วันอังคารที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

แฟรนไชส์ ที่ถูกต้องควรทำอย่างไร

แฟรนไชส์ ที่ถูกต้องควรทำอย่างไร

ความเข้าใจในระบบแฟรนไชส์ที่ผิดคือ การสร้างแฟรนไชส์ที่มองเพียงแค่เม็ดเงินที่เข้ามาหมุนเวียน ไม่ได้มองถึงฐานของระบบธุรกิจจริงๆ ขาดระบบการควบคุมการจัดการที่ดี ขาดแฟรนไชส์ซีที่มีความเข้าใจการดำเนินการในรูปแบบสาขา ซึ่งสาเหตุหลักก็มาจากการที่ไม่เข้าใจระบบแฟรนไชส์ในแนวทางที่ถูกต้อง ไม่ได้วิเคราะห์ถึงความต้องการทางการตลาด ความเป็นไปได้ของการสรรหาทำเลของร้านสาขา หรือการศึกษาผู้บริโภคในแต่ละพื้นที่ แฟรนไชส์ซอร์เร่งกระจายขายแฟรนไชส์ โดยมองแค่ผลของการรับสิทธิค่าธรรมเนียม เป็นเหตุให้แฟรนไชส์ยากที่จะประสบผลสำเร็จและล้มเหลวอย่างต่อเนื่อง
สิ่งที่ยังเข้าใจคลาดเคลื่อนอีกอย่างคือ การสร้างแฟรนไชส์ที่มุ่งเน้นการขายระบบงานแบบลดแลกแจกแถม บางครั้งเป็นระบบที่ไม่ต้องมีค่าแรกเข้า ไม่ต้องมีค่าธรรมเนียมอื่นๆ ซื้อแล้วได้เลย ซึ่งผู้ที่เป็นเจ้าของแฟรนไชส์คิดเพียงว่า จะคิดค่าใช้จ่ายรวมอยู่ในค่าวัตถุดิบ ลักษณะอีกอย่างคือ คิดว่าระบบแฟรนไชส์เป็นการให้ใช้ป้ายที่มีสัญลักษณ์ของตัวเองเท่านั้น ไม่คิดจะบริหารสาขา หรือทำในลักษณะเป็นตัวแทนจำหน่ายเสียมากกว่า ฉะนั้นคงต้องบอกกันไว้ก่อนว่า การทำในลักษณะนี้ก็เหมือนกับสร้างธุรกิจขึ้นมาอีกแบบโดยที่ไม่ใช่ระบบแฟรนไชส์ ไม่มีการวางแผนในการดูแลมาตรฐานอื่นๆ หรือการบริหารแบบอิสระมากกว่าจะเป็นระบบสาขาในรูปแบบธุรกิจแฟรนไชส์

การที่สร้างระบบงานแบบแฟรนไชส์นั้น สภาพการบริหารงานจะเป็นเสมือนหนึ่งเป็นการสร้างสาขาของบริษัทเอง ดังนั้นการบริหารจัดการจะต้องเหมือนเป็นร้านค้าของบริษัทด้วย เพียงแต่การลงทุนเป็นของแฟรนไชส์ซีเท่านั้น ดังนั้นการทำรูปแบบแฟรนไชส์ที่ดีจึงต้องมีค่าใช้จ่ายและทีมงานที่เพียงพอ รวมถึงผลกำไรของบริษัทแม่ในการดูแลธุรกิจทั้งหมด ถ้าจะต้องมีการทำงานดังกล่าวโดยไม่มีการเก็บค่าใช้จ่ายต่างๆ ก็มีความเป็นไปได้น้อยมาก

ดังนั้นธุรกิจแฟรนไชส์จะต้องประกอบด้วยปัจจัยหลัก 3 ประการคือ

- มีผู้ซื้อและผู้ขายแฟรนไชส์ เป็นความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ฝ่าย คือแฟรนไชส์ซอร์และแฟรนไชส์ซี ซึ่งมีการตกลงในการทำธุรกิจร่วมกัน ทั้งมีสัญญาและไม่มีสัญญา แต่ในอนาคตรูปแบบข้อตกลงจะปรับไปสู่ระบบการสร้างสัญญาทั้งหมด เพื่อให้ทั้งระบบแฟรนไชส์ที่มีอยู่ในตลาดถูกต้องตามระบบ เพราะไม่เช่นนั้นแฟรนไชส์ซอร์ที่ไม่ดีจะทำลายระบบด้วย

- เครื่องหมายการค้าหรือบริการ มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี ระบบธุรกิจ และใช้เครื่องหมายการค้าเดียวกัน ระบบการจัดการธุรกิจอาจจะเป็นเครื่องมือหรือสูตรที่คิดค้นขึ้นมาเองในการผลิตสินค้าหรือบริการ โดยมีมาตรฐานที่อยู่ในตราสินค้าแบรนด์เดียวกัน

- มีการจ่ายค่าตอบแทนอย่างน้อย 2 อย่าง คือ ค่าแรกเข้าในการใช้เครื่องหมายการค้า (Franchise Fee) และค่าตอบแทนผลดำเนินการ (Royalty Fee)

การทำธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์สามารถสร้างระบบการจัดจำหน่ายได้ยืนยาว สามารถสร้างองค์กรการบริหารงานที่ซับซ้อนมากขึ้น มีรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่เห็นได้ชัดเจน

ข้อเสียก็คือ การสร้างธุรกิจอย่างนี้ต้องมีการวางแผนอย่างเป็นระบบ ไม่ใช่เพียงเห็นเป็นแฟชั่น หรืออยากทำเท่านั้น เนื่องจากการเข้ามาในระบบแฟรนไชส์ต้องเกี่ยวข้องกับบุคคลหลายฝ่าย ถ้าขาดความตั้งใจที่ดีแล้วจะมีโอกาสเจ็บตัวได้ง่ายและเป็นบาดแผลร้าวลึก



ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น