย่างสินค้าที่พบบ่อยในระบบการตลาดแบบขายตรง MLM ได้แก่

อาหาร/อาหารสำเร็จรูป

•ข้าวสาร
•บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
•ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
•ผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพ
สมุนไพร

•โสม
•กวาวเครือ
เครื่องอุปโภค/เครื่องใช้ในครัวเรือน

•สบู่
•ยาสีฟัน
•อุปกรณ์ทำครัว
เครื่องสำอาง/อุปกรณ์เสริมความงาม

•อุปกรณ์ออกกำลังกาย
•อุปกรณ์ลดความอ้วน
•อุปกรณ์เสริมสุขภาพ
•เสื้อผ้า/เครื่องประดับ
อุปกรณ์การติดต่อสื่อสาร

•บัตรเติมเงินโทรศัพท์ระหว่างประเทศ
•Sim โทรศัพท์
การเกษตร/วัสดุและอุปกรณ์ทางการเกษตร

•ปุ๋ย และสารสกัดชีวะภาพ
พลังงาน

•อุปกรณ์ประหยัดพลังงาน
รถยนต์

•อุปกรณ์รถยนต์
เครื่องใช้ไฟฟ้า

•เครื่องฟอกอากาศ
การท่องเที่ยว

•โรงแรม
•รีสอร์ท ที่พัก
•ร้านอาหาร
การศึกษา/การฝึกอบรม

•คอร์สการฝึกอบรม/การตลาด
ซอฟท์แวร์/คอมพิวเตอร์

ผลิตภัณฑ์ OTOP



การควบคุมคุณภาพสินค้าและการขอ อย.

สำหรับสินค้าที่เป็นสินค้าทั่วไปนั้นการควบคุมและคุ้มครองผู้บริโภคนั้นเป็นหน้าที่ของ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สคบ. (http://www.ocpb.go.th) แต่สำหรับอาหาร ยา เครื่องสำอาง วัตถุอันตราย เครื่องมือแพทย์ นั้นจำเป็นต้องการขอ อย. (http://www.fda.moph.go.th) ซึ่งสามารถติดต่อได้ที่
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
88/24 ถนนติวานนท์
อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี 11000
โทรศัพท์ 0-2590-7000
หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด



การตั้งราคาสินค้า

การตั้งราคาสินค้าในระบบ MLM นั้น โดยทั่วไปแล้วก็มีลักษณะเช่นเดียวกับการตั้งราคาสินค้าสำหรับระบบการตลาดปกติทั่วไป คือคิดต้นทุน กำไร ค่าดำเนินการ การขนส่ง ค่าเก็บรักษาระหว่างการจำหน่าย และค่าการตลาด ฯลฯ การคิดราคาสินค้าในระบบ MLM นั้นก็เช่นเดียวกันกับการตั้งราคาสินค้าทั่วไป สิ่งที่เพิ่มขึ้นคือจะมีคะแนนหรือที่นิยมเรียกกันว่า PV (ย่อมาจาก Personal Volume หรือยอดขายของผู้จำหน่ายอิสระ) สำหรับใช้ในการคิดค่าตอบแทนตามแผนการจ่ายค่าตอบแทน (หรือเรียกว่าแผนการตลาดนั่นเอง) ดังนั้นสินค้าในระบบ MLM นั้นจะมี PV น้อยกว่าราคาขายให้กับผู้แทนจำหน่ายอิสระ

องค์ประกอบของราคาสินค้าในระบบ MLM นั้นแบ่งออกเป็น 3 ส่วนดังนี้คือ 1) ส่วนต้นทุนและกำไร 2) ส่วนค่าดำเนินการต่าง และ 3) ส่วนคะแนน หรือ PV

ส่วนที่เป็นต้นทุนและกำไรของบริษัทผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการธุรกิจขายตรง นั้นจะแยกออกมาอย่างชัดเจนผู้ประกอบการจะมีรายได้จากส่วนนี้

ส่วนที่เป็นค่าดำเนินการนั้นอาจเป็นค่าขนส่ง หีบห่อ ค่าติดตั้งอุปกรณ์ และอื่นๆ ที่ผู้ประกอบการจะต้องใช้ในการจัดส่งและติดตั้งสินค้าให้กับผู้บริโภคหรือผู้จำหน่ายอิสระ ส่วนนี้อาจจะแยกออกจากราคาสินค้าอย่างชัดเจนก็ได้

ส่วนที่สำคัญที่สุดสำหรับราคาสินค้าในระบบขายตรง MLM นั้นก็คือ คะแนน หรือ PV นั่นเอง ส่วนนี้เองที่จะใช้ในการคำนวณการจ่ายค่าตอบแทนให้กับผู้จำหน่ายอิสระตามแผนการจ่ายค่าตอบแทน (แผนการตลาด)

การตั้งค่าคะแนนหรือ PV ไว้สูงก็เพื่อที่จะได้ตอบแทนผู้จำหน่ายอิสระได้สูง ซึ่งเป็นกลยุทธ์อย่างหนึ่งในการจูงใจกระตุ้นให้ผู้จำหน่ายอิสระสร้างยอดขายได้สูงไปด้วย แต่ถ้าหากตั้งค่า PV ไว้สูงมากเกินไปก็จะทำให้เข้าข่าย หรือเรียกว่าเข้าใกล้ระบบแชร์ลูกโซ่มากเกินไป ก็อาจจะมีปัญหาตามมาได้ หากถูกตรวจสอบก็ได้

นอกจากคะแนน PV แล้วบริษัท MLM บางที่อาจจะมี BV หรือ Bonus Volume ซึ่งใช้ในการคำนวณแผนการจ่ายค่าตอบแทนที่แตกต่างออกไปก็ได้ หรือบางที่อาจเรียกว่า CV หรือ Commissionable Volume แต่โดยทั่วไปแล้วก็หมายถึงคะแนนที่จะนำมาคิดในการคำนวณค่าตอบแทนตามแผนการตลาด หรือใช้ในการคำนวณการปรับตำแหน่งของผู้จำหน่ายอิสระก็ได้



การจัดโปรโมชั่น

การจัดโปรโมชั่นโดยปกติจะเป็นสิ่งที่บริษัททั่วไปสามารถทำได้ โดยการแถมสินค้าเช่น ซื้อ 1 แถม 1 หรือซื้อสินค้าครบจำนวน PV ที่ตั้งไว้แล้วมีการแถมสินค้าโปรโมชั่นเพิ่มให้ โดยหลักการแล้วการทำโปรโมชั่นนั้นก็จะยังคงคิดคะแนน แยกจากราคาสินค้าเช่นเดียวกับการตั้งราคา คือใช้ส่วน PV มาคำนวณคอมมิชชั่นให้ผู้จำหน่ายอิสระ



ข้อกำหนดเกี่ยวกับสินค้า

สินค้าที่จะขายในระบบ MLM นั้นเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลากตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 ดังนั้นฉลากจะต้องระบุ ชื่อประเภทหรือชนิดสินค้า ชื่อสินค้าหรือเครื่องหมายการค้า สถานที่ตั้งผู้ผลิตหรือนำเข้า แสดงขนาดหรือมิติ ปริมาตร น้ำหนัก แสดงวิธีใช้ ข้อแนะนำในการใช้ วันเดือนปีที่ผลิต ราคา และรายละเอียดสามารถดูได้จาก ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก เรื่อง ลักษณะของฉลากสินค้าที่ควบคุมฉลาก พ.ศ. 2541



การคืนสินค้า

การคืนหรือเปลี่ยนสินค้าตามที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้กำหนดไว้นั้น ถ้าเป็นผู้บริโภคจะสามารถคืนหรือเปลี่ยนสินค้าได้ภายใน 7 วันนับจากวันที่รับสินค้าและผู้ประกอบการจะคืนเงินเต็มจำนวนที่ผู้บริโภคจ่ายภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือขอคืนสินค้า และหากเป็นจำหน่ายอิสระจะคืนสินค้าได้ภายใน 30 วันนับจากวันที่รับสินค้า และผู้ประกอบการจะซื้อคืนเต็มราคาที่ผู้จำหน่ายอิสระได้จ่าย ภายในระยะเวลา 15 วัน นับแต่วันที่ผู้จำหน่ายอิสระใช้สิทธิคืน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น