วันศุกร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2553

วิธีคลายเครียด

ประการ ที่ ๑. แทนที่จะยิ่งเครียด ยิ่งกิน ควรจะนำพาตัวเองไปทำอย่างอื่น เช่น อ่านหนังสือที่เรารัก ทำงานอดิเรกที่เราชอบ หรือ สนทนากับคนที่เราไว้เนื้อเชื่อใจ การสนทนาจะทำให้เราได้พูด ได้ระบายในสิ่งที่อัดอั้นตันใจ ซึ่งจะทำให้ช่วยคลายความเครียดได้มาก รถทุกคันยังมีท่อไอเสีย คนทุกคนก็ต้องมีช่องทางระบายความเครียดออกมาเช่นเดียวกัน

ประการ ๒. งดความคิดฟุ้งซ่าน เพราะความคิดฟุ้งซ่านเป็นต้นทางของความยุ่งเหยิง วุ่นวายในชีวิตของคนเรา ความทุกข์วุ่นวายในชีวิตของคนเรา กว่า 90 เปอร์เซนต์ นั้นเกิดขึ้นจากการคิดที่ไม่เป็นระบบ การคิดไปตามจิตที่ขาดสติ การหมกมุ่นครุ่นคิด การคิดไปตามสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคิดตามคำพูด หรือตามความคาดหวังของคนรอบข้าง ซี่งยิ่งคิด ยิ่งเครียด ยิ่งคิดยิ่งวุ่นวาย ยิ่งคิด ยิ่งบั่นทอนสุขภาพจิต

ประการ ที่ ๓. หาอะไรมาทำอยู่เสมอ การที่เราหาอะไรมาทำอยู่เสมอ คือวิธีการย้ายความสนใจ ความหมกมุ่นครุ่นคิด ซึ่งเป็นต้นทางของความเครียด ให้มาอยู่กับปัจจุบันขณะ ธรรมชาติของจิตนั้น รู้จักทำงานด้วยการคิดทีละเรื่อง เมื่อไหร่ก็ตามที่เราคิดฟุ้งซ่าน นั่นหมายความว่าจิตย่อมมีโอกาสได้สนใจเรื่องอื่น ในทางกลับกันถ้าเราก้มหน้าก้มตาทำอะไรสักอย่าง จิตย่อมจะเกาะอยู่กับสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เรากำลังทำอยู่ในขณะนั้นๆ ฉะนั้น ลองสังเกตให้ดีว่า เมื่อเรากำลังทำงาน เมื่อเรากำลังอ่านหนังสือ เมื่อเรากำลังพิมพ์งาน เรากำลังรดน้ำต้นไม้ หรือว่าเรากำลังทำอะไรก็แล้วแต่ หากว่าเราเติมความตั้งใจลงไปในทุกสิ่งที่ทำ ทุกคำที่พูด จะพบว่า ในขณะนั้น ความทุกข์ไม่เกิดขึ้น ความทุกข์นั้นไม่เคยมีตัวตนมาแต่ต้นอยู่แล้ว ความทุกข์มีตัวตนมาทำร้ายเราอยู่ได้ก็เพราะเราปล่อยให้จิตใจของเราหลอมรวมกันเป็นส่วนหนึ่งเดียวกันกับความทุกข์ ฉะนั้นถ้าเราแยกจิตของเราไว้กับการทำงาน ในขณะนั้นจิตไม่สามารถไปปรุงแต่งความทุกข์ขึ้นมาเล่นงานตัวเองได้ ดังนั้นการหาอะไรทำอยู่เสมอ ไม่ปล่อยให้จิตว่าง จึงเป็นวิธีคลายเครียดที่ได้ผลที่สุด

ประการ สุดที่ ๔. ฝึกสติด้วยการทำตามหลักสติปัฏฐาน 4 เวลาที่คิด เวลาที่พูด เวลาที่ทำ เวลาที่เคลื่อนไหวทุกสิ่งอย่าง ขอให้เติมความรู้สึกตัว หรือเติมความรู้เนื้อรู้ตัวลง ในทุกๆ กิจกรรมที่ทำ เช่น เดิน ก็ให้สังเกตว่าตัวเองกำลังเดิน ให้จิตใจของเรานั้นอยู่ที่เท้าของเรา
กิน ก็ให้จิตใจของเราอยู่กับการกิน ให้ความตั้งใจทั้งหมดของเราอยู่กับการกินอย่างเดียว ดูก็ให้สังเกตว่าเรากำลังดู ให้ใจของเรา ให้สติของเราอยู่กับการดูเพียงอย่างเดียว

หรือกำลังทำงานใดๆก็ตาม ให้จิตของเราอยู่กับการทำงานกับสิ่งนั้นๆ วางจิตวางใจของเราให้อยู่กับทุกสิ่งที่ทำ ทุกคำที่พูด ทุกอิริยาบถที่เคลื่อนไหว เฝ้าดูเงียบๆ สังเกตไปเรื่อยๆ ก็จะค้นพบว่าเมื่อเราเติมสติลงไปในทุกๆ ความเคลื่อนไหวของเรา ความคิดฟุ้งซ่าน ความคิดปรุงแต่งแทบจะไม่มีช่องเกิดขึ้นเลย เมื่อความคิดฟุ้งซ่าน ความคิดปรุงแต่ง ความคิดไม่เป็นระบบไม่มีช่องให้เกิดขึ้นได้ นาทีนั้นความทุกข์ก็ไม่มีตัวตน จงจำไว้เสมอว่า ความทุกข์มีตัวตน เพราะเราเป็นคนคิดฟุ้งซ่าน ความคิดจะไม่มีตัวตนเมื่อเราเลิกเป็นคนที่คิดฟุ้งซ่าน

หากทำตามวิธีตามที่กล่าวมาได้ก็จะสามารถหยุดความคิดฟุ้งซ่านได้ เมื่อหยุดความคิดฟุ้งซ่านได้ ความเครียดก็จะพังทลายลง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น