โรคหนอนทราย (Cockchafers)
หนอนทราย เป็นตัวหนอนของด้วงปีกแข็งชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นศัตรูกัดกินและทำลายรากยาง ทำให้ต้นยางตายเป็นหย่อมๆ พบระบาดที่อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อปี พ.ศ. 2541 เป็นตัวหนอนของแมลงนูหลวงซึ่งเป็นด้วงปีกแข็ง
ลักษณะและวงจรชีวิต
ตัวเมียวางไข่ในสวนยาง อาจเป็นฟองเดี่ยวๆ หรือเป็นกลุ่มก้อน และฟักเป็นตัวหนอนในอีก 2-3สัปดาห์ต่อมา ตัวหนอนมีสีขาว รูปร่างโค้งงอเหมือนตัว C ลำตัวยาว 3-5 เซนติเมตร อาศัยอยู่ในดิน กินอินทรียวัตถุและรากพืเป็นอาหาร เมื่อเจริญเต็มที่แล้วจึงขุดดินเป็นโพรงลึกลงไป และสร้างผนังหนาห่อหุ้มตัวเพื่อเข้าดักแด้ ตัวเต็มวัยเป็นแมลงปีกแข็งขนาดใหญ่ ตัวอ้วน ป้อมและสั้น ลำตัวยาว 3-5เซนติเมตร กลางวันหลบซ่อนในดิน ออกบินหากินช่วงพลบค่ำ
การทำลาย
กัดกินรากยางในระยะต้นเล็กอายุ 6-12 เดือน ทำให้ต้นยางมีอาการใบเหลืองและเหี่ยวแห้งตายมักพบในสวนยางปลูกแทน ตัวหนอนจะอาศัยอยู่ที่รากของตอยางเก่า และออกมากัดกินรากยางอ่อนและพืชร่วม พืชแซมชนิดอื่นๆที่อยู่ในแปลงยาง เช่น สับปะรด หวาย ลองกอง ทุเรียน มังคุด เนียงนกมะฮอกกานี รวมทั้งหญ้าคา ยังไม่พบความเสียหายในต้นยางที่มีอายุมาก แต่พบว่าตอยางเก่าที่อยู่ในสวนยางจะเป็นแหล่งอาศัย และเป็นแหล่งอาหารของแมลงชนิดนี้
การระบาด
ระบาดในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม พบระบาดในพื้นที่ที่เป็นดินร่วนปนทรายในเขตจังหวัดพังงา กระบี่ ตรัง นครศรีธรรมราช และสงขลา
การป้องกันกำจัด
1. ดักจับตัวเต็มวัยช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ด้วยกับดักแสงไฟ หรือตาข่ายในช่วงพลบค่ำจะช่วยลดปริมาณแมลงได้ดี
2. ปลูกพืชล่อ เช่น ตะไคร้เพื่อล่อตัวหนอนให้ออกมาและจับทำลาย
3. ใช้สารเคมีราดรอบโคนต้นยางและตอยางเก่าแล้วกลบดิน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น